ว่าด้วยประชานิยมในท้องถิ่น


ว่าด้วยประชานิยมในท้องถิ่น

9 กรกฎาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

จากประสบการณ์ประชานิยมในท้องถิ่นที่ผ่านมา นักการเมืองระดับชาติได้สร้างบรรทัดฐาน แนวทางประชานิยมในระดับชาติไว้ ซึ่งได้แผ่กระจายลงไปในการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างหลีกไม่พ้น

ทัศนคติการช่วยเหลือพึ่งพาตนเองของประชาชนในท้องถิ่นต้องปรับปรุง

ในท่ามกลางของ 3 กระแสโลกปัจจุบัน (New World Order) [2] ได้แก่ (1) กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เปรียบเสมือนโลกนี้เป็นโลกแบน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านข่าวสารอินเตอร์เนต (2) กระแสวัฒนธรรมโลกทุนนิยมและบริโภคนิยม (Capitalism & Consumerism) และ (3) กระแสการปกครองท้องถิ่น (Local self Government) ที่ต้องมีการกระจายอำนาจ ประชาธิปไตย ในทศวรรษนี้ทั้งสามกระแสได้หลอมรวมกัน ซึ่งประเทศไทยต้องมีการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตามกระแสการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ดำเนินการอยู่

ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราต้องยอมรับว่า มันมีกระแส “นโยบายประชานิยม” (Populism) แอบแฝงอยู่อย่างเหนียวแน่นมานานหลายปีแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ท้องถิ่นเองได้ลอกเลียนหรือนำแบบอย่างมาจากการเมืองในระดับชาติ ที่มีนโยบายประชานิยมอย่างเหนียวแน่มาตั้งแต่ประมาณปี 2549 เป็นต้นมา นโยบายลดแลกแจกแถมของรัฐบาลที่ผ่านโครงการเงินกองทุนหมู่บ้าน โครงการหมู่บ้าน SML โครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ รถไฟ รถเมล์ฟรี ซึ่งบางโครงการดำเนินการไปแล้ว ก็ไม่สามารถยกเลิกลงได้จนถึงปัจจุบัน สร้างภาระให้แก่รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาที่ต้องนำเงินมาอุดหนุนโครงการฯ ต่อ โดยไม่มีความจำเป็น แทนที่ประชาชนจะช่วยแบ่งเบารับภาระตามความจำเป็นในโครงการต่าง ๆ ให้รัฐบาล หรือรัฐบาลต้องมีความกล้าที่จะปฏิเสธ หรือยกเลิกโครงการดังกล่าวได้แล้ว

แต่ท้องถิ่นกลับสร้างทัศนคติความเคยชินให้แก่ประชาชนจนเกิด พฤติกรรมที่เรียกว่า “อยากได้อะไรก็เรียกร้องเอาได้” พฤติกรรมทำนองนี้เกิดขึ้นโดยทั่วไปทุกหนแห่งในประเทศไทยรวมทั้ง กรุงเทพมหานครเองเช่นกัน ถนนทุกตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยถังขยะสิ่งปฏิกูล ลองมาดูสักแนวคิดว่าประชาชนคนไทยคิดอย่างไรกับการจัดการขยะสิ่งปฏิกูล มีโจทย์สมมติว่า “ชุมชนจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสะอาด” คำตอบของคนในท้องถิ่นรวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย จะมีคำตอบที่เหมือนกันตามแนวคิดของตัวเองว่า “ให้เพิ่มจำนวนถังขยะให้มากขึ้น” เพื่อให้ประชาชนมีที่ทิ้งได้ง่าย ขยะจะได้ลงถัง ไม่สกปรก กลาดเกลื่อน คำตอบนี้ถือว่าถูกส่วนหนึ่งแต่กลับกลายเป็นว่า การเพิ่มจำนวนถังขยะที่มากขึ้นอาจเป็นการสร้างภาระปัญหาแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรักษาความสะอาด และเก็บกวาดขยะ หรือเกิดพฤติกรรมที่ไม่สมควรอื่น ๆ ของประชาชนตามมา กล่าวคือ ในแนวคิดอีกมุมหนึ่งการลดจำนวนถังขยะให้มีเพียงเท่าที่จำเป็นในชุมชนท้องถิ่น และการพยายามปลูกฝังรณรงค์ให้ประชาชนได้ลดละเลิก การใช้ การสร้างขยะโดยให้เอาขยะหรือถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (3 R's - Reduce Reuse Recycle) หรือ เก็บขยะที่เราสร้างไว้ กลับไปทิ้งที่บ้าน หรือ มีจุดรวมขยะที่เดียว ไม่จำเป็นเพิ่มถังขยะให้วางเต็มไปหมด ทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่ดีไม่สวยงามของชุมชน

ในหลายกรณี ประชาชนเองก็ไม่พยายามช่วยเหลือตัวเอง หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดแก่ตัวเอง เห็นได้จาก เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ ข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนจะพบว่า ในช่วงเกิดเหตุวิกฤติไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที แทนที่ประชาชนทุกคนต่างจะพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ และช่วยเหลือผู้อื่นที่แย่กว่าตน กลับปรากฏว่า ประชาชนจำนวนมากต่างเฝ้ารอรับความช่วยเหลือและโกรธโวยวายต่อหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เข้าไปช่วยเหลือไม่ทันใจ และไม่ทั่วถึง สาเหตุที่เกิดแนวคิดอย่างนี้ เนื่องจากประชาชนมีความเคยชินจากแนวคิดที่ว่า “รัฐต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน” เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติที่ใหญ่และรุนแรงขึ้นมา รัฐก็ไม่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดความช่วยเหลือจากประชาชน และมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ฉะนั้น จากกรณีศึกษาตัวอย่างดังกล่าว ท้องถิ่นและรัฐบาลต้องปรับทัศนคติในการทำงานเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน มีจิตอันเป็นสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่นที่แย่กว่าและช่วยเหลือตัวเองได้ สังคมจึงจะเกิดความเข้มแข็งขึ้น

มีเรื่องโจ๊กเล่าอยู่เรื่องหนึ่งในการไปตรวจเยี่ยมราษฎรของนักการเมืองท่านหนึ่ง ตามธรรมดาที่ต้องสอบถามความต้องการของชาวบ้านว่าอยากได้สิ่งใด ชาวบ้านก็อยากได้วัวเพื่อเลี้ยงไว้ขาย เพื่อสร้างรายได้ ต่อมาจึงเกิด “โครงการธนาคารโคกระบือ” ขึ้นแจกจ่ายให้เกษตรกร ในปีต่อมา นักการเมืองท่านเดิมก็มาตรวจเยี่ยมประชาชนอีกครั้ง ก็ได้ถามชาวบ้านถึงปัญหาการเลี้ยงวัวว่า มีปัญหาอื่นอยากให้ช่วยอะไรอีกบ้าง ชาวบ้านก็ตอบว่า รัฐบาลแจกวัวมาให้ก็ดีแล้ว แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ รัฐบาลน่าแจกเชือกให้ด้วย เพื่อจะได้ใช้ลากจูงวัว เห็นไหมครับ แนวคิดอย่างนี้มันไม่สร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชนเลย เป็นแนวคิดที่คอยแต่จะรับความช่วยเหลืออย่างเดียว

ตัวย่างกรณีศึกษานโยบายประชานิยมในท้องถิ่น

ด้วยข้อเท็จจริงปรากฏว่า อปท. มีการบริหารงานแบบประชานิยม เพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยเฉพาะการหาเสียง โดยใช้งบประมาณ หรือใช้ประโยชน์จากหน่วยงานในการดำเนินการ เช่น การทัศนศึกษาดูงาน การแจกสิ่งของ เงินรางวัล การจัดงานรื่นเริง สังสรรค์ ตอบแทน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งมักเป็นเหตุแห่งการร้องเรียนหน่วยตรวจสอบ เช่น สตง. ปปช. กกต. ว่า มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเอาผิดฝ่ายบริหาร และฝ่ายประจำ อยู่เนือง ๆ

ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบเห็นในบรรดา อปท. เล็กใหญ่ทั้งหลาย คงไม่มีชาว อปท. ใดกล้าปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะ “เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่” โดยเฉพาะในมุมมองของประชาชนโดยทั่วไป และมุมมองของ “ข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้างฯ” ที่เข้าสู่ระบบงานท้องถิ่นด้วยความรู้ความสามารถตาม “ระบบคุณธรรม” (Merit System)

โครงการประชานิยมในท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัด คือ “โครงการประเภททัศนศึกษาดูงานของประชาชนและชุมชน” การพาราษฎร ไปศึกษาดูงานต่างท้องที่ ต่างจังหวัด ไปกันทั้งตำบล ทั้งหมู่บ้าน ทั้งชุมชน บางครั้งปีหนึ่งไปกันหลายชุดหลายคณะ ได้แก่ คนแก่ผู้สูงอายุพาไปไหว้พระ ชาวบ้านทางภาคเหนืออีสานก็ไปดูงานทะเลกัน ชาวบ้านทางภาคใต้ก็จะดูงานที่ภาคเหนืออีสาน เช่น ไปจังหวัดเชียงใหม่ไปเที่ยวดูงานพืชสวนโลก หากพบคณะรถบัสรถทัวร์ที่มีชาวบ้านโดยสารวิ่งตามกันไปเป็นสิบๆ คัน ให้ทายได้เลยว่า เป็นคณะศึกษาดูงานของ อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ทั้งนั้น การจัดกิจกรรมประเภทนี้ในปีหนึ่ง ๆ สูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล มีข้อเท็จจริงจากการทัศนศึกษาดูงานว่า กำหนดการงานดูในจังหวัดอุดรธานี หรือจังหวัดนครพนม มุกดาหาร แต่พาชาวบ้านไปเที่ยวฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) ถ้าหากไปทัศนศึกษาจังหวัดเชียงราย ก็จะพาชาวบ้านไปเที่ยวฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่เห็นชัด ก็คือ “โครงการจัดกิจกรรมงานประจำปี สงกรานต์ ลอยกระทง ชักพระฯ” ท้องถิ่นก็จะจัดหาวงดนตรี ศิลปินที่ประชาชนชื่นชอบ สนนราคาแพงก็ช่างมัน ขอให้ชาวบ้านได้ดู หากนายก อปท. คนใดสามารถนำเอาศิลปินชื่อดังมาเปิดการแสดงในพื้นที่ได้ ชาวบ้านก็จะชื่นชอบยอมรับ และมักจะมีโอกาสค่อนข้างสูงจะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารท้องถิ่นอีกครั้ง ฉะนั้น นายก อปท. จึงมีความพยายามทำลายระบบคุณธรรมของข้าราชการลง ได้แก่ การใช้ระบบการฝากเข้าทำงานในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวนายก อปท. พอเลือกตั้งและแต่งตั้งนายก อปท. เสร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ การสอบบุคคลเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจ้างทั่วไป พนักงานจ้างตามภารกิจ หรือพนักงานคนงานจ้างเหมาฯ เพื่อเป็นการตอบแทนบรรดาหัวคะแนน หรือฐานเสียงของตนเองที่ทำให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ให้ลูกหลานหัวคะแนนได้มีงานทำ และเป็นหลักประกันในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าจะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารท้องถิ่นอีก ฉะนั้น บุคลากรของท้องถิ่นจึงมีคนล้นงานในทุก อปท. และหากสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น ก็คือ ความพยายามเอาพนักงานลูกจ้างของฝ่ายตรงข้ามที่มิได้เลือกตัวเองออก โดยการประเมินผลงานฯ หรือ การพิจารณาต่อสัญญาจ้างฯ ที่ไม่เป็นธรรม เมื่อปรากฏว่ามีเด็กฝากหรือเด็กเส้นในสำนักงานเยอะ ก็จะพบว่า การใช้งานในภารกิจหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บังคับบัญชาสั่งใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะ หัวหน้าก็คือข้าราชการจะสั่งใช้งานเด็กของนักการเมืองไม่ได้เลย เมื่อปรากฏว่า คนขับรถก็เด็กนายกฯ เจ้าหน้าที่จัดเก็บก็เด็กรองนายกฯ สรุปว่า ในสำนักงานฯ มีลูกจ้างกิตติมศักดิ์ ใช้งานไม่ได้ ฉะนั้น คนทำงานก็คือข้าราชการที่ไม่มีพนักงานจ้างเป็นผู้ช่วยเหลือ เพราะข้าราชการส่วนใหญ่ไม่มีญาติพี่น้องเป็นหัวคะแนน มีการเกิดระบบอุปถัมภ์อย่างแพร่หลายในสำนักงาน อปท. ซึ่งมีผลต่อการอนุมัติ อนุญาต สั่งการในการบริหารราชการท้องถิ่นในหลาย ๆ กรณี นี่ก็เป็นผลพวงที่มาจาก “นโยบายประชานิยมในท้องถิ่น” เพื่อหวังชนะการเลือกตั้งเป็นนายก อปท. ได้หลาย ๆ สมัยนั่นเอง

“ราชการบริหารส่วนภูมิภาค” กับ “ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น” เป็นคู่ปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน

ตามหลักทฤษฎี “ราชการบริหารส่วนภูมิภาค” กับ “ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น” จะเป็นคู่ปฏิปักษ์กัน เพราะ ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจะเน้นเรื่องความมั่นคง และความเป็นเอกภาพ (Security & Unity) ไม่สามารถตอบสนองต่อราชการบริหารส่วนท้องถิ่นได้ ที่ท้องถิ่นจะมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนเอง (ของท้องถิ่น) เป็นที่ตั้งเท่านั้น

ในกรอบความคิดของบรรดานักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงคนในท้องถิ่นด้วย ก็คือ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ของคนในท้องถิ่น ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองถือว่าสำคัญที่สุด หากผลประโยชน์ส่วนท้องถิ่นขัดแย้งกับผลประโยชน์ชาติ นักการเมืองและคนท้องถิ่นก็จะไม่ยินยอม และคนในท้องถิ่นก็จะออกมาคัดค้านทันที อาทิเช่น โครงการพื้นที่รับน้ำผันน้ำลงทะเล จังหวัดสมุทรสงคราม โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภาคใต้ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การไม่ยอมเปิดประตูน้ำให้เข้าจังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วงมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ฯลฯ และอีกหลาย ๆ โครงการ ที่ได้รับการคัดค้านประท้วงจากคนในท้องถิ่น

สรุปได้ง่าย ๆ ว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” หากมีการกระทบกับผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่น เมื่อใดย่อมจะได้การคัดค้านอย่างแน่นอน แม้จะใช้วิถีใดก็ตาม มันเป็นลักษณะธรรมชาติของคนท้องถิ่น ที่จะยึดผลประโยชน์ตนเองเหนือผลประโยชน์ของผู้อื่น หรือ จะบอกว่าผลประโยชน์ท้องถิ่นอยู่เหนือผลประโยชน์ชาติ

ข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อมิให้มีการนำนโยบายประชานิยมมาใช้ในท้องถิ่นอย่างไร้ขอบเขตโดยการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น”

สปช. มีข้อเสนอให้ “จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” [3] ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสมควรต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” (National Strategy) [4] และ ยังมองว่าต้องมี “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น” ด้วย เพราะ นโยบาย “ประชานิยม” (Populism) [5] ที่ผ่านมาของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ล่มจมหมด ทำให้ประเทศชาติเสียหายทางเศรษฐกิจมาก ก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำมากมายขึ้นในสังคม ซ้ำยังเกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี แบ่งพวกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะผลประโยชน์(ส่วนตัว)ไม่ลงตัว ตัวอย่างในยุโรปเห็นมาแล้วคือ ประเทศ “กรีซ” ที่มีอารยธรรม “กรีก” (Greek) อันยิ่งใหญ่ เมื่อสามพันปีก่อน ตอนนี้กำลังเป็น “คนป่วย” ของยุโรปที่นานาชาติ ประชาคมยุโรปต้องช่วยเหลือ ประคับประคอง [6]

ผู้เขียนเห็นว่า ควรนำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาใช้ในท้องถิ่น และ ให้ท้องถิ่นกำหนดยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นเพื่อเป็นกรอบแนวทาง ทิศทางในการบริหารท้องถิ่นในระยะยาวไว้ด้วย เพราะนายก อปท. มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี ไม่สามารถดำเนินการตามโครงการในระยะยาวได้ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่มีความต่อเนื่องโดยเฉพาะหาก นายก อปท. มีเสียงข้างน้อยในสภา อปท. ก็จะยิ่งมีความลำบากในการบริหารงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ระเบียบกฎหมายต่าง ๆ ของ อปท. ในหลาย ๆ ฉบับ มิได้มีการแก้ไข หรืออนุวัตรให้สอดคล้องกับหลักการ “ผู้บริหารแบบมีอำนาจมาก” (Strong Executive) [7] โดยฝ่ายบริหาร อปท. มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และมิได้มาจากสภา อปท. ซึ่งได้นำมาเป็นหลักการบริหารงานของฝ่ายบริหาร อปท. มาตั้งแต่ช่วงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

นโยบาย “ประชานิยม” ในระดับชาติของรัฐบาลในแต่ละยุคที่ผ่านมา ได้พยายามปลูกฝังแนวคิด “ประชานิยม” ให้แก่ท้องถิ่นด้วย แบบว่า “ไม่ลืมหูลืมตา” ก็ว่าได้ ทำให้โครงการของท้องถิ่น “ไม่ต่อเนื่อง” เนื่องจากคณะผู้บริหารท้องถิ่นเข้ามาบริหารเพียงครั้งละ 4 ปี เท่านั้น หาก “สอบตก” หรือ “มีเสียงข้างน้อยในสภาฯ” ก็ทำให้ไม่สามารถสานต่อโครงในระยะยาวด้วย และอีกอย่าง “แผนพัฒนาท้องถิ่น” ก็เป็นแผนปีที่มีระยะสั้นเพียงสามปีเท่านั้น เป็นแผนที่ยืดหยุ่นได้ เป็นแผนพัฒนาแบบหมุนเวียน (Rolling Plan) ที่ต้องมีการทบทวนและจัดทำทุกปี กล่าวคือเป็น “แผนหมุนเวียนสับเปลี่ยนได้” แม้จะมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เป็นแผนพัฒนาระยะยาว (5 ปี) อยู่ด้วยก็ตาม [8]

ซึ่งในทางปฏิบัติแผนต่าง ๆ ของท้องถิ่นไม่มีผลบังคับต่อเนื่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นได้นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาอย่างเคร่งครัด ทำให้ท้องถิ่นมีปัญหาในการดำเนินการตามโครงการในระยะยาว เหมือนดังเช่นในระดับชาติต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ”

ไม่ว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” หรือ “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น” ก็มิได้มีบริบทหรือเนื้อหา (Context clue) ที่แตกต่างกันเลย แต่มีลักษณะที่เหมือนกันทุกประการ ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเสนอให้ท้องถิ่น ได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น” ซึ่งเป็นแผนการณ์ในระยะยาว เพื่อให้ผู้บริหาร อปท. ที่เข้ามาบริหารได้ยึดถือเป็นแนวนโยบายในการบริหารท้องถิ่นด้วย เพราะหาก ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นขาดความต่อเนื่อง หรือไม่มีการขับเคลื่อนไปตามทิศทางที่ “ประชาชนชาวท้องถิ่น” ต้องการก็อย่าหวังเลยว่าจะพัฒนาท้องถิ่นให้จัดการบริการสาธารณะ (Public Service) [9] ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้า พัฒนาถาวร หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) [10] ของท้องถิ่นได้

เนื่องจาก อปท. เป็นองค์กรทางการเมือง ที่มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานแยกส่วนชัดเจนสองฝ่ายคือ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ ในมุมมองนี้เป็นการมองจากมุมมองของบุคคลทั่ว ๆ ไป คงมิใช่เพียงมุมมองของข้าราชการฝ่ายประจำ เพราะ “เป็นการมองสะท้อนจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่” ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนนี้ คงสะท้อนข้อเท็จจริงบางอย่างที่อีกฝ่ายต้องน้อมรับฟัง และยินดีรับปรึกษาหารือ และปรับแนวทางเพื่อแก้ไขในสิ่งที่บกพร่องเป็นอุปสรรคต่อท้องถิ่นต่อไป.



[1] สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22720 หน้า 10 <การเมืองท้องถิ่น>

[2] อิศราวดี ชำนาญกิจ. “New World Order การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ผู้นำควรรู้,” 2552,http://leadership.exteen.com/20090420/new-world-order , นายจอร์จ บุช(ผู้พ่อ) ได้ประกาศการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 1990 (พ.ศ.2533)ใน 5 เรื่อง (issues) ที่สำคัญ คือ (1) เรื่องความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) (2) เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) (3) เรื่องสภาพแวดล้อม (Environment) (4) เรื่องการค้าเสรี (Free Trade) และ (5) เรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (Copyright)

[3] “ครม.เห็นชอบจัดยุทธศาสตร์ชาติระยะ20ปี”, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 30 มิถุนายน 2558, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/654283 & ไฟเขียวตั้ง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขรก. ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน ทหาร ตบเท้านั่งคณะกรรมการ, 1 กรกฎาคม 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435715613 & นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์, “การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี”, 30 มิถุนายน 2558, คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ

[4] “บทเรียนที่ ๑ ยุทธศาสตร์ชาติ”, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, http://www.thaindc.org/images/column_1318985720/Less0n%201%20strategy%20Over%20All.pdf

, ยุทธศาสตร์ชาติ (NationalStrategy) คือ กระบวนการที่มีการจัด และใช้เครื่องมือกำลังอำนาจแห่งชาติทุกด้าน เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ของชาติ

[5] ดู “ลัทธิอิงสามัญชน”(populism), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ลัทธิอิงสามัญชน & วินัย ผลเจริญ , ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีตอเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย, สวนหนึ่งของรายงานประจําภาคในวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย ภาค 1/2546 นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร เสนอตอ อ.ดร.เสกสรรค ประเสริฐกุล, http://www.fringer.org/wp-content/writings/populist.pdf & ปีดิเทพ อยู่ยืนยง, ประชานิยม(populist)และประชาสังคม(Civil Society), 8 ตุลาคม 2550, http://writer.dek-d.com/nutnakub/story/view.php?id=343392... ประชานิยม(populist) หรืออาจตีความหมายได้อย่างง่ายๆว่าเป็นการบริหารงานโดยเน้นถึงความนิยมของ ประชาชนต่อนโยบายเป็นสำคัญ กล่าวอย่างชาวบ้านก็คือ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนนั้นเอง ... & รัฐศาสตร์ มสธ., “นโยบายประชานิยม ข้อดี เเละข้อเสีย”, 25 สิงหาคม 2554, https://touch.facebook.com/notes/รัฐศาสตร์-มสธ/นโยบายประชานิยม-ข้อดี-เเละข้อเสีย/223564471024640/ ... นโยบายประชานิยม คือ นโยบายที่สนับสนุนประชาชนคนยากจนเป็นหลัก เพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลหรือเป้า หมายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคมารองรับและไม่จำเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดของประเทศใน ขณะนั้นนโยบายประชานนิยมเป็นทั้งภาพหลอนทางการคลังของรัฐบาล & “Thai Populist Policies : นโยบายประชานิยมของไทย ที่ ได้รับการกล่าวขาน”, September 15, 2011, http://2bangkok.com/thai-populist-policies.html & รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพอพพิวลิวสม์ (Populism) ในละตินอเมริกา : กรณีศึกษาประธานาธิบดี Hugo Chávez แห่งประเทศเวเนซูเอลา, รายงานชิ้นวิชา HS 602 ปีการศึกษา 1/2556, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, https://www.academia.edu /6992422/_รายงานชิ_นที_2_วิชา_HS_602_ปีการศึกษา_1_2556_ประวัติศาสตร_นิ พนธ_ของประชานิยม_Populism_ในละตินอเมริกา_กรณีศึกษา ประธานาธิบดี_Hugo_Chávez_แห_งประเทศเวเนซุเอลา

[6] สุทธิชัย หยุ่น, “กรีซ : วิกฤติหนี้สินล้นพ้นตัว มาจากประชานิยม+คอร์รัปชัน”, 4 กรกฎาคม 2558, http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/634959

[7] “บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546’, เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย, 17 ธันวาคม 2547, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=171&Page=3 , ... ผมจึงตั้งใจใช้คำว่า strong prime minister แทน strong executive เพื่อที่จะตัดความหมายและบทบาทของ strong prime minister นี้ไม่ให้รวมถึง king ซึ่งเป็นประมุขของรัฐและเป็นประมุขฝ่ายบริหารด้วย…

[8] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 115 ง วันที่ 17 ตุลาคม 2548 หน้า 46-57,

http://www.dla.go.th/work/planlocal/กฏหมาย ระเบียบ/ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาของ อปท. พ.ศ. 2548.pdf & “บทที่ 2 การวางแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”, http://www.dla.go.th/work/e_book/eb3/eb140751/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%202.doc

[9] คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, “บริการสาธารณะ” “Public Service”, http://board.pol.cmu.ac.th/download/file.php?id=748

[10] “การพัฒนาที่ยังยืน” (Sustainable Development), 5 สิงหาคม 2553,http://www.thaigoodview.com/node/70957

, การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง “การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

หมายเลขบันทึก: 592160เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2015 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2015 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แนวคิดสำนึกพลเมืองแก้ได้มั้ยครับท่าน

สำนึกพลเมือง ต้องปลูกฝังมาแต่เด็ก ฝึงลึกในจิตใจและวิถีชีวิต เป็นเรื่องของ "สำนึกรับผิดชอบ" ของคน... ครับ

สำนึกรับผิดชอบ (consciousness), วัตถุนิยม (materialism), บริโภคนิยม (consumerism), การขัดเกลาทางสังคม (socialization)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท