รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ



กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการออมเงินแบบผูกพันระยะยาว (Contractual Savings) สำหรับลูกจ้าง เพื่อไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือต้องออกจากงาน

ทั้งนี้ เงินที่นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินของสมาชิกทุกคน โดยประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 2% แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง เงินที่นายจ้าง
จ่ายเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่
ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง (นั่นคือ นายจ้างมีส่วนช่วยลูกจ้างออมเงินด้วย) และ
เงินที่ได้มาจากการที่มีผู้อื่นบริจาคให้กองทุนอีกส่วนหนึ่ง


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นสวัสดิการของนายจ้างที่จัดให้เพื่อสนับสนุนการออมของลูกจ้าง โดยมีรูปแบบการลงทุน
2 ประเภท คือ

  • กองทุนเดี่ยว (Single Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยนายจ้างเพียงรายเดียว ซึ่งปกติจะมีขนาดของเงินกองทุน
    ค่อนข้างใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท สามารถกำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนเองได้ โดยนายจ้างและกองทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนเอง
  • กองทุนร่วม (Pooled Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยนายจ้างมากกว่า 1 รายขึ้นไป ซึ่งจะนำเงินกองทุนของนายจ้างทุกรายมารวมกัน จึงทำให้มีปริมาณเงินกองทุนมากขึ้น สามารถกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงได้โดยการลงทุนใน
    ตราสารมากชนิดขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างแต่ละรายจะมีกรรมสิทธิ์ในกองทุนและมีการแบ่งเฉลี่ยภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนตามสัดส่วนของเงินกองทุนของตน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดนโยบายการลงทุนกลางสำหรับใช้ร่วมกันด้วย



เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีสถานะ เป็นนิติบุคคล โดยมี "คณะกรรมการ
กองทุน"
(Provident Fund Committee) ซึ่งมาจาก 2 ฝ่ายสำคัญ คือ กรรมการกองทุนฝ่ายนายจ้าง (มาจากการแต่งตั้งโดยบริษัทนายจ้าง) และกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง (มาจากการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกกองทุน) ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกบริษัทจัดการลงทุนและกำหนดกรอบการลงทุน โดยทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนจะอยู่ในความดูแลของ "ผู้รับฝากทรัพย์สิน" พร้อมกับมี "ผู้สอบบัญชี" ไว้สำหรับดูแลและรับรองรายงานทางการเงิน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการลงทุน นอกจากนี้ ยังมี"นายทะเบียนสมาชิก" ที่คอยดูแลข้อมูลสมาชิกกองทุนอีกด้วย

สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ที่ผ่านมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายการลงทุนเพียง
แบบเดียว คือ ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า 60% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่วนที่เหลือสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงน้อยกว่าและอาจได้รับผลตอบแทนสูงกว่าได้

แต่ต่อมาภายหลังทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เปิดโอกาสให้มีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติม โดยให้เจ้าของเงิน (ลูกจ้าง) สามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง หรือที่เรียกว่า "ระบบลูกจ้างเลือกลงทุน" (Employee's Choice) โดยลูกจ้างอาจเลือกที่จะนำเงินที่มีอยู่ทั้งก้อนไปลงทุนในนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว หรืออาจเลือกที่จะแบ่งสัดส่วนของเงินที่มีอยู่ของตนเองไปลงทุนในนโยบายการลงทุนหลายๆ แบบตามที่ต้องการได้

สำหรับประโยชน์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีดังนี้

สำหรับลูกจ้าง

  • เมื่อครบเกษียณอายุ (กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี และมีอายุ
    ไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์) ทุพพลภาพ หรือเมื่อต้องออกจากงาน ลูกจ้างจะได้รับเงินกองทุน ซึ่งประกอบด้วยเงินสะสม
    เงินสมทบ และผลประโยชน์ที่เกิดจากการที่กองทุนนำเงินไปลงทุน โดยเงินกองทุนที่ได้รับนี้ "ได้รับการยกเว้นภาษี
    ทั้งจำนวน"
  • เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท และต้องไม่เกิน 15%
    ของค่าจ้าง

สำหรับนายจ้าง

  • เป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง
  • กรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับคืนเงินกองทุนตามเงื่อนไข นายจ้างจะได้สิทธิรับเงินสมทบ รวมทั้งผลประโยชน์จากเงินสมทบคืน
  • เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนแต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้

อย่างไรก็ตาม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกองทุนรวมแบบเดียวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเสมอๆ ตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้จะทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจความแตกต่างของ 2 กองทุนนี้ได้ดียิ่งขึ้น


หมายเลขบันทึก: 587507เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2015 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท