"ทิพาวดี" ถอดรหัส นโยบาย 4 ป. ปฏิรูปวัฒนธรรมราชการเชื่อมภาคประชาชน


"เราไม่ใช่รัฐบาลปกติ
"เราไม่ใช่รัฐบาลปกติ ข้อดีประการหนึ่ง คือ ไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องประชุมพรรค และด้วยความเป็นรัฐบาลขิงแก่ เวลาที่เหลืออยู่จึงน้อยกว่าเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์จริง ๆ  ต่อให้คนไม่เข้าใจก็กล้าทำ เพราะมั่นใจว่าคนไม่ได้ตัดสินเราเพียงเพราะการทำงานแค่ 1 ปีนี้ แต่เขารู้จักเราตั้งแต่ในอดีต อาจจะฉงนบ้างทำไมคนดี ๆ มาทำอะไรเพี้ยน ๆ เราจะกล้าทำ เพราะเราแก่แล้ว ยอมเสียสละได้ นี่คือสิ่งที่คุยกัน"  นี่คือหลักคิดและความมุ่งมั่นของ "คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ก้าวเข้ามารับอาสาสะสางปัญหาบ้านเมืองในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เที่ยงวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับภารกิจที่ต้องทำภายใน 1 ปี ว่า งานที่ต้องรับผิดชอบจะมีสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี จะเน้นในเรื่องการตรวจราชการ แล้วจะมีเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบกลาง ๆ และประเด็น    ที่กำลังเป็นเผือกร้อนอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องสัญญาไอทีวี และอีกเรื่องหนึ่งที่ดูแลอยู่ คือ สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยในเรื่องของการปฏิรูปจะเน้นความชัดเจนเรื่องกระบวนการ การปฏิบัติงานซึ่งมีโครงสร้างที่ชัดเจนอยู่แล้วระดับหนึ่ง และจะยังไม่มีการปรับรื้อกระทรวง แต่จะเน้นความชัดเจนด้านภารกิจของกรมต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวง เพราะอุปสรรคจริง ๆ ในเรื่องการปฏิรูประบบราชการที่ต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างครั้งที่แล้ว คือ การประสานราชการ ระหว่างกรมด้วยกันเองที่มีการแยกงานออกไปจากกัน มีการแยกเรื่องงานอุทยาน เรื่องป่าไม้ เรื่องน้ำ พอเอาเข้าจริงแยกออกไปแล้วก็แยกออกไปเลย แต่ไม่ได้มาวางกลไกเชื่อมประสานการทำงานระหว่างกัน คนจึงมองว่าการปฏิรูปครั้งที่แล้วไม่ดี ทำให้มีปัญหามากกว่าเดิม แทนที่จะเป็นวันสต็อปเซอร์วิส จะขออนุญาตทำอะไรครั้งหนึ่งก็ต้องวิ่งไปหาหลายกระทรวง 4 ปีที่ผ่านมา ก.พ.ก็ได้หวนกลับไปดูแลตัวเองเพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหารถึง 2 คน เรียกว่าผลัดแผ่นดินครั้งหนึ่งก็รื้อกันครั้งหนึ่ง โอกาสที่จะไปปฏิรูปต่อ การไปดูแลงานคนอื่นจึงขาดตอนไปบ้าง ประกอบกับ ก.พ.ร. เอง  ก็เป็นหน่วยงานน้องใหม่ก็ต้องจัดบ้านตัวเองก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น เป็นความจริงที่เกิดขึ้น ฉะนั้นในเรื่องของการปฏิรูปจึงต้องไปเน้นการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยราชการที่มีความชัดเจนมากขึ้น บางกระทรวงอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างภายในอีกครั้ง กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปครั้งต่อไปจะเน้นเรื่องกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ คุณหญิงทิพาวดีกล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาการบริหารจัดการในระบบราชการที่มีความล่าช้า โดยการตั้งหน่วยงานลักษณะพิเศษ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ สถาบันพัฒนาทั้งหลาย ศูนย์บริการร่วม การบริหารงานระดับอำเภอ โรงพิมพ์ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โรงหล่อ และสถาบันหลาย ๆ อย่าง ฯลฯ ต้องบริหารจัดการแบบใหม่    ตัวอย่างเช่น เรื่องพิพิธภัณฑ์ การบริหารจัดการต้องคล่องตัว ต้องเปิดโอกาสให้เอกชน ศิลปิน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาช่วยกันทำงานมากขึ้น ถ้าทำโดยระบบราชการ  จะเหมือนกับการปิดกั้นตัวเอง เพราะว่าราชการเป็นการทำงานแบบท็อปดาวน์ ต้องรอคำสั่งอธิบดี ผู้อำนวยการกอง แต่การทำงานในลักษณะนี้ต้องประสานกับเอกชนค่อนข้างมาก หรือต้องเอาชุมชนเข้ามา ต้องการการบริหารจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง คุณหญิงทิพาวดีกล่าวว่า การปฏิรูปที่ต้องทำต่ออีกเรื่องหนึ่ง คือ การปฏิรูปวัฒนธรรมการทำงานถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้มีเวลาจำกัด คงทำได้ในลักษณะของการวางหลักการเริ่มต้นเท่านั้น  เรื่องของวัฒนธรรมราชการที่ต้องเปลี่ยนมาก ๆ คือ ราชการจะต้องทำงานร่วมกับชุมชนและประชาชนให้ได้ จะต้องฝึกการทำงานแนวราบ คือต้องเปิดระบบราชการให้กว้างยิ่งขึ้น ให้มีโอกาสในการที่จะปฏิรูปสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคราชการ และที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้คือจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีเสียงมากยิ่งขึ้นในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วข้าราชการก็จะมองแต่ผู้บังคับบัญชาตลอด  ซึ่งความพอใจของผู้บังคับบัญชา อาจจะมิใช่ความพอใจของประชาชน บางครั้งสวนทางกันด้วยซ้ำ โอกาสนี้จะต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ในส่วนของผู้ว่าฯ ซีอีโอก็เช่นกัน เดิมใช้คำนี้เพราะอดีตนายกฯทักษิณต้องการให้ผู้ว่าราชการเป็นผู้จัดการ   ที่เข้มแข็ง มีเอกภาพในการตัดสินใจ ตอนนี้จึงได้ปรับบทบาทของผู้ว่าฯ ใหม่ไม่ใช่สั่งการอย่างเดียว แต่ต้องประสานงานเป็นแนวราบมากขึ้น ผู้ว่าฯมืออาชีพจะต้องประสานงาน ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุน ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทางกระทรวงมหาดไทยพยายามปรับปรุงอยู่ คือ จะเน้นผู้ที่มีความสามารถในการที่จะทำงานร่วมกันกับประชาชน ยอมรับในความหลากหลาย มีความอดทนสูง มีศิลปะ   ในการเจรจา มีศิลปะในการทำความเข้าใจ แล้วที่สำคัญจะต้องมีความเชื่อขั้นพื้นฐานในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน มีจิตอันบริสุทธิ์ เคารพในความแตกต่างของความคิด ไม่ใช่เอาอำนาจไปตัดสินอย่างเดียว เป็นเรื่องสำคัญ       ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น

อีกหน่วยงานหนึ่งที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เห็นว่าจะต้องปฏิบัติงานเชิงรุกมากขึ้น คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุณหญิงทิพาวดีกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทยอยคุยกับอนุกรรมการทั้งหลาย     ให้แนวคิดในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเน้นการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิหน้าที่   ของตัวเอง ปกป้องสิทธิของตัวเองได้ โดยเริ่มต้นจากการอ่านฉลากให้เป็น   ประการที่ 2 จะต้องสร้างกลไกอาสาสมัคร คือ เอาประชาชน ชาวบ้าน ที่เป็นผู้บริโภคแท้ ๆ มาเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น      คนที่คุมราคาสินค้าจริง ๆ คือแม่บ้านที่ไปจ่ายตลาดทุกวัน หากเอากลไกตรงนี้เข้าไปเสริม แม่บ้านเห็นอะไร    ที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ก็แจ้งข้อมูลมายังสายด่วน 1111 ได้ทันที    ต่อไปใครงูเข้าบ้าน ซื้อสินค้าแล้วถูกหลอกก็ร้องได้ที่หมายเลข 1111 จะเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่อยู่ภายใต้สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย แล้วให้หน่วยราชการก็ต้องรีบเยียวยา ตั้งโต๊ะเจรจากับผู้ประกอบการ แม้ว่ามีผู้ร้องเรียนเพียงรายเดียวก็ต้องแจ้งผู้ผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตรู้ว่า สคบ. เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ต่อไปก็จะระมัดระวังมากขึ้น    ขั้นต่อไปจะดึงสภาทนายความ ซึ่งมีอาสาสมัครอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 คนเข้ามาช่วยในเรื่องที่เป็นคดีฟ้องร้องให้จบเร็วขึ้น

คุณหญิงทิพาวดีกล่าวต่อไปอีกว่า ในรัฐบาลนี้นายกฯ เน้น 4 ป. คือ ป. โปร่งใส จะใช้ได้หมดกับทุกงาน       ที่ภาครัฐดูแล โดยจะเน้นในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถ้าทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็จะพลิกดูได้เร็วขึ้น เปิดเผยข้อมูลในการทำงานต่อสาธารณะได้ง่ายและสะดวก  ป.ที่ 2 คือ เป็นธรรม จะต้องเป็นธรรม ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ได้ทำให้ผู้ผลิตขายของไม่ได้ แต่ที่ทำเพราะต้องการให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวังแล้วจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน       2 ป.สุดท้ายคือ ประหยัด ประสิทธิภาพ จะมีกระบวนการในการเข้าไปตรวจสอบ    ในเรื่องต่าง ๆ ข้าราชการจะเน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม จะต้องประเมินพฤติกรรมข้าราชการที่สะสมมา  ในการสร้างข้าราชการมืออาชีพก็ดี การสร้างข้าราชการที่มีคุณธรรมก็ดี เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลที่เป็นธรรมและเป็นจริง เรียกว่า แฟ้มผลงาน ผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้บันทึกพฤติกรรมที่ดีเพื่อให้คนดีได้มีโอกาสขึ้นมา และถ้าทุกคนรู้ว่าความดีจะได้รับการบันทึกก็จะเลือกทำแต่ความดี คนทำความดีจะมีคนเห็นแล้วจะถูกบันทึก แล้วรัฐ       ก็จะให้ความยุติธรรมกับข้าราชการทุกคน เช่น ทำความดีมาตลอด แต่พลาดเพียงครั้งเดียว ชั่งน้ำหนักแล้วมีความดีมากกว่าโทษอาจจะเบาลง อย่างนี้เป็นต้น แต่รายละเอียดต้องคุยกันอีกรอบหนึ่ง แต่ที่สำคัญต้องมีระบบ     คานอำนาจ มีคนที่เป็นกลางจากภายนอกมาให้ข้อมูลเสริมด้วย   ในเบื้องต้นจึงโฟกัสไปที่เรื่องของความดี ความเก่ง ความพร่องต่าง ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น แต่การสร้างราชการมืออาชีพต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าจะให้ข้าราชการต่อสู้เพื่อหลักการที่ดีของสังคม เพื่อหลักการที่ถูกต้องของกฎหมาย ก็ต้องมีอะไรมา รองรับอนาคตของเขา

                   ประชาชาติธุรกิจ (คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ) 13 พฤศจิกายน 2549

หมายเลขบันทึก: 59112เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2006 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท