​"ตรรกะ" ก็แค่ "สมมติ" ต่อจาก "ประสบการณ์"


"ตรรกะ" ก็แค่ "สมมติ" ต่อจาก "ประสบการณ์"

*********************************
จากประสบการณ์ตรงของชีวิตของผมเอง ในด้านการทำงานด้านวิชาการในทุกระดับ ตั้งแต่ทำงานกับชาวบ้าน ระดับประเทศ จนถึงระดับโลก

ผมได้พบว่าปัญหา อุปสรรค และความผิดพลาดที่สำคัญๆ ในการพัฒนาความรู้ของผมเอง ก็คือ การคิดว่าตัวเองว่ามีความรู้ที่จะทำงานได้ ในเรื่องต่างๆ

ทั้งๆที่ ความรู้ที่ว่านั้น เกิดมาจากการใช้ "ตรรกะ" ในการคิด เขียน ทบทวน อ่าน และ ฟังมา เท่านั้นเอง

ความรู้ที่ได้จากการคิดโดย "ตรรกะ" นั้น อาจจะเผยแพร่ในที่สาธารณะสักระยะหนึ่ง พอไม่มีใครโต้แย้ง ก็เริ่มกล้าหาญ ถึงกับนำไปสู่การต่อยอด ทั้งภายนอก (Extrapolation) ศูนย์กลางประเด็นของงานที่กำลังศึกษา หรือ ตีความเข้าข้างใน (Interpolation) โดยไม่มีโอกาสในการตรวจสอบความจริง ทั้งสองด้าน เนื่องด้วยเวลา กรอบงาน และขีดจำกัดด้านงบประมาณ
แต่ยิ่งตีความมาก ความผิดพลาดก็ยิ่งมากเป็นทวีคูณ

ที่ผมทำไป ก็ถือได้ว่าเป็นระบบที่นิยมทำกันมากที่สุด ในวงวิชาการ และทำกันมากในระบบงานที่ปรึกษา โดยการสมมติตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ
(ที่ส่วนใหญ่ จริงๆแล้วไม่เคยทำอะไรจริงๆ สักเท่าไหร่ อย่างมาก อาจจะแค่เคยอ่าน เคยท่องมา หรือเคยเห็นมา ฯลฯ เท่านั้นเอง)

ทำให้การทำงานที่ผ่านมา มีความผิดพลาด หลงทางได้มาก และโดยง่าย

เพราะการตีความ หรือ ขยายความนั้น เป็นหลักการที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาความรู้ ประหยัดทั้ง ชีวิต เวลา ทรัพยากร และงบประมาณ

แต่การตีความตามหลักการ หรือ "ตรรกะ" นั้น จะมีประโยชน์จริงๆ ก็ต่อเมื่อมีประสบการณ์ตรง จริงๆ (มิได้แค่เคยอ่าน เคยไปดู ไปเห็น คิดเอา ฝันเอา หรือมีคนเล่าให้ฟัง ฯลฯ)

แต่ควรเป็นการปฏิบัติด้วยตัวเอง จริงๆ มาสนับสนุน แม้จะไม่ตลอดทาง ก็ควรมีประสบการณ์ตรงๆ จริงๆ เป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ควรมีต้นทาง และปลายทางเป็นตัวตรวจสอบ
หรือ ถ้าจะดีที่สุด ก็ควรเกิดจากมีประสบการณ์ตรงมากๆ ในเรื่องนั้นๆ และเป็นประสบการณ์ตรง ด้วยตัวเองทั้งหมด ที่เกิดด้วยความรู้ และความเข้าใจ "ความจริง"
(เพราะ ประสบการณ์ คือ การเรียนรู้ของจริง ด้วยความเข้าใจความจริง)

ที่ควรมาจากการปฏิบัติจริงๆ มิได้แค่อ่านมา คัดลอกใครมา หรือ คิดเอาเอง ตาม "ตรรกะ" ที่ตัวเองมี ที่จะทำให้เกิดภาวะความเสี่ยงต่อการผิดพลาดในการทำงานได้อย่างมากมาย ต่อเนื่องกันไป

ทั้งหมดนี้มาจากสาระสำคัญ ก็คือ ในอดีต ผมยังมีปัญหา แยกไม่ออกระหว่างการคิดเอาเอง กับการมีประสบการณ์ตรงจริงๆ และมักคิดไปว่า การมีประสบการณ์บางอย่างเพียงเล็กน้อย แล้วมาคิดต่อเอาเอง ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์แล้วโดยแทบไม่มีการตรวจสอบความเป็นจริง

ที่เป็นสาระสำคัญของความผิดพลาดของการทำกิจกรรม โดยใช้ "ตรรกะ" ที่ผ่านมาทั้งหมดของผมครับ

ณ วันนี้ ผมจึงลด ละ เลิก และจำกัด การใช้ "ตรรกะ" ที่ทำให้ชีวิตผมผิดพลาดมามากแล้ว

และจะขออยู่กับความเป็นจริงที่ทำได้จริงๆ ปฏิบัติได้จริงๆมากกว่า แล้วนำเฉพาะเรื่องจริงๆ ที่ทำได้แล้วมาบันทึกให้เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้

ที่ดีกว่ากันเยอะเลยครับ

หมายเลขบันทึก: 595250เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2015 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2015 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...โดยการสมมติตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ
(ที่ส่วนใหญ่ จริงๆแล้วไม่เคยทำอะไรจริงๆ สักเท่าไหร่ อย่างมาก อาจจะแค่เคยอ่าน เคยท่องมา หรือเคยเห็นมา ฯลฯ เท่านั้นเอง).....

ชอบวรรคนี้มากครับ อาจารย์

เรียน อาจารย์

ร่วมภาคภูมิกับ เกียรติยศของอาจารย์ไทย ที่นำหน้า ด้วย ดร. แสวง รวยสูงเนิน การถ่ายทอดของท่านบอกได้ว่า ท่านได้ผ่านการทำวิจัยมาแล้วจริง รู้ผิด รู้ถูก

ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท