ไฉน
นาย ประกาศิต ปอ ประกอบผล

ศัพท์ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัจธรรมและยังหมู่สัตว์ให้รู้ตาม

พระพุทธเจ้าทรงมีคำศัพท์ที่มีความหมายถึงพระพุทธองค์หรือที่แปลว่าพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังได้ให้ความหมายเฉพาะของคำศัพท์นั้นไว้อีกด้วย คำศัพท์ที่ยกมานี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา มี ๓๒ ศัพท์ ดังนี้

๑. พุทธะหรือ พระพุทธเจ้าพระนามนี้เป็นนามหลักที่ได้เห็นได้ยินโดยทั่วไป เหตุที่ทรงได้นามนี้ ในหนังสืออรรถกถาขยายความว่า เพราะทรงตรัสรู้สัจธรรมและยังหมู่สัตว์ให้รู้ตาม ทรงรู้ธรรมทุกอย่าง เห็นแจ้งธรรมทุกอย่าง ทรงรู้ยิ่ง ทรงสิ้นอาสวะกิเลส ทำพระนิพพานให้แจ้งปราศจากอุปกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ทรงสิ้นกิเลสแน่นอน ทรงเสด็จไปสู่หนทางสายเอก ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงพระองค์เดียวกำจัดอวิชชาได้อย่างสิ้นเชิง

๒. ทสพลหรือพระทศพล พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทสพล เพราะทรงมีกำลังกายเท่ากำลังของพญาช้างฉัททันต์ ๑๐ เชือก และทรงมีกำลังญาณ ๑๐ ประการ คือ ๑)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ ทรงรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ และอะไรเป็นไปไม่ได้ รู้เหตุและรู้ผล ๒)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว๓)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ รู้ประโยชน์ในปัจจุบันประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อันสูงสุด ๔)พระปรีชาญาณหยั่งรู้สภาวะของธรรมชาติทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมยึดครอง) และฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมไม่ยึดครอง) ๕)พระปรีชาญาณหยั่งรู้อัธยาศัย ความเชื่อถือ ความสนใจของสัตว์ทั้งหลาย ๖)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่า มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หย่อนหรือแก่กล้าเพียงไร ๗)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย ๘)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ถึงภพอันเคยเป็นอยู่ในอดีต ๙)พระปรีชาญาณหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรมของตน ๑๐)พระปรีชาญาณหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.ในบางที่เรียกว่า ทศพลญาณ หรือตถาคตญาณ ๑๐ ประการบ้าง

๓. สัตถาหรือ สัตถุ หมายถึง พระศาสดาเป็นครูผู้สอนมนุษย์และเทวดาทั้งหลายเพราะทรงแนะนำสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายด้วยประโยชน์ในปัจจุบันประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อันสูงสุด

๔. สัพพัญญู หรือ พระสัพพัญญู หมายถึง พระพุทธเจ้าผู้รู้ธรรมทั้งปวงในอรรถกถาแสดงสัพพัญญูไว้ ๕ ประการ คือ ๑)ทรงรู้จุติและอุบัติทุกอย่างของสัตว์ผู้เป็นไปตามลำดับกรรม ๒)ทรงรู้สภาวะธรรมชาติทุกอย่างได้ในขณะญาณเดียว๓)ทรงรู้สภาวะธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง๔)ทรงรู้สภาวะธรรมทุกอย่างด้วยพระปรีชาสามารถ ๕)ทรงรู้สภาวะธรรมทุกอย่างด้วยพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในสัพพัญญู ๕ อย่างนี้หมายถึงญาตสัพพัญญู คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔

๕. ทวิปทุตตม พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้า บรรดาสัตว์สองเท้า ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด จึงทรงพระนามว่าทวิปทุตตมะ บรรดาเทวดา พรหม และมนุษย์ผู้มีสองเท้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด

๖. มุนินทะพระพุทธเจ้าพระมุนินทร์ ผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระมุนีทั้งหลาย คำว่า มุนิ ได้แก่ พระมุนีทั้งหลาย คือ ๑)คฤหัสถ์ผู้รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นกัลยาณปุถุชน ๒)บรรพชิตผู้มีจาตุปาริสุทธิศีลสมบูรณ์ ๓)เสกขบุคคล ๗ จำพวก คือคฤหัสถ์หรือบรรพชิตผู้บรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล และอรหัตตมรรค๔)คฤหัสถ์หรือบรรพชิตผู้บรรลุธรรมขั้นอรหัตตผล๕)พระปัจเจกพุทธเจ้า ๖)พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใหญ่กว่ามุนิทั้ง ๕ ข้างต้น จึงทรงพระนามว่า มุนิมุนิ หรือ มุนินทะ

๗. ภควันตุพระพุทธเจ้าพระผู้มีพระภาคเป็นพระนามที่พุทธบริษัทเรียกโดยเคารพ อนึ่ง พระนามพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะ ทำลายโทสะทำลายโมหะ ทำลายมานะได้

๘. นาถพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งคำว่านาโถหมายถึง ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกพระพุทธเจ้าผู้ทรงหวังประโยชน์สุขแก่เวไนยสัตว์ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์นั้นๆ ทรงปกครองสรรพสัตว์ หรือทรงบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สัตว์โลกทั้งมวล

๙. จักขุมันตุพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุคือพระสัพพัญญุตญาณจักษุ ๒ คือ ญาณจักษุ (ปัญญาจักษุ)และมังสจักษุ ในจักษุ ๒ อย่างนั้น ญาณจักษุมี ๕ คือ พุทธจักษุธัมมจักษุ สมันตจักษุ ทิพพจักษุ และปัญญาจักษุ

๑๐. อังคีรสพระอังคีรสพระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายรุ่งเรืองอยู่เสมอ

๑๑. มุนิ พระมุนี พระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระปัญญาญาณรู้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

๑๒. โลกนาถ พระโลกนาถพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์(ผนวช) จนถึงมหาปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงดำรงอยู่เพื่อเกื้อกูลชาวโลกเหมือนกัน

๑๓. อนธิวร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า (คำนี้ปรากฏอยู่ในบทอาราธนาธรรม)

๑๔. มเหสิ พระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาศีลขันธ์สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันยิ่งใหญ่ จึงได้พระนามว่ามเหสิ

๑๕. วินายก พระพุทธเจ้าผู้แนะนำดีอย่างแจ่มแจ้งผู้ทรงแนะนำประโยชน์เกื้อกูลผู้นำสัตว์ไปสู่นิพพานพระพุทธเจ้าผู้ทรงฝึกสัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายเครื่องฝึกเป็นอันมาก จึงทรงพระนามว่าวินายก

๑๖. สมันตจักขุพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพุทธญาณรอบทิศพุทธญาณ ๑๔ ได้แก่ปัญญาเห็นทุกขสัจพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้นพระนามว่าสมันตจักขุเพราะทรงมีปรกติเห็นธรรมทั้งปวง และเพราะทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ

๑๗. สุคต พระสุคตพระพุทธเจ้าผู้มีญาณอันงดงามผู้เสด็จไปดีแล้วพระนามว่าพระสุคต เพราะเสด็จไปดี เสด็จไปสู่ที่ดี เสด็จไปโดยชอบทรงละกิเลสด้วยอรหัตตมัคคญาณแล้วไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสนั้นอีก จึงทรงพระนามว่าสุคตะผู้ทรงมีญาณอันงดงาม เสด็จไปจากสงสารแล้วไม่กลับมาอีกหรือผู้เสด็จไปเพื่อยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้สำเร็จด้วยดี

๑๘. ภูริปัญญะพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญามากกว้างใหญ่ไม่สิ้นสุดดุจแผ่นดิน มีปัญญามาก มีปัญญาแก่กล้า มีปัญญาสูง มีปัญญาดี มีปัญญาเร็ว มีปัญญากำจัดกิเลส

๑๙. มารชิ พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารทั้ง ๕ ได้แก่ เทวปุตตมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร ขันธมาร และมัจจุมาร

๒๐. นรสีห พระนรสีห์พระพุทธเจ้าผู้ปกครองมนุษย์และเทวดาผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ผู้หักล้างวาทะของเจ้าลัทธิอื่นได้ ผู้เป็นดุจสีหะหรือทรงเป็นผู้ปกครอง ผู้ประเสริฐกว่าคนทั้งหลายเพราะว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เป็นพระชนกของพระองค์ราชสีห์ชนะหมู่สัตว์ ด้วยเขี้ยวทั้ง ๔ ของตนได้เช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคก็ทรงชนะชาวโลกด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ศีล ปัญญา บุญ และอิทธิปาฏิหาริย์

๒๑. นรวระพระพุทธเจ้า ผู้ทรงประเสริฐกว่านรชนหรือผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์

๒๒. ธัมฺมราชา พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา เพราะทรงยินดีซึ่งธรรม ทรงเป็นพระราชาของโลกพร้อมทั้งเทวโลกโดยธรรม ทรงยังปวงชนให้ยินดีด้วยธรรม ทรงเป็นพระราชาผู้รักษาความเป็นธรรมผู้เที่ยงธรรม

๒๓. มหามุนิ พระนามว่ามหามุนี พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่ามุนีทั้งหลาย(พระนางโคตมีกราบบังคมทูลพระศาสดาอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหามุนี ขอพระองค์โปรดประทับอยู่ตลอดกัปเถิด)

๒๔. เทวเทโว พระพุทธเจ้าทรงเป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เลิศของเทวดาทั้งหลาย

๒๕. โลกครุ พระพุทธเจ้าผู้เป็นครูของชาวโลก หรือเพราะทรงเป็นที่เคารพนับถือของชาวโลก

๒๖. ธัมมัสสามีพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม

๒๗. ตถาคต พระพุทธเจ้าผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น เสด็จไปแล้วอย่างนั้น ตรัสรู้ความจริง ตรัสรู้สัจธรรมตามความเป็นจริง เพราะทรงเห็นสัจจะ ทรงตรัสอย่างนั้น ทรงกระทำอย่างนั้น ทรงดำรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองมีพระปัญญาญาณงดงาม จึงทรงพระนามว่าตถาคต

๒๘. สยัมฺภู พระสยัมภูพระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

๒๙. สัมฺมาสัมฺพุทฺธะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบด้วยพระองค์เอง

๓๐. วรปัญญะ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาประเสริฐที่สุด

๑. นายก พระพุทธเจ้าผู้นำสัตว์ออกจากห้วงสมุทรคือสงสาร ไปสู่ฝั่งแห่งนิพพาน จึงทรงพระนามว่านายก

๒. ชินะ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าชินะ เพราะทรงเป็นผู้ชนะมารทั้ง ๕ คือ เทวปุตตมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร ขันธมาร และมัจจุมาร


หมายเลขบันทึก: 590973เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2015 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2015 06:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นความรู้ใหม่ของดิฉันเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท