KM ในองค์กรการทำงาน


KM & Idea & Ethics
KM เกี่ยวข้องอะไรกับงาน R&D และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

 

                ดิฉันได้ร่วมงานกับฝ่าย R&D ของบริษัทอาหารทะเลแปรรูปแช่เยือกแข็งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาเป็นเวลากว่า 5 ปี หลังจบ ป.ตรี ทางด้าน  Food Science ลักษณะงานที่รับผิดชอบก็จะเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เก่าให้สอดคล้องกับสภาวะความต้องการของตลาด  สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว   เสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างคุณค่าแห่งผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้บริโภคในด้านคุณภาพ  ประโยชน์และความสะดวกในการนำไปบริโภค  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีส่วนช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายมากที่สุด  เพราะต้นทุนหลักของธุรกิจประเภทนี้คือต้นทุนวัตถุดิบ 

 

                จากความสำคัญดังกล่าว ทำให้หน่วยงานนี้ได้รับความดูแลเอาใจใส่ทางด้าน Input ของปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่องาน R&D โดยเฉพาะในส่วนของแนวคิดใหม่ๆ โดยมีแนวความคิดว่า ความสำคัญของความรู้เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนที่สุด และเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร  ถ้าเป็นกองทัพ  ก็เปรียบ R&D ได้เสมือน กองเสบียง  และตลาด เสมือน ทัพหน้า

 

                ทีนี้ลองมาทราบลักษณะงานที่ชาว R&D ทำอยู่บ้าง   ก็จะเริ่มจากการสร้างและรวบรวมแนวคิด concept ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ข้อมูลมาจากฝ่ายตลาด  ลูกค้า หรือจากแนวคิดที่ได้จากการร่วมกัน Brain Storming ในทีมงาน R&D เอง  และฝ่ายบริหาร เป็นต้น   พอได้ Idea มาแล้ว ก็จะลองนำมาทำการทดลองพัฒนาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบ  ทำการทดสอบชิมกันเองในทีมงาน  และพัฒนาปรับปรุงต่อจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระดับหนึ่ง  จากนั้นก็จะทำการทดสอบผู้บริโภค  แล้วนำผลการทดสอบที่ได้มาวิเคราะห์ผลเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการที่จะพัฒนาปรับปรุงต่อหรือออกวางจำหน่ายหรือหยุดการพัฒนาในลำดับต่อไป 
               
                โดยมากแล้วชีวิตประจำวันของชาว R&D ก็จะเกี่ยวข้องกับลงมือปฏิบัติเพื่อทำการทดลองปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิต ลองผิดลองถูก  และก็ชิม  ชิม  ชิม  เปรี้ยว  หวาน  มัน  เค็ม   เผ็ด อร่อยหรือไม่อร่อย  ต้องทำตัวเป็นคนหลายเชื้อชาติ ทั้ง  ไทย  จีน แขก  ฝรั่ง  ฯลฯ  ปรับประสาทสัมผัสในการรับรู้รสให้เป็นไปตามกลุ่มลูกค้า  ชิมทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ปรับปรุงแต่ละวัน   ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาดแต่ละกลุ่มลูกค้าทุกมุมโลก  ตามแต่ลูกค้าและฝ่ายตลาดจะช่วยเป็นสื่อกลางในการจัดหามาให้ชิม  เพื่อสร้างแนวคิดให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนารสชาติอาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม    ซึ่งดิฉันคิดว่าอันนี้แหล่ะ คือ KM ของ R&D เพราะการได้ลงมือทำการทดลอง  และฝึกฝนเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า  คือการจัดการองค์ความรู้อย่างหนึ่ง  ที่สามารถสร้างทักษะ  และสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้จากการทดลองปรับปรุง  จากความต้องการของผู้บริโภค  ตลอดจนติดตามข่าวสารพฤติกรรมผู้บริโภค  และข้อกำหนดกฎเกณฑ์การนำเข้าต่างๆ จะเห็นว่าเป็น ความรู้   ที่ติดตัว บุคคล  หรือเป็น ทุนมนุษย์  เพราะไม่มีสอนในตำราเรียนตายตัว  แต่เรานำความรู้ตามหลักวิชาการที่เรียน  เช่น เคมีอาหาร  ชีววิทยา  ฟิสิกส์  กระบวนการแปรรูป  มาประยุกต์ใช้  ไม่มี R&D คนไหนเรียนรู้ได้หากไม่ลงมือทดลองปฏิบัติ  และเรียนรู้จากการชิมด้วยตนเอง  เพื่อสั่งสมประสบการณ์ให้เกิดทักษะความชำนาญเป็นประเด็นหลัก  นอกจากนี้แล้วก็สามารถเรียนรู้จากการแชร์ประสบการณ์และคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางจากรุ่นพี่และเพื่อนร่วมงาน   และจากการฝึกอบรม พัฒนา ดูงาน  สำรวจตลาด  เป็นต้น   
                และเนื่องจากงาน R&D ค่อนข้างเป็นความลับเฉพาะของแต่ละบริษัท  เป็นความรู้ที่ติดอยู่กับตัวบุคคล  ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ชาว R&D จะต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งคือ จรรยาบรรณในวิชาชีพ  ในการรักษาความลับแห่งสูตรและกระบวนการผลิตของบริษัท
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 591เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2005 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท