งานในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อสหกรณ์


การเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสหกรณ์ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่จะทำให้เงินกู้ที่จ่ายไปมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแล้วก็ต้องรอบคอบตั้งแต่การคัดเลือกผู้กู้ คือตั้งแต่เริ่มรับสมัครคนเข้ามาสมาชิกก็ต้องช่วยกันพินิจพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกให้ได้ตามคุณสมบัติที่ข้อบังคับและระเบียบกำหนดไว้ จะต้องไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวกว่าเป็นคนของคนโน่นคนนี้ หรือลากเข้ามาลวก ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ได้ตามแผนงาน โดยไม่ดูคุณภาพคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก หรือเพื่อขอกู้เงินเพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกและขอกู้เงินนั้นก็ต้องยินยอมพร้อมใจที่จะรับเอาระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์มาปฏิบัติตามกติกาของสหกรณ์โดยสัตย์จริง และเมื่อถึงเวลากู้เงิน การทำคำขอกู้และหนังสือกู้เงินก็ต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการสอบสวนดูแลว่า มีความจำเป็นต้องกู้จริง ๆ และจำนวนเงินกู้ก็ต้องไม่สูงเกินกำลังความสามารถของผู้กู้ที่ส่งชำระคืนได้ตามสัญญา ก่อนทำ เอกสารการค้ำประกัน ใด ๆ ก็ต้องมีการตรวจสอบให้ถูกต้องเรียบร้อยตามที่กำหนดกติกาไว้ ต้องลงไปตรวจสอบสภาพที่ดิน กรณีที่สมาชิกนำที่ดินมาจำนองค้ำประกัน ก็ต้องละเอียดกันหน่อย ในการการตรวจสอบหลักประกันเงินกู้ โดยเฉพาะการประเมินราคาที่ดินก็ต้องทำตามรูปแบบหรือตามหลักวิชาการด้วย และควรทำแผนที่สังเขปที่ตั้งของที่ดินหลักทรัพย์ที่จะนำมาค้ำประกันเงินกู้ เสร็จแล้วก็รวบรวมเอกสารเสนอขออนุมัติเงินกู้ต่ออนุกรรมการหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณี เมื่อผ่านการอนุมัติแล้วก็นัดให้ผู้กู้มารับเงินกู้ พร้อมกันจะมีการประชี้แจงเรื่องสินเชื่อสหกรณ์ ให้ความรู้ธุรกิจสหกรณ์ที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไปหรือทบทวนคำมั่นสัญญาที่จะชำระคืนหรือหากวันหนึ่งวันใด ชำระหนี้ไม่ได้ตามข้อตกลงผู้กู้จะต้องปฏิบัติอย่างไร สหกรณ์จะทำการเตือนหรือให้ความช่วยเหลืออย่างไร ในวันรับเงินกู้นอกจากสมาชิกผู้กู้จะรับเงินจากเจ้าหน้าที่การเงินแล้ว ก็ควรจัดให้มีการตรวจการรับเงินกู้เป็นการสอบทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เจ้าหน้าที่สินเชื่อก็ควรจะออกไปตรวจสอบการใช้เงินกู้ในพื้นที่ ถึงแปลงทำกินและบ้านอยู่อาศัยของผู้กู้ เพื่อดูความก้าวหน้าของการใช้เงินกู้ สอบถามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และจำได้ทราบด้วยว่าผู้กู้ได้นำเงินกู้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ จะได้ทำการบันทึกการติดตามตรวจสอบไว้เป็นหลักฐานและรายงานต่อสหกรณ์ หากมีการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ก็ควรแจ้งให้ผู้กู้ทราบและไปทำการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกู้ให้ถูกต้องต่อไป เมื่อหนี้ใกล้จะถึงกำหนดชำระ ก็จะต้องทำการแจ้งเตือนการชำระหนี้ให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยออกเป็นหนังสือเตือนหนี้ ควรจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจะเป็นการยืนยันได้ดี ถ้าสมาชิกผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อาจจะมีบ้างที่ไม่รักษาสัญญา จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อสหกรณ์จะต้องวางแผนตรวจสอบการแจ้งชำระหนี้ รายงวด รายครบกำหนดสัญญา ครบกำหนดผ่อนเวลา ตรวจสอบการแบ่งชั้นหนี้และออกติดตามเร่งรัดหนี้ลูกหนี้ที่ผิดสัญญาแต่ละราย อาจจะไปปฏิบัติงานโดยลำพัง หรือตั้งทีมเร่งรัดหนี้ขึ้นมาก็ได้ ทุกครั้งที่มีการออกเร่งรัดหนี้เมื่อพบลูกหนี้ก็ให้มีการบันทึกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานรายงานเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้

หรือจะทำทำหนังสือรับสภาพหนี้กรณีที่หนี้ใกล้จะหมดอายุความ หรือ หนังสือรับใช้หนี้ก็กรณีผู้กู้เสียชีวิต หรือหมดอายุความ การเร่งรัดหนี้อีกวิธีหนึ่งที่สหกรณ์นิยมปฏิบัติก็คือการประชุมเร่งรัดหนี้และให้การศึกษาอบรมกลุ่มสมาชิกไปพร้อม ๆ กัน ถ้าหนี้ได้รับการชำระหรือได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบแล้วก็หมดปัญหา แต่ถ้ามีการดื้อแพ่ง ไม่ยอมชำระหนี้ มีการหนีหนี้ หรือเจตนาไม่ชำระ แม้จะใช้เทคนิคในการติดตามจนสุดความสามารถและหมดวิธีแล้ว ลูกหนี้ก็ยังคงดื้อไม่ยอมเจรจา หาคนไปช่วยพูดแล้วก็ไม่ฟัง ขั้นสุดท้ายก็จำเป็นจะต้องพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยเริ่มต้องแต่การจัดจ้างทนายความ เพื่อช่วยดำเนินการขั้นต้นในการยื่นโนตีส การบังคับคดี รวบรวมหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดี

จนถึงที่สุด สำหรับหนี้ที่จะสูญจริง ๆ ก็ต้องพิจารณาเสนอขอตัดหนี้สูญ ให้เป็นไปตามหลักการบัญชี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่พยายามติดตามเรียกชำระหนี้คืน ซึ่งหนี้เหล่านี้ก็ยังคงเป็นรายได้ของสหกรณ์

หมายเลขบันทึก: 594555เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2015 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2015 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท