Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อเสนอของ อ.แหวว เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ เกี่ยวกับหมวด ๒ ประชาชน


ข้อเสนอเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ เกี่ยวกับหมวด ๒ ประชาชน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกการเตรียมข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153232042868834

----------------------------------------------------------

สำหรับ ๑๐ นาทีหลังเพื่อเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ดิฉัน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลขที่ ๑๕๕ ขอมีความเห็นเกี่ยวกับบทบัญญัติในหมวดที่ ๒ ว่าด้วยประชาชน ซึ่งดิฉันจะขอมีความเห็นแยกออกเป็น ๓ ประการดังต่อไปนี้

ในประการแรก ดิฉันขอแสดงความชื่นชมที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับมนุษย์หรือคนในสถานการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทย ซึ่งดิฉันก็มีข้อเสนอแนะเล็กน้อยในการจัดการสิทธิที่เหมาะสมมากขึ้นสำหรับคนด้อยโอกาสอย่างร้ายแรงในบางสถานการณ์ ดิฉันตระหนักว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคงมีแนวคิดมนุษยนิยมอย่างมากทีเดียว บทบัญญัติจำนวนหนึ่งจึงระบุถึงคนด้อยโอกาสในหลายสถานการณ์และเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่กลับไม่ค่อยมีกฎหมายไทยลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงในสถานะของ"ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมาย" มากนัก ทั้งที่สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่รับรู้กันทั่วไปแม้ในเวทีระหว่างประเทศ ในที่นี้ ดิฉันใคร่ขอแลกเปลี่ยนถึงการรับรองสิทธิของคนด้อยโอกาสที่สำคัญที่พบในร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ใน ๓ สถานการณ์ดังต่อไปนี้

สถานการณ์แรก ก็คือสถานการณ์ของคนไร้สัญชาติ ดิฉันดีใจมากที่เห็นคำว่า "คนไร้สัญชาติ" ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญกล่าวคือในมาตรา ๔๗ วรรค ๓[1] แม้แนวคิดเพื่อจัดการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนรอบด้านจะยังไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ตามและแม้ถ้อยคำในวรรคนี้น่าจะต้องปรับให้ชัดเจนมากขึ้น แต่เมื่ออ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ไม่ยอมให้การสิ้นสุดของสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลใดทำให้บุคคลนั้นตกเป็นคนไร้สัญชาติดิฉันไม่อยากเห็นการออกกฎหมายมาถอนสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลอันก่อให้เกิดคนไร้สัญชาติดังที่เคยเกิดในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕[2] และในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕[3] จึงอาจกล่าวได้ว่า มาตรา ๔๗ วรรค ๓ จึงน่าจะเป็นกลไกประสิทธิภาพเพื่อป้องกันเหตุร้ายดังกล่าวมา ดิฉันจึงขอสดุดีในความดีงามอันนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญค่ะ

สถานการณ์ที่สอง ก็คือ สถานการณ์ของคนยากไร้หรือ "ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก" ดิฉันมีความปิติอย่างมากที่พบคำว่า"ผู้ยากไร้"และคำว่า "ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก" ในมาตรา ๔๔ ซึ่งรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หรือในมาตรา ๕๒ ซึ่งรับรองสิทธิในความเท่าเทียมกันในการรับการศึกษา แต่อาจน่าเสียดายที่มาตรา๕๒ นี้จำกัดการรับรองสิทธิให้เพียงแต่พลเมือง ซึ่งตามความหมายของร่างรัฐธรรมนูญนี้ย่อมหมายถึงเพียงคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ยากไร้ที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยทั้งที่มีข้อเท็จจริงที่แสดงสิทธิในสัญชาติไทยนี้อย่างชัดเจนอาทิ คนไทยพลัดถิ่น มอแกน ซาไก/มานิ อุรักลาโวย รวมถึงมาบรีหรือตองเหลือง อาจจะเข้าไม่ถึงสิทธิ ด้วยผลของการตีความแบบแคบนิยม

สถานการณ์ที่สาม ก็คือ สถานการณ์ของคนที่อาจถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่มีความแตกต่างอันเนื่องมาจาก"ถิ่นกำเนิด" "เชื้อชาติ" "เพศสภาพ" และโดยเฉพาะคำว่า "สถานะบุคคล" ดิฉันรู้สึกสบายใจที่เห็นมาตรา ๓๔ วรรคที่ ๓ ซึ่งบัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างดังกล่าว บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นอีกดอกไม้งามที่กำลังจะแย้มบานในประเทศไทยอีกดอกหนึ่ง ดอกไม้ดอกนี้งดงามมากที่สุดเพราะเป็นการรับรองสิทธิให้แก่มนุษย์ทุกคนมิใช่มนุษย์บางคน ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัตินี้ปรากฏในตอนที่ ๒ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น ดิฉันขอเพิ่มเติมความขอบคุณที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ให้คำหมายที่ชัดเจนของคำว่า"สถานะบุคคล" ให้หมายถึง "คนชาติพันธุ์" ในเอกสารอธิบายบทบัญญัติอีกด้วยแต่หากคำนี้จะปรากฏในมาตรา ๓๔ อย่างชัดเจนโดยตรง ก็จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงกว่าสำหรับคนชาติพันธุ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวเขา/ชาวเล/ชาวป่าที่อาศัยอยู่ติดแผ่นดินไทยแต่ยังไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย

ในประการที่สอง ที่ดิฉันอยากมีความเห็นในสภาแห่งนี้ก็คือ ดิฉันจึงใคร่ขอเสนอให้มีการเพิ่มคำว่า"บุคคลในทุกเพศสภาพ" ในวรรคที่ ๒ ของมาตรา ๓๔ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า"ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน" จึงทำให้เกิดบทบัญญัติใหม่ว่า "ชายและหญิง รวมถึงบุคคลในทุกเพศสภาพ มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน" บทบัญญัติในลักษณะนี้จะทำให้บุคคลที่มีเพศสภาพซึ่งมิใช่ชายหรือหญิงได้รับการรับรองความเท่าเทียมกันในสิทธิและเสรีภาพในลักษณะเดียวกับบุคคลที่มีเพศสภาพเป็นหญิงหรือชาย โดยพิจารณาวรรค ๓ แห่งมาตรา ๓๔ ดิฉันเข้าใจว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดูเข้าใจดังเช่นนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพในประชาคมโลกว่า ปัญหาความไม่ชัดเจนของเพศสภาพของมนุษย์เป็นปัญหาตามธรรมชาติ บุคคลที่มีปัญหาดังกล่าวจึงไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติอยู่ ดังนั้น หากจะเพิ่มคำว่า "บุคคลในทุกเพศสภาพ" เข้าไปในวรรค ๒ แห่งมาตรา ๓๔ ก็จะทำให้เกิดความงดงามของกฎหมายเพื่อมนุษย์ในสถานการณ์นี้มากขึ้น เมื่อย้อนกลับมาศึกษาสถานการณ์จริงในประเทศไทยยังมีบุคคลในประเทศไทยที่ยังมีปัญหาการรับรองเพศสภาพอีกมากมาย ที่ถูกเลือกปฏิบัติและเข้าไม่ถึงความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพทั้งนี้ เพราะความไม่เข้าใจของฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลการยกร่างกฎหมาย ตลอดจนบุคคลในกระบวนการตรากฎหมายในรัฐสภาในอดีตต่อธรรมชาติของปัญหานี้ การเริ่มต้นที่ชัดเจนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปครั้งนี้ย่อมจะทำให้ความไม่เป็นธรรมที่บุคคลที่มีปัญหาการรับรองเพศสภาพประสบมายาวนานแล้ว จะได้รับการจัดการให้หมดไปในไม่ช้า ดิฉันจึงขอสนับสนุนให้ท่านยืนหยัดเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมต่อบุคคลในสถานการณ์นี้

ในประการที่สาม ที่ดิฉันอยากมีความเห็นในสภาแห่งนี้ก็คือ ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา ๔๕ ซึ่งบัญญัติว่า"บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใดให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้" ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้ย่อมหมายความว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยได้ยอมรับ "หน้าที่ที่จะรับรอง" สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของ "บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย" มาตรา ๔๕ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้จัดการปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดแก่ "คนที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยหลักดินแดน" กล่าวคือคนที่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะถาวรในประเทศไทย หรือมีภูมิลำเนาหลักในประเทศไทย หรือกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือ คนที่มีความรับผิดชอบทางสังคม (Social Contribution) ต่อประเทศไทย คนที่เสียภาษีให้รัฐไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมคนที่เก็บทรัพย์สินไว้บนแผ่นดินไทย ความร่ำรวยของพวกเขา ก็คือความร่ำรวยของประเทศไทย อยากเน้นอีกครั้งว่า คนในสถานการณ์นี้ ก็คือ"คนต่างด้าวเทียม" พวกเขาอาจจะไม่อยู่ในความหมายของพลเมืองใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ดิฉันเข้าใจว่ามาตรา ๔๕ จึงน่าจะเป็นการเปิดช่องที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ "คนต่างด้าวเทียม" ซึ่งหมายถึงทั้ง (๑) คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายแต่เข้าไม่ถึงสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และ (๒)คนที่ไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายแต่มีความกลมกลืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมกับสังคมไทยเรียบร้อยแล้ว

ดิฉันไม่ขัดแย้งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะให้ความหมายของคำว่า"พลเมือง" ให้หมายความถึง "คนที่มีสัญชาติไทย" เท่านั้น แต่ดิฉันกังวลว่า คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะเข้าไม่ถึงเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทยจึงตกเป็น "คนต่างด้าวเทียม" ในสายตาของรัฐไทย

เพื่อที่เราจะมั่นใจว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะออกมาจากมาตรา ๔๕ จะเป็นกฎหมายที่สร้าง "ความเป็นธรรมในความเป็นจริง" ต่อคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกับประเทศไทย ดิฉันจึงขอเสนอให้เติมตอนท้ายของมาตรา ๔๕ ว่า "การบัญญัติกฎหมายดังกล่าวย่อมจะต้องเป็นไปบนมาตรฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในประเทศไทยอย่างมีศักดิ์ศรี"

ในท้ายที่สุด ดิฉันขอขอบพระคุณคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฯนี้มาอย่างดี และมองเห็นทุกคนยากไร้ในความดูแลของรัฐไทย ดิฉันตระหนักว่า ท่านทำงานหนัก และท่านก็มีหัวใจสำหรับประชาชนรากหญ้าเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันมั่นใจว่ากลไกประสิทธิภาพที่ท่านบรรจงสร้างสรรค์ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการสร้างสุขภาวะของมนุษย์ในสังคมไทยโดยเฉพาะมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจนแท้จริงกับประเทศไทย ไม่ว่าพวกเขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายหรือไม่ ? หรือไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะเป็นพลเมืองหรือไม่ ?

--------------

หมายเหตุ

--------------

เราตระหนักว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยกระดับความเป็นพลเมืองขึ้นมากมาย และจำกัดความให้คำว่า"พลเมือง" หมายถึง "คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย" เท่านั้นก็จะทำให้มีมาตรฐานและคุณภาพของสิทธิที่แตกต่างกันระหว่างคนที่เป็นพลเมืองในความหมายใหม่และคนที่ไม่เป็นพลเมืองในความหมายใหม่

ขอให้เราตระหนักลึกลงไปอีกว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยและคนที่ไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย "ก็จะถูกถือเป็นคนต่างด้าว" กล่าวคือ มีสถานะเป็น "คนต่างด้าวเทียม" ปัญหาความไม่เป็นธรรมจึงอันเกิดขึ้นแก่คนสัญชาติไทยที่ยังโชคร้ายนี้ด้วย ต่อไปนี้ จึงอาจมีช่องว่างแห่งการใช้สิทธิของพลเมือง ระหว่างคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่ได้รับการรับรองแล้วในทะเบียนราษฎรและคนที่ยังมิได้รับการรับรองดังกล่าว

เราจึงหวังว่า การเปิดพื้นที่สำหรับ "บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย" ในมาตรา ๔๕ จะทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยในยุคปฏิรูปสามารถสร้างมาตรฐานชีวิตสำหรับ "คนต่างด้าวเทียม"หรือคนต่างด้าวที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยอาจจะเป็นโดยการเกิด หรือภายหลังการเกิด เพียงแต่การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น มาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาพึงได้รับ จึงน่าจะมิใช่ในระดับ "มาตรฐานขั้นต่ำด้านสิทธิมนุษยชน" แต่ควรจะเป็นมาตรฐานที่อาจสูงกว่า ถ้าจะให้ในมาตรฐานที่เท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยก็น่าจะดี เพื่อไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขามีจุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นกับรัฐไทย ซึ่งอาจเป็นหลักบุคคล หรือหลักดินแดน พวกเขาจึงควรได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในประเทศไทยอย่างมีศักดิ์ศรี

ว่าไปแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ทำอะไรไม่น้อยสำหรับมนุษย์ในหลายสถานการณ์

และท่านก็ไม่ได้ "สัญชาติไทยนิยม" จนเกินไป

ดังนั้น ในอีกความสงสัยที่ดิฉันมีในหัวใจ ก็คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเน้นที่จะอธิบายมากเกินไปถึงการสร้างความเป็นพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือเปล่า ท่านจึงลืมบอกกล่าวถึงความงดงามที่ท่านกำลังทำเพื่อมนุษย์ ทั้งที่พวกเขาอาจไม่มีสถานะเป็นสถานะคนสัญชาติไทย ไม่มีสถานะเป็นพลเมือง อีกด้วย

--------------------------------------

บันทึกเสียงการเสนอในรัฐสภา

https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTcTJzRUhkNWRKMUE/view?usp=sharing

--------------------------------------

บันทึกการถอดเสียงการเสนอในรัฐสภาข้างต้น

โดย นางสาวปภาวดี สลักเพชร

ผู้ช่วยดำเนินงานคนที่ ๓ ของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=471749549642039

--------------------------------------


[1] ซึ่งบัญญัติว่า "การถอนสัญชาติไทยจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิดจะกระทำมิได้ สัญชาติไทยจะสิ้นสุดลงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติและจะขัดต่อเจตจำนงของพลเมืองนั้นได้ต่อเมื่อไม่ทำให้พลเมืองนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ"

[2] โดยผลของข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคมพ.ศ.๒๕๑๕

[3] โดยผลของมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ประกอบกับมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

หมายเลขบันทึก: 589302เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2015 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2015 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเชียร์การทำงานครับอาจารย์แหวว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท