จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๐: Add life to their days, not just days to their lives


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๐: Add life to their days, not just days to their lives

ในหนังสือ Introducing Palliative Care ของ Robert Twycross ในบทนำมีประโยคหนึ่งที่โดนใจมากคือ
"Add life to their days, not days to their lives." เราพึงเติมชีวิตเข้าไปกับเวลาที่เหลืออยู่ มากกว่าเพียงเพิ่มเวลาลงไปกับชีวิต

ในมิติของการดูแลสุขภาพ หรือดูแลผู้คนจะยิ่งชัดเจนกว่าพูดลอยๆ หรือในมิติอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่าเดี๋ยวนี้ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นไปไกล มาก เรามีความรู้ที่ลึกซึ้งในเรื่องของชีววิทยาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของ วิทยาศาสตร์การแพทย์ (medical sciences) เพิ่มความเข้าใจในการทำงาน และทำให้มีนวตกรรมคิดค้นเครื่องมือเครื่องไม้ที่เลียนแบบการทำงานของอวัยวะ ต่างๆได้อย่างใกล้เคียงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สมัยหนึ่งที่เมื่อร่างกายมีอวัยวะใด อวัยวะหนึ่งล้มเหลว ก็จะถึงแก่เสียชีวิตนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะเราสามารถจะใช้เครื่องมือเครื่องไม้ยุคใหม่ ประคับประคองชีวิตต่อไปได้ ต้องระดับอวัยวะล้มเหลวพร้อมๆกันหลายๆระบบ ถึงจะคร่าชีวิตคนในยุคปัจจุบันได้

นั่นคือ "ชีวิต" ในมิติชีววิทยา ที่หัวใจเต้น ปอดแลกเปลี่ยนก๊าซ สมองยังคงสั่งระบบทำงานอัตโนมัติต่างๆให้ทำงานอยู่

ไม่ได้หมายถึง "ชีวิตชีวา"

มนุษย์เป็นสัตว์ชั้นสูง ที่มีสมองส่วนหน้า (Fore-brain) พัฒนาอย่างมากมาย สมองส่วนนี้ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ทำอะไรที่แตกต่างไปจากสัตว์เผ่าพันธุ์ระ ดับอื่นๆ คือเราไม่ได้เพียงอยู่เพื่อการอยู่รอด (สมองชั้นต้น) หรืออยู่เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นฝูง เป็นกลุ่ม (สมองชั้นกลาง) แต่เราสามารถจินตนาการ ใช้เหตุใช้ผลแก้ปัญหา และ "อยู่อย่างมีความหมาย (meaningful life)" ได้

หน้าที่ของสมองอันมหัศจรรย์นี้เอง ที่ทำให้เรายังไม่สามารถผลิตเครื่องมืออะไรมาทดแทนสมองได้ และเมื่อสมองตาย สมองล้มเหลว เราอาจจะสามารถใช้เครื่องมือหล่อเลี้ยงหัวใจ ปอด ลำไส้ ไต ไว้ได้ก็จริง แต่โอกาสที่ร่างกายนั้นจะมีชีวิต ชีวา หรือชีวิตที่มีความหมายก็หมดไป gap ของการวิวัฒนาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรงนี้ ทำให้เกิดภาวะที่ "ยังมีชีวิต แต่หมดชีวา" ขึ้นมา คือในทางทฤษฎี (และในทางปฏิบัติหลายๆกรณี) เราสามารถจะเลี้ยงร่างกาย โดยประคองหัวใจและการหายใจไว้ได้ แต่คนไข้จะไม่ฟื้น และในที่สุดก็จะไม่สามารถรักษาประคองต่อไปได้ เมื่อพื้นฐานสำคัญของหน้าที่อวัยวะต่างๆไม่อาจจะทนต่อการเฆี่ยนด้วยยา เฆี่ยนด้วยเครื่องมือของเราอีกต่อไป ช่วงระยะเวลาในการต่อสู้ในระยะนี้ นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานไม่เพียงเฉพาะคนไข้ แต่กับคนทุกคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง

Concept ของ Add life to their days, not days to their lives ก็คือ แทนที่เราจะไปเน้นที่กลไก ฟันเฟืองของการรักษาชีวิต โจทย์ได้เปลี่ยนเป็น "ถ้าเราไม่สามารถจะรักษาชีวิตได้แล้ว เราหันมาประคองให้เวลาที่เหลืออยู่ เป็นเวลาอันมีค่ามากที่สุด มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มีเวลาที่จะรัก ที่จะขออภัย ให้อภัย หรือชื่นชมชีวิตให้มากที่สุดได้หรือไม่?"

การเปลี่ยน paradigm ในการรักษาพยาบาลจาก add days to their lives มาเป็น add life to their days จะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความหมายของ "ชีวิตที่มีความหมาย" ให้ได้เสียก่อน

@ คนๆนี้นอกจากทุกข์จากอะไรแล้ว เขามีความสุขจากอะไร?
@ คนๆนี้นอกจากกำลังจะบกพร่องลงไปเรื่อยๆ เขามีต้นทุนอะไรบ้าง?
@ มีคนที่รักเขา? มีคนที่เขารัก? มีคนที่ห่วงใยเขา? มีคนที่เขาห่วงใย?
@ มีความอาวรณ์ และอาทรกับเรื่องอะไร? มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในเรื่องอะไร
@ ถ้าเขามีแรงจะเล่าชีวิต เขาอยากจะเล่าเรื่องอะไร? อยากจะให้ใคร?มาฟังเรื่องที่เขาเล่าบ้าง?
@ ฯลฯ อื่นๆอีกมากมายสำหรับ "ชีวิตที่มีความหมาย"

ข้อสำคัญคือ เราจะได้พิจารณาว่า "ถ้าโจทย์เปลี่ยน การดูแลรักษาของเราจะเปลี่ยนไหม? หรือยังเหมือนเดิม? ถ้าเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปเป็นแบบใด ต้องแสวงหาความรู้ด้านไหน ต้องเชิญใครเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือร่วมดูแล?"

ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้มาเสริมเป็นโจทย์ เป็นเป้าหมายการรักษา บางทีเราจะพบว่า การรักษายื้อชีวิตเพื่อ add days to their lives นั้น อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการที่เราจะ add life to their days ก็ได้ เช่น ถ้าให้ยากล่อมประสาทมากเกินไปจนคนไข้หลับตลอดเวลา ก็จะอดมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนที่มาเยี่ยม ถ้าเราให้เคมีบำบัดที่ผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าการตอบสนองไม่ดี แต่ปรากฏว่าแทนที่คนไข้จะได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน ท่ามกลางคนที่รักและห่วงใย ก็ต้องมานอนที่โรงพยาบาล ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่พยายามทำอะไรหลายๆอย่างอันไม่สบายตัวนัก อาจจะเจ็บปวด แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในเรื่องการบรรเทาทุกข์

"สมดุล" อยู่ที่ไหน? แพทย์ พยาบาล และประชาชน ควรจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วยกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเขียนเป้าหมายและแผนการรักษาโดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้หรือไม่?

ฝากด้วยครับ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๓ นาที
วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 591951เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2015 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2015 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท