เรื่องดีที่ มวล. : นกและต้นไม้


ธรรมชาติรอบๆ บ้านมีความสวยงาม ความสงบ และความสบาย หากมองหาก็จะเห็นความหลากหลายที่น่าสนใจ ทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดความสุข

ต้นไม้และนกเป็นของคู่กัน อาหารส่วนใหญ่ของนกก็อยู่ที่ต้นไม้นี่แหละ เสาร์อาทิตย์ที่ 14-15 มีนาคม 2558 ดิฉันนั่งทำงานอยู่ที่บ้านทั้งวัน จึงถือโอกาสเฝ้าสังเกตนกต่างๆ ไปด้วย อากาศช่วงนี้ร้อน แดดจัด แต่ก็มีลมพัดตลอด ช่วงเวลาเช้าๆ ออกไปเดินในสวน เห็นร่องรอยของน้ำค้างตอนกลางคืนว่าคงมีไม่น้อย เพราะผืนหญ้าเปียกทีเดียว


ต้นไม้ ใบไม้ ยามเช้า


นกแขกเต้า (Red-breasted Parakeet) สามตัวนี้เกาะอยู่ที่ต้นประดู่ริมถนนหลังบ้าน สองตัวเห็นได้ว่ากำลังกินลูกประดู่ อีกตัวไม่รู้ว่ากำลังกินลูกอะไรที่อยู่ในมือ (เท้า) เวลเขากินอาหารมีการใช้มือหยิบใส่ปากหรือถือไว้ด้วย


นกแขกเต้าสองตัวนี้กำลังกินลูกประดู่


นกแขกเต้าตัวนี้กำลังกินลูกอะไรสักอย่าง


ต้นชมพู่ที่หน้าบ้านพัก 2 ต้น เป็นชมพู่คนละพันธุ์กัน ต้นสูงเป็นชมพู่ลูกไม่โตสีชมพู รสชาติจืดๆ ลองกินดอกของเขาก็พบว่ามีรสฝาดชัดเจน ส่วนต้นเตี้ยน่าจะเป็นชมพู่พันธุ์ดี คล้ายชมพู่เพชร เมื่อแก่มีรสหวาน เกสรของดอกมีกลิ่นหอม รสหวาน ฝาดน้อยมาก กินแล้วติดใจ จึงไม่แปลกใจที่ต้นชมพู่จะมีมดทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ไต่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด

คุณลุงที่ดูแลสวนรอบบ้านให้ กวาดใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นเสียจนโล่ง รดน้ำให้สม่ำเสมอ ทำให้ปีนี้ชมพู่ทั้งสองต้นออกดอกและลูกดก เป็นอาหารทั้งของคนและนกนานาชนิด ตั้งแต่อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ บอกว่าเกสรดอกชมพู่พันธุ์อะไรก็กินได้ ดิฉันก็คอยเก็บเกสรที่ใกล้ร่วงแล้วมากินเป็นผักสด เอาไปเชิญชวนให้บรรดาคณบดีสำนักวิชาต่างๆ ลองกินเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่มีการเสวนาคณบดี สังเกตเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครกล้ากินตามดิฉันมากนัก


ดอกชมพู่กำลังบาน สวย หอม และหวาน


นกที่มากินลูกชมพู่บ่อยและมาเยอะคือนกตีทอง (Coppersmith Barbet) เขาเลือกกินลูกแก่ๆ แต่ละครั้งจะกินลูกเดิมเป็นเวลานานๆ จนเราสามารถบันทึกเป็นคลิปวิดีโอได้หลายช๊อต จิกกินที่เดิมซ้ำๆ ลูกชมพู่มักไม่ค่อยจะหล่นจากต้น


นกตีทอง ตัวน้อย น่ารัก


ร่องรอยการกินของนกตีทอง


นกปรอดหน้านวล (Yellow-vented Bulbul) มาเยอะเหมือนกัน เป็นนกที่มาเร็วไปเร็ว บางทีก็บินไล่กันเองหลายตัว ถ่ายรูปไม่ค่อยทัน สมกับคำที่พูดกันว่า "ไวอย่างกับปรอด" พอเห็นเขาเกาะที่กิ่งชมพู่หยิบกล้องถ่ายรูปมาเปิดซูมไม่ทันเสร็จเขาก็บินจากไปเสียแล้ว เขาคงกินลูกชมพู่ เพราะมาแต่ละครั้งจะได้ยินเสียงลูกชมพู่หล่นลงพื้นดินดังตุ๊บตับ ท่าทางคงจะกินไม่เรียบร้อยเท่านกตีทอง บางทีก็เห็นตามไปจิกกินลูกที่หล่นอยู่บนพื้นดิน


นกปรอดหน้านวล


นกปรอดสวน (Streak-eared Bulbul) ก็มาเหมือนกัน


นกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) เสียงเพราะ มักมาจิกกินลูกชมพู่ที่หล่นอยู่บนพื้น เหมือนๆ กับนกเอี้ยง (Myna)


นกกางเขนบ้าน


นกแขกเต้าก็มากินลูกชมพู่ แต่ไม่อยู่กินนานเหมือนที่เขากินลูกตะแบก ไปดูร่องรอยที่เขากินบนลูกชมพู่ก็ไม่มากมาย สงสัยเขากินแล้วไม่อร่อย


นกแขกเต้า (ตัวผู้) มากินลูกชมพู่ (ต้นสูง)



ร่องรอยการกินของนกแขกเต้า


นกกินปลีอกเหลือง (Olive-backed Sunbird) มาดูดกินน้ำหวานจากดอกชมพู่ที่บานแล้ว ที่โคนดอกจะมีน้ำหวานรสชาติอร่อย นกชนิดนี้ก็มาเร็วไปเร็ว เวลาที่เกาะอยู่กับที่นับได้ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ถ่ายรูปลำบากเพราะตัวเขาเล็ก


นกกินปลีอกเหลือง (ตัวเมีย) กำลังดูดกินน้ำหวานในดอกชมพู่


ธรรมชาติรอบๆ บ้านมีความสวยงาม ความสงบ และความสบาย หากมองหาก็จะเห็นความหลากหลายที่น่าสนใจ ทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดความสุข


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 587449เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2015 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2015 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่ารักมากครับ...ผมได้เรียนรู้เรื่องนก...และธรรมชาติมากๆ กับบันทึกอาจารย์นะครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะคุณทิมดาบ อยู่กับธรรมชาติมีความสุขดีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท