พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะ : เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และพระอัครสาวกเบื้องขวา


มีนามเดิมว่า "โกลิตะ"เป็นบุตรของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า "โกลิตคาม" อยู่ใกล้เมืองราชคฤห์บิดาชื่อว่า "โกลิตะ" มารดาชื่อว่า "โมคคัลลี" ฉะนั้น ท่านจึงได้ชื่อว่า "โมคคัลลานะ"มีเพื่อนสนิทชื่อว่า"อุปติสสะ หรือ พระสารีบุตร" นั้นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ได้ความสังเวชว่าคนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้น ก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่าเราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหา
โมกขธรรมนั้น ควรได้ บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ 500 คนตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้วสัญชัยปริพาชกได้มีลาภและยศอันเลิศ
โกลิตะพร้อมกับสหาย เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนักไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อนจงบอกแก่อีกคนหนึ่งอุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้สหาย และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด
ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ 7 วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลมุตตคาม ในมคธรัฐ ขณะบำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือ ความท้อแท้และความง่วงครอบงำ ไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้

พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดตรัสบอกอุบายสำหรับระงับความง่วง 8 ประการ คือ

  1. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก
  2. เธอควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ได้ฟังและเรียนแล้วด้วยใจของเธอเอง
  3. เธอควรสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังและเรียนแล้วโดยพิสดาร
  4. เธอควรยอน(แยง) หูทั้งสองข้างและลูบตัวด้วยฝ่ามือ
  5. เธอควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูนักขัตฤกษ์
  6. เธอควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง มีความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีจิตใจแจ่มใสไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิดขึ้น
  7. เธอควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่า จักเดินกลับไปกลับมาสำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก
  8. เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันที่จะลุกขึ้นไว้ในใจ พอตื่นขึ้นแล้วรีบลุกขึ้น

หลังจากนั้นพระพุทธองค์ตรัสสอนให้สำเหนียกในใจอีกว่า
1. จักไม่ชูงวงถือตัวเข้าไปสู่ตระกูล
2. จักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้เถียงกัน อันเป็นเหตุให้พูดมาก
3. จงหลีกออกเร้นอยู่ตามวิสัยของสมณะ

ท่านปรินิพพานเมื่อวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 ณ ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ โดยถูกพวกโจรซึ่งรับจ้างมาจากพวกเดียรถีย์ลอบสังหารถึง 3 ครั้ง จนมาสำเร็จเอาในครั้งที่ 3 โจรทำร่างกายของท่านแหลกละเอียด และปรินิพพานหลังพระสารีบุตร 15 วัน

  • ท่านเปรียบเสมือนแม่นมของพวกภิกษุ คือ เป็นผู้เลี้ยงดูสั่งสอนภิกษุ
  • ท่านถูกโจรทำร้ายและนิพพาน เพราะอดีตกรรมที่เคยทำร้ายพ่อแม่
  • พระศาสดาได้บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน
  • ท่านเป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวัดบุพพารามของนางวิสาขา
  • ท่านพร้อมทั้งพระสารีบุตรช่วยระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในสังฆมณฑลท่านเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
หมายเลขบันทึก: 587506เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท