ทำดีได้ชาติหน้า ทำเอาหน้าได้ชาตินี้ (จำไว้)


ข้อความที่ว่า "ทำดีได้ชาติหน้า ทำเอาหน้าได้ชาตินี้ (จำไว้)" นี้ เป็นข้อความที่ผมเพิ่งเก็บมาจากด้านหลังรถกระบะสีดำคันหนึ่ง ข้อความนี้ตัดแปะด้วยสติกเกอร์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย นั่นแสดงว่า เจ้าของรถต้องการแสดงความคิดบางอย่างอย่างจงใจ เมื่อผมอ่านข้อความนี้ ทำให้ผมคิดดังต่อไปนี้

ข้อความนี้แบ่งเป็น ๒ ท่อนคือ "ทำดีได้ชาติหน้า" และ "ทำเอาหน้าได้ชาตินี้" ขณะเดียวกัน มีวงเล็บด้วยว่า "จำไว้" ในความหมายว่า "จงจำเอาไว้" ส่วนหนึ่งเป็นการเตือนตัวเองที่อาจจะเคยเดินพลาดพลั้งในเส้นทางสายกิเลสสังคม อนึ่ง ข้อความท่อนแรกนั้นเป็นข้อความที่น่าจะมาจากความคิดทางศาสนาที่บอกว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" อันสัมพันธ์กับความเชื่อของผู้มีศาสนาที่ว่า นอกเหนือจากโลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีโลกอื่นอีกที่ทับซ้อนโลกนี้ โลกดังกล่าวคือ โลกเบื้องหลังความตาย ความเชื่อถัดมาคือ โลกเบื้องหลังความตายเป็นโลกที่รองรับผลของการกระทำ ดังนั้น "ทำดีได้ชาติหน้า" จึงน่าจะมาจากแนวคิดดังกล่าวนี้ ส่วนข้อความท่อนที่ ๒ น่าจะมาจากแง่มุมทางสังคม ในองค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบเสาธง คือการส่งผลงานที่เป็นธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ในการพิจารณาความดีถ้ายอดสุดของเสามองไม่เห็นฐานของเสา เหล็กท่อนใดอยู่ใกล้ยอดเสาสุด ก็จะได้รับผลที่พึงปรารถนาได้ง่ายกว่า ในวงราชการอาจเรียกสิ่งนี้ว่า "ความดีความชอบ" ส่วนในองค์กรเอกชนนั้นอาจเรียกว่า "รางวัล" หรือ "โบนัส" หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนที่นอกเหนือจากค่าจ้างในการทำงานให้องค์กร

ข้อความท่อนแรกที่ว่า "ทำดีได้ชาติหน้า" กับ ข้อความท่อนหลังที่ว่า "ทำเอาหน้าได้ชาตินี้" นั้น ดูจะขัดแย้งกัน กรณีนี้หมายถึง การบอกว่า ทำดีได้ชาติหน้า คือ การบอกว่า ทำดีจะไม่ได้รับผลดีในชาตินี้ แตกต่างจากการทำเอาหน้าจะได้รับผลดีในชาตินี้ ข้อความท่อนแรกมีลักษณะเชิญชวนให้ "คดห่อ" เพื่อเป็นเสบียงไปกินข้างหน้า แต่ข้อความท่อนหลังบ่งถึง ถ้าทำเวลานี้ก็ได้กินเวลานี้ โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อความท่อนหลังนี้อาจถูกปฏิเสธด้วยข้อความท่อนแรก เพราะข้อความท่อนแรกเป็นข้อความทางศาสนาที่ปฏิเสธการทำด้วยกิเลสอย่างน้อย ๓ ตัวหลัก ส่วนข้อความท่อนหลังนั้นเป็นข้อความที่ศาสนาอาจมองว่า เป็นการทำด้วยกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง เพราะการทำเอาหน้า หมายถึง เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เราจึงทำ แต่อยู่ลับหลังผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เราจะไม่ทำ แตกต่างจาก ข้อความแรกที่มองว่า แม้จะไม่ได้อยู่ต่อหน้าผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เราก็ทำ

อาจตีความว่า ข้อความท่อนหลังนั้นน่าจะมาจากกิเลสคือความโลภ (โลภะ) หรือ ความอยากได้ โดยความอยากได้ดังกล่าว มีความไม่จริง (อสัตย์) รองรับ กล่าวคือ ดูเหมือนต่อหน้าผู้มีอำนาจ เราจะเป็นคนขยัน แต่จริงๆแล้ว เราขี้เกียจ เพราะเราจะขยันเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น แตกต่างจากข้อความท่อนแรกที่รองรับด้วยความจริง (สัตย์) เพราะไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลัง หากเราเป็นคนขี้เกียจ เราก็ยังขี้เกียจ หากเราเป็นคนขยัน เราก็ขยัน อย่างไรก็ตาม ข้อความว่า "ทำดีได้ชาติหน้า" นี้ บ่งชี้ถึงความขยันมากกว่า

ข้อความสองท่อนนี้บ่งชี้อะไร ? ข้อความสองท่อนนี้อาจบ่งชี้ให้คนในสังคมหรือองค์กรได้ตระหนักว่า จงทำเอาหน้าดีกว่า แล้วเราจะได้รับผลที่ดีโดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า โดยผลที่ดีนี้อาจเป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังและใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในชาตินี้ เช่น เงินเดือนขึ้นเป็น ๒ เท่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในทางศาสนาก็ยังคงใช้ข้อความเดิม ถ้าไม่มีการเปลี่ยนพื้นฐานความคิดของศาสนา ก็ยังคงเป็น "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" และสืบเนื่องไปถึงโลกหน้า ที่จะทำดีได้ชาติหน้า จริงอยู่ แม้จะมีการตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเอาปัจจุบันเป็นสำคัญ (ในความหมายว่า พิสูจน์แล้วจริง) แต่ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมายาวนานเกี่ยวกับโลกหน้า ก็ไม่ได้หมดไปจากคนในศาสนา ซ้ำแล้วอาจได้รับการสนับสนุนจากความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ด้วย ในกรณีการหาความจริงจากความเชื่อทางศาสนา เช่น พิสูจน์จากคนที่ระลึกชาติได้ แต่ก็ได้รับการโต้แย้งว่า เราก็ยังไม่พบโลกที่ว่านั้น (ถ้ายังเอาโลกเบื้องหลังความตายมาให้ดูไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าโลกนั้นมีอยู่) ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับปัจจุบันจะดีกว่า

เกี่ยวกับความดี อาจมีสองสายใหญ่ๆ คือ ๑) ความดีที่ดีโดยตัวของความดีเอง สิ่งนี้มาจากเจตนาเป็นสำคัญ หมายถึง ถ้าเจตนาดี แล้วลงมือกระทำ ผลจะออกมาอย่างไร ให้ถือว่าดี ๒) ความดีที่ดีโดยตัวของสังคม หมายถึง ถ้าสังคมเห็นว่าดี แม้จะมีเจตนาแอบแฝง แต่เป็นผลดีทางสังคม ก็ถือว่าดี สายแรกน่าจะคือ "ทำดีได้ชาติหน้า" สายที่สองน่าจะคือ "ทำเอาหน้าได้ชาตินี้"

หมายเลขบันทึก: 590540เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2015 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2015 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ วันก่อนฟังท่าน ว.วชิรเมธี สอนเกี่ยวกับข้อความที่มักมีคนนำมาแปลงใหม่ว่า"ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"น่าคิดเหมือนกันนะครับ.....ท่านบอกเอาไว้ทำให้ได้เตือนสติ"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"มีเหตุ...มีผล...รองรับ..ครับ

-ขอบคุณครับ

เป็นไปได้ว่า ยุคใหม่นี้ มีการตีความผลของความดีไม่ใช่ความสะอาดใจ หากแต่เป็นเครื่องปรนเปรอจิตใจ จึงมีการตีความว่า ทำชั่วได้ดี และทำดีได้ชั่ว และทั้งชั่วและดี เป็นสิ่งที่คนมอบให้กันได้ อันเป็นมืติของสสารนิยม (ทั้งโลกประกันคุณภาพด้วยวัตถุ)

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

จะดีหรือชั่ว ต่างรอเวลา

เมื่อวันนั้นมา ย่อมรับผลกรรม

สิ่งที่จิตใจปรารถนาคือความปัจจุบันทันด่วน เหมือนโลกยุค 4G ที่เปิดปุ๊บต้องติดปั๊บ ถ้ามีหน่วงนิดหนืดหน่อยผู้ที่เป็นโรคหัวใจอ่อนแอก็อาจมีอาการกำเริบหงุดหงิดขึ้นมาได้ เมื่อไหร่นะจะมีการเปิดประมูลการทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง ทำเช่นไรให้ผลบุญผลกรรมส่งถึงผู้กระทำได้รวดเร็วขึ้นบ้าง เกรงก็เแต่จะไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมเลยนี่สิ!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท