สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๕. AAR (จบ)



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๕ นี้ เป็นการ AAR ของผม หลังจากเขียนบันทึกนี้ครบ ๓๕ ตอน และอ่านหนังสือเล่มนี้หลายเที่ยว

หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มืออย่างดีสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย ในระดับมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นอาจารย์สอน ในระดับปริญญาตรี

มีเครื่องมือหลากหลายชนิด สำหรับให้เลือกใช้ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของนักศึกษา ให้พร้อมต่อการเรียนอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งเมื่ออ่านแล้วผมก็ประจักษ์ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยในสมัยนี้ ไม่ว่าในประเทศใด มีนักศึกษาที่พื้นฐานอ่อน ต้องการการซ่อมเสริมหรือช่วยเหลือ มากอย่างไม่น่าเชื่อ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็เห็นว่า เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องเผชิญสภาพนั้น และใช้กุศโลบาย และเทคนิควิธีการต่างๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ในการอำนวยให้นักศึกษาเรียนได้สำเร็จ

ผมคิดว่า หากอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะตามที่ระบุในหนังสือเล่มนี้ นักศึกษาจะได้รับประโยชน์เป็นอันมาก โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนระดับกลางๆ และที่เรียนอ่อน เพราะในหนังสือเล่มนี้มีวิทยายุทธสำหรับอาจารย์ใช้ "ดึงดูด" (engage) นักศึกษาเข้ากับการเรียน มากมาย

ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ นักศึกษาที่อ่านก็จะ ได้ประโยชน์ด้วย เพราะจะได้เรียนรู้วิธีเรียน สำหรับใช้ปรับปรุงวิธีเรียนของตนเอง ผมหวนกลับไปทบทวน สมัยกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว สมัยผมเป็นนักเรียนและนักศึกษา ได้พยายามหมั่นสังเกตวิธีเรียนของคนเรียนเก่งๆ และหาหนังสือว่าด้วยวิธีเรียนมาศึกษา คิดว่าตอนนั้นหากได้อ่านหนังสือที่ดีขนาดนี้ คงช่วยการเรียนของผม ได้มาก

วิธีการในหนังสือที่ผมประทับใจมีหลากหลายตอน แต่วิธีที่อาจจะตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วๆ ไป คือการบรรยาย หนังสือเล่มนี้บอกว่า อาจารย์สามารถทำให้การเรียนจากการฟังการบรรยายเป็น active learning ได้ ดังในบันทึกนี้

ผมมีความเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำหน้าที่อาจารย์ คือการสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน ให้แก่นักศึกษา หากนักศึกษามีแรงบันดาลใจแล้ว เขาจะสนใจใฝ่รู้และเสาะแสวงหาเอง ดังนั้นบันทึกที่ผมคิดว่ามีคุณค่ามากที่สุดตอนหนึ่งคือ ตอนที่ ๖ สร้างแรงจูงใจให้แก่นักศึกษา

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เหมาะต่ออาจารย์ที่มีลูกศิษย์ที่ไม่ตั้งใจเรียนจำนวนมาก คือ สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี ที่นี่



วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 587247เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2015 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2015 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท