เก็บตกเปิดตัววิชาพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ : บันเทิงเริงปัญญา และการบูรณาการหลากมิติ


นี่คือระบบและกลไกอันสำคัญที่จะทำให้ผู้นำนิสิตได้มีพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมองค์กรตนเองไปยัง “น้องใหม่” (ผู้เรียน) เป็นอีกช่องทางหนึ่งของพัฒนาศักยภาพของผู้นำนิสิตไปในตัว รวมถึงการเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิต (ผู้เรียน) เกิด “พลังบวก” ที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย

ในทางกระบวนการเรียนการสอน “รายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ” ประจำภาคเรียนที่1/2558 ใช้กระบวนการเปิดตัวในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือในระยะสองสัปดาห์แรกจะยังไม่มีการเรียนการสอนในภาคทฤษฎี หรือบรรยาย แต่จะมุ่งเน้นการจัด “กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์” เพื่อละลายพฤติกรรมเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ หรือสร้างเสริมสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับหมุดหมายของการเรียนรู้ในรายวิชาที่กำลังจะเรียน รวมถึงหมุดหมายของการ “ใช้ชีวิต”




ผู้นำนิสิต : พบ (ว่าที่) ผู้นำนิสิต

กระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ เปิดตัวผ่านกิจกรรมสำคัญๆ ด้วยการมอบหมายทีมกระบวนกร (ผู้ช่วยสอน) ได้เข้าไปพบปะพูดคุย (เน้นการพบปะพูดคุย เพื่อให้เป็นธรรมชาติๆ ไม่ติดยึดกับรูปแบบอันเป็นทางการ) เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศตามแนวคิด “บันเทิงเริงปัญญา” ให้ได้มากที่สุด


การพบปะพูดคุย คือกระบวนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ กติกาการเรียนรู้ ประเด็นการเรียนรู้ หลักเกณฑ์ ตลอดจนการประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลหลักที่นิสิต (ผู้เรียน) ต้องรู้ หรือต้องรับรู้และใส่ใจ –


นอกจากนั้นก็นำกระบวนการที่ผมพยายามเสนอแนะมาหลายภาคการศึกษาเข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้ในครั้งนี้ นั่นก็คือการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์โดย “นิสิต”



ครับ-การจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์โดยนิสิตในที่นี้หมายถึง “ผู้นำนิสิต” จาก “องค์กรนิสิต” ซึ่งครั้งนี้เรียนเชิญน้องนิสิตจาก “ชมรมสานฝันคนสร้างป่า” มาช่วยเป็นวิทยากรจัดกิจกรรม “บันเทิงเริงปัญญา”

โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือระบบและกลไกอันสำคัญที่จะช่วยให้ผู้นำนิสิตได้มีพื้นที่สำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมองค์กรตนเองไปยัง “น้องใหม่” (ผู้เรียน) เป็นอีกช่องทางหนึ่งของพัฒนาศักยภาพของผู้นำนิสิตไปในตัว รวมถึงการเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิต (ผู้เรียน) เกิด “พลังบวก” ที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ไม่ใช่จ่อมจมอยู่แต่กับการเรียนในชั้นเรียน หรือใช้ชีวิตเปล่าเปลืองไปวันๆ โดยไม่คิดคำนึงถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าดังปรัชญา/เอกลักษณ์/อัตลักษณ์ความเป็นนิสิตที่ยึดโยงอยู่กับ “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม”




และนอกจากนั้น ผมยังมองว่าการเปิดพื้นที่ให้ผู้นำนิสิตได้เข้ามาพบปะเช่นนี้ เป็นเสมือนการต่อยอดกิจกรรมจากเวทีการประชมเชียร์และรับน้องใหม่มายังชั้นเรียนอย่างเป็นทางการ เพราะทีมแกนนำที่เข้ามาจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ก็เป็นสต๊าฟเชียร์อยู่แล้ว— จึงเป็นการเชื่อมร้อยการเรียนรู้จากนอกชั้นเรียนเข้าสู่ชั้นเรียนในอีกครรลองหนึ่งด้วยเหมือนกัน

แน่นอนครับ นี่คือกระบวนการง่ายๆ ที่ผมไม่เขินอายที่จะเรียนว่า “ง่าย-งาม” เพราะคนที่นำพากระบวนการหน้าเวที/ชั้นเรียนคือ “ผู้นำนิสิต” (จากองค์กรนิสิต) ส่วนนิสิต (ผู้เรียน) ก็ยังต้องเรียนรู้ความเป็นผู้นำทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าสักวันหนึ่ง จะเร็วจะช้า ใครบางคนในกลุ่มผู้เรียนย่อมเติบโตจากการเป็น “ว่าที่ผู้นำ” สู่การเป็น “ผู้นำ” เหมือนรุ่นพี่ที่เข้ามาพบปะและช่วยจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ได้อยู่ดี




คลิป : เรียนรู้ผ่านสื่อ เรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา

นอกจากกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ข้างต้นแล้ว ทีมกระบวนกรยังคงปักหมุดการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญาผ่าน "สื่อสร้างสรรค์" เหมือนเช่นทุกๆ ภาคเรียน เพื่อฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ผ่านสื่อ (ไอที/ICTสร้างสรรค์) ฝึกการคิดใคร่ครวญ วิเคราะห์ สังเคราะห์และตีความจากสื่อ ทั้งในระบบของส่วนบุคคลและร่วมกันปฏิบัติการแบบเป็นทีม ซึ่งมีทั้งที่เป็นสื่อที่ผลิตภายในมหาวิทยาลัยฯ และจากภายนอก เช่น ....








ผู้บริหารพบนิสิต
: มีปัญหาปรึกษากองกิจฯ

นอกจากการเชิญผู้นำนิสิตมาช่วยรังสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ดังข้างต้นแล้ว การเปิดตัววิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ ยังคงเรียนเชิญผู้บริหารด้านการพัฒนานิสิตมาพบปะพูดคุยกับนิสิตด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต (นายสุนทร เดชชัย) ได้เข้ามาพบปะให้ความรู้เกี่ยวกับ “ภารกิจและพันธกิจ” ของกองกิจการนิสิต หรือฝ่ายพัฒนานิสิต เพื่อให้นิสิตที่เรียนฯ ได้รับรู้และเข้าใจว่าหน่วยงานดังกล่าวนี้เกี่ยวโยงกับ “วิถีชีวิต” ของนิสิตอย่างไรบ้าง

เพราะกองกิจการนิสิต แทบจะเรียกว่าเป็นหน่วยงานเดียวที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับนิสิต 24 ชั่วโมง เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยก็อยู่ที่นี่ ทุนการศึกษาก็อยู่ที่นี่ วินัยนิสิตก็อยู่ที่นี่ แนะแนวการศึกษาก็อยู่ที่นี่กิจกรรมนอกชั้นเรียนก็อยู่ที่นี่ ฯลฯ จนเราเรียกเป็นวาทกรรมคุ้นหูมายาวนานว่า “มีปัญหาปรึกษากองกิจ” ซึ่งผมล้อมาจากวาทกรรมขำๆ ในยุคสมัยหนึ่งที่ว่า “อะไรก็กู” ถึงขั้นสกรีนเสื้อใส่อย่างเด่นชัดว่า “มีปัญหาปรึกษากองกิจ”




(นายสุนทร เดชชัย : ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต)


ครับ-นี่คือกระบวนการเปิดตัวรายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ ที่บูรณาการแนวคิดเข้าสู่การพัฒนานิสิตให้ได้มากที่สุด ไม่ได้มุ่งไปแต่เฉพาะการเรียนรู้ในรายวิชา หรือจุดมุ่งหมายของรายวิชาเท่านั้น หากแต่ยังบูรณาการภาคส่วนที่หมายถึงองค์กรนิสิตและองค์กรอันเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้อย่างหนักแน่นตามแบบฉบับ "จริงจัง และจริงใจ"

นี่คืออีกกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ง่ายๆ ที่เราได้ออกแบบและทดลองใช้ในภาคเรียน 1/2558



ภาพโดย : ทีมกระบวนกรวิชาพัฒนานิสิต-ภาวะผู้นำ และนิสิตจิตอาสา
ชื่อวิทยากร (ผู้นำนิสิต) ชมรมสานฝันคนสร้างป่า : นายแสนชัย วรรณศิริ นางสาวจริยา ดอนนางภา นางสาวสุภัทรา โสภาดี นาย ธีระวัฒน์ บุ้งทอง นาย วัฒนา โพธิ์หล้า นางสาว ปริยา ปะโปตินัง




หมายเลขบันทึก: 593943เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2015 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2015 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ วำหรับน้องนักศึกษานะครับ...ยังชอบคำนี้อยู่เสมอ...และผมเช่นกัน ปัจจุบัน ยังได้ยินคำนี้เสมอ ๆ "การศึกษาต้องรับใช้สังคม" ครับ

บรรยากาศแห่งความรื่นเริงบรรเทิงใจนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท