มาตราการQE




ผลภาพ QE ต่อ ECBเจาะลึกยุโรปหลัง ECB ออกมาตรการ QE

หลังจากรอคอยกันมานาน ในที่สุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ฤกษ์ในการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า QE เสียทีในการประชุม ECB เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่อาจจะพลิกโฉมเศรษฐกิจยุโรปกันเลยทีเดียว

หากจะไล่เลียงกันมาถึงมาตรการของ ECB ที่ดำเนินมาในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ECB ได้พยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยการออกมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ลงมาอยู่ในระดับติดลบ การให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (LTRO) หรือแม้กระทั่งการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Asset Backed Securities และ Covered Bond) แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรป กลับดูไม่ฟื้นตัวสักเท่าไหร่นัก โดย IMF คาดการณ์ว่า GDP ของยุโรปในภาพรวมในปีที่ผ่านมา จะเติบโตได้เพียงแค่ 0.80% เท่านั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรป กลับยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% อย่างต่อเนื่องและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเงินฝืดเมื่อมาตรการยาเบา ที่ทยอยดำเนินมาดูเหมือนจะยังไม่ส่งผล จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ท้ายที่สุดแล้ว ECB ก็ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในลักษณะเดียวกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำมาก่อน โดยในรายละเอียดที่ระบุออกมาคือ ECB จะดำเนินการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ ด้วยวงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559 หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้านยูโร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาเงินฝืด โดยแม้ว่าตลาดจะคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ท้ายที่สุด ECB จะต้องดำเนินมาตรการ QE แน่ๆ แต่วงเงินรวมที่ประกาศออกมา กลับสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนอกจากนี้ ประธาน ECB ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่าจะต้องมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งเมื่อถึงเดือนกันยายนปีหน้าว่าจะดำเนินมาตรการต่อหรือไม่ โดยจะมีการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อหลังจากดำเนินมาตรการไปแล้วผลจากการประกาศมาตรการ QE ของ ECB ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี และส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในภาพรวมของตลาดหุ้นและตลาดการเงินทั่วโลกเป็นไปในเชิงบวก เนื่องจากเป็นการเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่หดหายไปจากการหยุดมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาไปตั้งแต่ช่วง ปี 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากประเมินเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าระบบนับต่อจากนี้ คือ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก ECB รวมกับเม็ดเงินจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะพบว่าใกล้เคียงกับเม็ดเงินของมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาที่สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมาประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนั่นทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกยังคงมีอยู่อย่างพอเพียง ไม่ได้เกิดการขาดหายไปเหมือนอย่างที่นักลงทุนเคยกังวลกันไว้ก่อนหน้า

นอกเหนือไปจากบรรยากาศการลงทุนที่ดูดีขึ้นแล้ว มาตรการ QE ของ ECB ยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีปรับตัวลดลงจากระดับ 0.45 % ก่อนหน้ามาตรการ QE มาอยู่ที่ระดับ 0.38% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศส ปรับตัวลดลงจากระดับ 0.65% มาอยู่ที่ 0.58% เนื่องจากความต้องการมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการซื้อตราสารหนี้ของ ECB ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งจะทำให้ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนที่ลดลง ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของทั้งบริษัทจดทะเบียนและภาคครัวเรือนของยุโรปปรับตัวลง และจูงใจให้มีการกู้ยืมเพื่อจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น และน่าจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะ
ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ การอัดฉีดเม็ดเงินของ ECB ยังส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากประกาศมาตรการ QE ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงกว่า 2%มาสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในยุโรป โดยเฉพาะบริษัทที่มีการส่งออก ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้สูงขึ้น และสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยหากพิจารณาบริษัทจดทะเบียนยุโรปที่อยู่ในดัชนี MSCI Europe แล้ว จะพบว่า กว่า 50% ของรายได้ของบริษัทเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจนอกยุโรป ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินยูโร จึงน่าจะส่งผลบวกต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปให้เติบโตได้ดีขึ้น โดยข้อมูลจากนักวิเคราะห์หลายสำนักได้ประเมินว่าอัตราการเติบโตของผลกำไรบริษัทยุโรปในปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 9-14% ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นยุโรปให้สามารถเติบได้อย่างต่อเนื่องด้วย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในยุโรปจะสวยหรูเพียงอย่างเดียวหลังจากมาตรการ QE ของ ECB เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงหลากหลายปัจจัยที่จะคอยกดดันตลาดให้มีความผันผวนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะสั้น คงหนีไม่พ้นผลการเลือกตั้งของกรีซ ที่ปรากฏว่าพรรคไซรีซ่า ที่ต่อต้านนโยบายการรัดเข็มขัดของธนาคารกลางยุโรปได้รับเสียงข้างมาก และทำให้มีความเสี่ยงที่กรีซจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องเหมือนที่เคยกังวลไปในช่วงที่กรีซได้ประสบกับปัญหาหนี้ใหม่ๆ ในปี 2551 -2552 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวมากนัก เนื่องจากพรรคดังกล่าว ไม่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว และทำให้ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องประนีประนอม และอาจจะเจรจายอมรับเงื่อนไขและอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปต่อ อย่างไรก็ตาม เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปเอง ในปีที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่นัก แต่ดัชนี MSCI Europe ก็สามารถปรับตัวขึ้นมาได้เกือบ 5% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI Europe กลับสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยปรับตัวขึ้นมากว่า 8% ในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน โดยเฉพาะตั้งแต่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการของ ECB อย่างไรก็ดี แม้จะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร และระดับราคาปัจจุบัน ที่ Forward P/E ระดับประมาณ 15 เท่า จะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตแล้ว แต่หากเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี Forward P/E อยู่ที่ระดับ 17 เท่า ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระดับน่าสนใจ เมื่อประกอบกับท่าทีของธนาคารกลางยุโรปที่พร้อมดำเนินมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจเต็มที่ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทยุโรป ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินยูโร ก็ยิ่งทำให้หุ้นยุโรปยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากข้อมูลในอดีตที่สหรัฐอเมริกาเคยดำเนินมาตรการ QE มา และทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยกว่า 23% ภายใน 1 ปีหลังดำเนินมาตรการ QE ก็ทำให้น่าจะคาดหวังได้ว่า ตลาดหุ้นยุโรปน่าจะได้รับปัจจัยบวกในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี จากระดับราคาที่ขึ้นมาค่อนข้างเร็วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการปรับฐาน หรือขายทำกำไรออกมาในระยะสั้น ผู้ลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเข้าลงทุน

แหล่งอ้างอิง: http://www.kasikornasset.com/TH/MarketUpdate/Pages/20150130.aspx

คำสำคัญ (Tags): #qe#ecb
หมายเลขบันทึก: 587503เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2015 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท