การตรวจดี.เอ็น.เอ. (DNA) หรือ การตรวจสารพันธุกรรม เพื่อพิสูจน์ความเป็นสายเลือดเดียวกัน


การตรวจดี.เอ็น.เอ. (DNA) หรือ การตรวจสารพันธุกรรม เพื่อพิสูจน์ความเป็นสายเลือดเดียวกัน

9 มีนาคม 2558

ความหมายนิติวิทยาศาสตร์

วิทยาการสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพิสูจน์ตรวจหาญาติพี่น้อง หรือ เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคลในทาง "นิติวิทยาศาสตร์" (Forensic Science) [1] เป็นการนำเอาวิชาความรู้ในทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน ตรวจร่างกายและวัตถุพยานเพื่อช่วยในการค้นหาความจริง มักเป็นการใช้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ กายภาพ เคมี คอมพิวเตอร์ และกีฏวิทยา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน และดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อช่วยกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์หลักฐานและชี้ นำไปสู่ผู้กระทำความผิดอาญา

หรือ "นิติเวชคลินิก" (Clinical Forensic) [2] เป็นสาขาย่อยของนิติวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยการตรวจร่างกายและให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นผู้เสียหายหรือผู้ป่วยคดี เช่นถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส หรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์

หรือ "นิติเวชวิทยา" หรือ "นิติเวชศาสตร์" (Forensic Medicine) [3] มาจากคำว่า "Forensic" ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายความถึงข้อตกลงที่มีการพิพาทกันทางกฎหมาย และคำว่า "Medicine" หมายถึงวิชาทางด้านการแพทย์ ซึ่งหมายความรวมถึงแพทย์ศาสตร์หรือเวชศาสตร์อีกด้วย

"นิติเวชศาสตร์" หมายถึง วิชาแพทย์ที่นำมาใช้หรือเกี่ยวข้องกับงานทางด้านกระบวนการยุติธรรม ในพจนานุกรมกฎหมายของแบลค (Black's Law Dictionary) ให้ความหมายของคำว่า Forensic Medicine ดังนี้ "That science which teaches the application of medical knowledge to the purpose of law" [4]

มีคำศัพท์ที่สำคัญอีกคำคือ "การตรวจพิสูจน์บุคคล" (biometrics) [5] คือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ว่าบุคคลมีชีวิต ศพ เศษชิ้นส่วนของศพ โครงกระดูก เศษชิ้นส่วนกระดูก เลือดหรือเนื้อเยื่อ ตลอดจนคราบต่าง ๆ ที่เกิดจากเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งจากมนุษย์ เป็นใครหรือเป็นของใคร ความรู้ทางด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการระบุตัวของศพหรือบุคคลวิกลจริตหรือหมดสติ และยังนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อยืนยันตัวบุคคลผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่ง การตรวจพิสูจน์บุคคล (Identification) ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล ได้แก่ การตรวจพิสูจน์ยืนยันด้วยเอกลักษณ์ลายพิมพ์นิ้วมือ เอกลักษณ์ฟัน หรือเอกลักษณ์ ดี.เอ็น.เอ. (DNA)


DNA คืออะไร [6]

สิ่งมีชีวิตมี ดี.เอ็น.เอ. (Deoxybribo Nucleic Acid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมและสามารถถ่ายทอดข้อมูลพันธุกรรมนี้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ดี.เอ็น.เอ. เปรียบเสมือนหนังสือคู่มือในการสั่งให้สร้างคุณขึ้นมา โดยปรกติแล้ว ดี.เอ็น.เอ. ส่วนใหญ่ของคนเราจะเหมือนกันในแต่ละคนเช่นจะมีลักษณะ สองตา สองหู หนึ่งจมูก แต่มันจะมีตัวแปรบางตัวแปรจำนวนหนึ่งของ ดี.เอ็น.เอ. ที่ทำให้เราดูแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะอย่างนี้ ดี.เอ็น.เอ. จึงสามารถใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคล อย่างที่เรามักจะเห็นตามรายการทีวีที่บางครั้งตำรวจใช้หลักฐานทาง ดี.เอ็น.เอ. มัดตัวผู้ร้ายที่ได้ทิ้งร่องรอยของ ดี.เอ็น.เอ. ตนเองไว้ที่เกิดเหตุ

ในร่างกายมนุษย์จะประกอบไปด้วยเซลทั้งหมด 46 โครโมโซม หรือ 23 คู่ ในจำนวนนี้จะมีโครโมโซมหนึ่งคู่ที่บ่งบอกเพศ เพศหญิงจะมีโครโมโซม X สองตัว ส่วนผู้ชายจะมีโครโมโซม X 1หนึ่งตัว และ Y หนึ่งตัว ส่วนอีก 22 คู่ที่เหลือคือออโต้โซม ซึ่งจะเป็นโครโมโซมที่ไม่เกี่ยวกับการระบุเพศ ดี.เอ็น.เอ. จะมีอยู่ในเซลทุกเซลของร่างกายไม่ว่าจะเป็นเซลที่กระพุ้งแก้ม ผิวหนัง เม็ดเลือดขาว หรือเส้นรากผม ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมลักษณะ รูปร่างตลอดจนกำหนดหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆของสิ่งมีชีวิตนั้น รหัสของ ดี.เอ็น.เอ. จึงทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละหน่วยมีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตหน่วยอื่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนกัน

ดี.เอ็น.เอ. มีรูปร่างเป็นเกลียวคู่ เสมือนบันไดเวียนที่บิดตัว มีตัวบันไดเป็นการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ประกอบด้วยน้ำตาล ฟอสเฟต และเบส ซึ่งเบสจะมีอยู่ 4 ชนิด คือ อะดินิน (Adenine,A) ไทมีน (Thymine,T) ไซโตซีน (Cytosine,C) และกัวนีน (Quanine,Q) ขาของบันไดคือ การเชื่อมต่อของเบสของนิวคลีโอไทด์ โดยเบส A เชื่อมต่อกับเบส T และเบส C เชื่อมกับเบส G การเรียงตัวของเบส คือ ข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

ลายพิมพ์ ดี.เอ็น.เอ. มีความแตกต่างกันคือมีความหลากหลายมาก ตัวอย่างที่เก็บมาได้ เช่นตัวอย่างเซลกระพุ้งแก้มเลือด หรือเส้นผม เมื่อนำมาสกัดเชื้อ ดี.เอ็น.เอ. แล้ว แม้จะมีจำนวนน้อยก็สามารถนำมาเพิ่มจำนวน โดยทำปฏิกิริยาเพิ่มปริมาณ ดี.เอ็น.เอ. ตรงบริเวณที่มีท่อนของ ดี.เอ็น.เอ. ซ้ำ ๆ เรียกบริเวณนี้ว่า Short Tandem-Repeat (STR)

ดี.เอ็น.เอ. ในแต่ละตำแหน่งสามารถบ่งบอกถึงข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคลได้เพราะสิ่งมีชีวิตมีลายพิมพ์ ดี.เอ็น.เอ. แตกต่างกัน ยกเว้นฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันซึ่งจะมี ดี.เอ็น.เอ. ที่เหมือนกัน

การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. คือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวที่จะสามารถพิสูจน์และไขข้อข้องใจต่างๆของความสัมพันธ์ทางสายเลือด


สารพันธุกรรม DNA เป็นอย่างไร

สาร DNA (deoxyribose nucleic acid) เป็นสารประกอบที่ประกอบด้วยอณูของนิวคลีโอไทด์ (nucleotide) หลายๆอณูมาต่อกันนิวคลีโอไทด์ประกอบขึ้นจากน้ำตาลริโบส (deoxyribose sugar) อณูของโปรตีน (purine and pyridine) ยึดต่อกันเป็นเส้นยาวด้วยอณูของฟอสฟอรัส เป็นสายยาวเป็นร้อยเป็นพันล้านตัว สายนิวคลีโอไทด์สองเส้นจะต่อกันด้วยอณูของเพียวรีน (purine) และไพริดีน (pyridine)เป็นสายคู่ยาวเรียกว่าโครโมโซม (chromosome) การเรียงตัวของ DNA ในแต่ละเส้นนิวคลีโอไทด์ในแต่ละคนจะไม่มีซ้ำกันยกเว้นในฝาแฝดที่เกิดจากไข่ ใบเดียวกัน [7]

ซึ่ง DNA เป็นสารพันธุกรรม ซึ่งพบอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย DNAที่อยู่ในนิวเคลียสจะได้รับถ่ายทอดครึ่งหนึ่งมาจากพ่อ และอีกครึ่งหนึ่งจากแม่ DNA จะไม่ซ้ำกันยกเว้นในกรณีแฝดที่มาจากไข่และอสุจิตัวเดียวกัน หรือที่เรียกว่าแฝดแท้นั่นเอง และพี่น้อง พ่อแม่เดียวกันก็จะไม่มี DNA ที่ไม่เหมือนกันด้วย [8]


คำอธิบายการพิสูจน์สายเลือดโดย DNA [9]

เราคงได้ยินข่าวเรื่องการตรวจ DNA เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด หรือพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะของบุคคลอยู่บ่อยครั้ง แต่อีกหนึ่งความสามารถของ DNA ก็คือ การตรวจ DNA เพื่อรับรองบุตรว่า เด็กที่เกิดมาเป็นสายเลือดของใคร

DNA หรือ Deoxyribo Nucleic Acid (ดีออกซิไรโบ นิวคลีอิค เอซิด) เป็นสารพันธุกรรมในนิวเคลียส ที่ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น DNA จึงเปรียบเสมือนประวัติส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่ถูกกำหนดขึ้น นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์มารดา เพราะ DNA ในแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากจะได้รับลักษณะทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่อย่างละครึ่ง แล้วมารวมกันเป็น DNA เฉพาะตัวของลูกนั่นเอง แต่ก็ยังมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนพ่อแม่ปรากฏให้เห็นอยู่

เช่นนั้นแล้ว เมื่อลูกได้รับ DNA ของพ่อและแม่มาอย่างละครึ่ง จึงเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชั้นดีในการพิสูจน์บุคคลว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพื่อจะได้หมดข้อสงสัยใด ๆ โดยการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา เรียกว่า "DNA Paternity Testing"


การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์ความเป็นสายเลือดเดียวกัน[10]

ในยุคปัจจุบันนี้เรื่องการสืบหาความเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง หรือสืบเชื้อสายว่ามีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดหรือไม่นั้น คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยความที่เรามีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปมาก จึงสามารถหาคำตอบได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และมีผลค่อนข้างแม่นยำ นั่นก็คือวิธีการตรวจหา DNA ในแต่ละประเภท คือ

1. การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา [11]

2. การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นมารดา

3. การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นพี่น้อง [12]

4. การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นฝาแฝด


การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา [13]

หรือที่เรียกว่า DNA paternity testing เป็นเทคนิคการตรวจ ดี.เอ็น.เอ. ชนิด หนึ่ง ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จุดประสงค์หลักเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อ-ลูก ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น และต้องการหลักฐานทางพันธุกรรมเข้ามาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา อาศัยหลักการที่ว่า ดี.เอ็น.เอ. ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของลูก ครึ่ง หนึ่งจะมาจากพ่อ และอีกครึ่ง หนึ่งมาจากแม่

การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา อาจใช้วิธีตรวจจากเลือด หรือตรวจจากเซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้มก็ได้ โดยนำสิ่งส่งตรวจไปที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการสกัด ดี.เอ็น.เอ. ผ่านขั้นตอนกระบวนกรรมวิธีทำให้ ดี.เอ็น.เอ. เป็นสารบริสุทธิ์ จากนั้นเตรียม ดี.เอ็น.เอ. ที่สกัดได้ นำมาทำการทดสอบกับชุดทดสอบที่เรียกว่า DNA markers จำนวน 16 ชุด ผลที่ได้จะเป็นแบบแผนสารพันธุกรรมของสิ่งส่งตรวจ เมื่อนำแบบแผนสารพันธุกรรมของสิ่งส่งตรวจทั้งหมดมาเปรียบเทียบกันแล้ว ทางห้องปฏิบัติการสามารถใช้การวิ เคราะห์ทางสถิติคำนวณความน่าจะเป็น ซึ่งเรียกว่า probability of paternity


ตรวจ ดี.เอ็น.เอ. ที่ รพ. ตำรวจอยู่ในส่วน ของ สถาบันนิติเวชวิทยา การตรวจแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ [14]

1. ตรวจส่วนตัว เป็นการตรวจเพื่อขอทราบว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ (ไม่ใช้เอกสารใดๆ แต่ผลการตรวจนั้นไม่สามารถนำไปใช้ในทางกฎหมายหรือการรับรองบุตรใดใดทั้งสิ้น)

2. ตรวจเป็นทางการ เป็นการตรวจเพื่อขอทราบว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และเอกสารสามารถนำมาใช้ในการรับรองบุตร, ขอมีถิ่นที่อยู่, ใช้ในศาล, แจ้งทะเบียนราษฎร์ ขอมีบัตรประชาชน ฯ, อื่นๆทางราชการ ฯลฯ


การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด [15]

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ให้บริการตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แบ่งเป็น 5 ประเภท

1. การตรวจพิสูจน์บุตร 2. การตรวจพิสูจน์พี่-น้อง 3. การตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดด้านมารดา 4. การตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดด้านบิดา 5. การตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดประเภทที่เป็นญาติห่าง ๆ ไม่สามารถ เชื่อมโยงโดยทางแม่หรือพ่อ


สถานที่รับตรวจ DNA ในกรุงเทพฯ (2553) คือ [16]

1.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

2.สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานกรมตำรวจแห่งชาติ รพ. ตำรวจ ติดต่อที่ อาคารสัจธรรม ชั้น 4 งานตรวจพิสูจน์บุคคลฯ ตรวจหาความสัมพันธ์อื่นๆ หรือมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อ 02-2512925-26

3.ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

4.หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 270 ถนนพระราม 6 แขวง ทุ่งพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพฯ

5.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ส่วนที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ก็สามารถรับตรวจ DNA ได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนจะส่งตัวอย่าง DNA มาให้แล็บของรัฐตรวจสอบอยู่ดี

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลทุกมหาวิทยาลัย สามารถตรวจ ดี.เอ็น.เอ. ได้ เช่น ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รพ.ศรีนครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รพ.มหาราช, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รพ.สงขลานครินทร์ หน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา เป็นต้น

ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ ผู้จะขอรับการตรวจต้องเดินทางไปตรวจพิสูจน์ ณ สถานที่แห่งนั้นเท่านั้น ไม่สามารถส่งตัวอย่างตรวจผ่านทางไปรษณีย์ได้ เพื่อป้องการผลที่ผิดพลาด และการฟ้องร้องภายหลัง โดยทั่วไปใช้เวลาการตรวจ DNA นาน 5-7 วัน


ค่าตรวจ ดี.เอ็น.เอ. [17]

ตรวจหาความสัมพันธ์ พ่อ-แม่-ลูก คนละ 3,000 บาท รวม 3 คน 9,000 บาท

ตรวจหาความสัมพันธ์ พ่อ-ลูกผู้ชาย คนละ 6,000 บาท รวม 2 คน 12,000 บาท

ตรวจหาความสัมพันธ์ พ่อ-ลูกผู้หญิง คนละ 3,000 บาท รวม 2 คน 6,000 บาท (ผลไม่ยืนยัน 100%)

ตรวจหาความสัมพันธ์ แม่-ลูก(หญิงและชาย) คนละ 8,000 บาท รวม 2 คน 16,000 บาท

ตรวจหาความสัมพันธ์ พี่น้อง คนละ 8,000 บาท รวม 2 คน 16,000 บาท


ค่าตรวจวิเคราะห์ [18]

เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางมารดาและบุตร ประมาณ 5,000 บาท

เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางบิดา, มารดาและบุตร ประมาณ 6,500 บาท


[1] http://th.wikipedia.org/wiki/นิติวิทยาศาสตร์

[2] http://th.wikipedia.org/wiki/นิติเวชคลินิก

[3] http://th.wikipedia.org/wiki/นิติเวชศาสตร์

[4] รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร. พัชรา สินลอยมา, "นิติเวชศาสตร์", ในเวบบ้านจอมยุทธ, http://www.baanjomyut.com/library_3/extension-1/forensic_medicine/index.html

[5] http://th.wikipedia.org/wiki/การตรวจพิสูจน์บุคคล

[6] DNALabs, http://www.dnalabsthailand.com/index.php?mo=10&art=42192351 & http://www.dnalabsthailand.com/

[7] พลตำรวจตรี เลี้ยงหุยประเสริฐ, ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, "บทที่ 4 การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (Identification)", http://www.ifm.go.th/ifm-book/ifm-textbook/142-identification.html &"คำถามที่พบได้บ่อยๆ",DNA Diagnostics Centre 2009, http://www.ddc-thailand.com/faq.php

[8] "ไปดูวิธีการตรวจ DNA เทคนิคพิสูจน์สายเลือด", 22 กันยายน 2553, www.khanpak.com/content/8545/

[9] "ตรวจ DNA คำตอบสุดท้ายของการพิสูจน์พ่อลูก", 22 กันยายน 2553, http://health.kapook.com/view17162.html

[10] "สืบหาความเป็นสายเลือดเดียวกัน (DNA) ไม่ใช่เรื่องยาก", 23 สิงหาคม 2556,

http://club.sanook.com/7614/สืบหาความเป็นสายเลือดเ

[11] การตรวจดูความเป็นบิดาเพื่อความสบายใจ, http://www.ddc-thailand.com/service_paternity_test.php &การตรวจสอบความเป็นบิดาทางกฎหมาย, การตรวจดีเอ็นเอดูความเป็นบิดาตามกฎหมาย,

http://www.ddc-thailand.com/service_court_paternity.php

[12] การตรวจสอบความเป็นพี่น้อง, การตรวจดีเอ็นเอเพื่อดูความเป็นพี่น้อง, http://www.ddc-thailand.com/service_siblingship.php

[13] นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ, "การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา", ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ, http://www.bangkokhealth.com/bhr/th/content_print.php?id=2223 & "รอผลการตรวจ DNA เผื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อลูก", 18 กันยายน 2553, http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3171 &"DNA ในการพิสูจน์พ่อ แม่ ลูก", 25 มีนาคม 2552, http://nampadlab.igetweb.com/index.php?mo=14&newsid=79430

[14] พูดคุยภาษากฎหมาย, 20 มกราคม 2557, https://www.facebook.com/Athena.thai.law/posts/699378843416002

[15] สำนักงานกฎหมายไพบูลย์ คอนซัลแตนท์, "การตรวจดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด", https://m.facebook.com/notes/สำนักงานกฎหมายไพบูลย์-คอนซัลแตนท์/การตรวจดีเอ็นเอ-dna-เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด/541974742526783/?_ft_

[16] "ตรวจ DNA คำตอบสุดท้ายของการพิสูจน์พ่อลูก", อ้างแล้ว.

[17] พูดคุยภาษากฎหมาย, อ้างแล้ว.

[18] เฉพาะที่ส่งตรวจที่ หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 270 ถนนพระราม 6 แขวง ทุ่งพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพฯ ส่งตรวจที่อื่นๆราคาอาจแตกต่างไปจากนี้

หมายเลขบันทึก: 587201เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2015 01:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2018 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท