“ขอทำบัตรประชาชนไทยให้ลูก” คำขอสุดท้ายของผู้ป่วยมะเร็งสัญชาติไทยจากโรงพยาบาลกระบี่ (ตอนที่ 3)


การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-อำเภอเกาะลันตา-พมจ.กระบี่-โรงพยาบาลกระบี่-โครงการสี่หมอ-โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อให้เกิดการเก็บเลือดของคุณพ่อศราวุฒิ แม่นาง และลูกๆ เพื่อดำเนินการส่งตรวจดีเอ็นเอ และให้มีการส่งหนังสือนำในการขออนุเคราะห์ตรวจดีเอ็นเอ ไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

จากการประสานงานไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยผ่าน “โครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย” ซึ่งเป็นโครงการเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระแห่งการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ในการช่วยแก้ไขปัญหาการพิสูจน์และรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่บุคคลไร้สัญชาติ ในจังหวัดหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้

ทำให้เราพอสรุปขั้นตอนและข้อพึ่งระวังในการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดำเนินการส่งตรวจดีเอ็นเอ ได้ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนแรก – อำเภอที่เคสมีชื่ออยู่ ซึ่งในกรณีนี้ คือ อำเภอเกาะลันตา จะต้องเป็นผู้ทำหนังสือนำเพื่อขอความอนุเคราะห์ในการตรวจ DNA มาถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยระบุอย่างชัดเจนว่า “ขอเข้าร่วมโครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย”

**ข้อพึ่งระวังในกรณีนี้ คือ การระบุชื่อของผู้ร้องที่จะขอรับการตรวจ DNA ในหนังสือจากทางอำเภอ ต้องมีความถูกต้องและตรงกับชื่อผู้ร้องจริงๆ (ในกรณีที่ผู้ร้องมีเอกสารพิสูจน์ตน)**

ขั้นตอนที่สอง – เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับหนังสือจากทางอำเภอแล้ว ฝ่ายนิติเวชของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะประสานไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยหรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อประสานวิธีการเก็บสารพันธุ์กรรม ในกรณีที่โรงพยาบาลต้นทางไม่มีเครื่องมือเพียงพอ ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็อาจจะส่ง FTA Card (กระดาษสกัดดีเอ็นเอสำเร็จรูป) มาให้ใช้ในการเก็บตัวอย่างเลือด แต่ในกรณีของโรงพยาบาลกระบี่ ทราบว่ามีเครื่องมือที่เพียงพอ จึงจะมีการเก็บเลือดใส่ tube มาแทน

**ข้อพึ่งระวังในกรณีนี้ คือ (1) หากเป็นไปได้เลือดที่เก็บไม่ควรข้ามคืน หากมีการเก็บรักษาไม่ดี เม็ดเลือดอาจจะไม่สมบูรณ์ (2) ชื่อเจ้าของสารพันธุกรรมทุกคนที่จะติดใน tube เก็บเลือด ต้องตรงกับชื่อ-สกุลที่ทางอำเภอมีหนังสือแจ้งไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ในกรณีแปลว่าจะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลต้นทางและอำเภอ)**

ขั้นตอนที่สาม – เป็นเรื่องของการจัดส่งตัวอย่างเลือดของครอบครัวธานีมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในกรณีนี้ เราตัดสินใจให้มีการจัดส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งจากที่ทางนักสังคมสงเคราะห์จังหวัดกระบี่ได้ศึกษาข้อมูล ปรากฏมีเพียง “สายการบินไทย” เพียงสายการบินเดียวที่มีบริการรับฝากเลือด

วันพรุ่งนี้ (6 สิงหาคม 2558) เวลา 6.00 น. ทางโรงพยาบาลกระบี่จะดำเนินการเจาะเลือดคุณพ่อศราวุธ แม่นาง และลูกๆ และทางพมจ.กระบี่จะจัดส่งเลือดโดยสายการบินไทย (ไฟล์ทเช้าสุด) พร้อมกับหนังสือนำจากทางอำเภอเกาะลันตามาที่กรุงเทพฯ จากนั้นข้าพเจ้าจะเป็นคนไปรับเลือดและเอกสารต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อนำมาส่งให้ถึงมือผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้เร็วที่สุด

ขั้นตอนที่สี่ – ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในการตรวจดีเอ็นเอให้กับครอบครัวธานีต่อไปค่ะ

นางสาว รัศมี ธานี บุตรคนที่ 1

นางสาว พิมพา ธานี บุตรคนที่ 2

นาย อาณัติ ธานี บุตรคนที่ 3

นาย อภิเชษฐ์ ธานี บุตรคนที่ 4

นางสาว เกษณา ธานี บุตรคนที่ 5

เด็กชาย กฤษณะ ธานี บุตรคนที่ 6

หมายเลขบันทึก: 593168เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท