ชนเผ่าตองเหลืองชนเผ่าลึกลับของจังหวัดแพร่น่าน


ผีตองเหลืองชนเผ่าลึกลับ

4 มีนาคม 2558

ข้อมูลปัจจุบันของชนเผ่า "ชนเผ่าตองเหลือง" พอประมวลโดยย่อดังนี้

เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ดั้งเดิม เป็นกลุ่มชนเร่ร่อนไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เรียกตัวเองว่า "ยำบรี" หรือ "มระบรี" หรือ "มลาบรี"(Mlabri)

DT.H Barnatzik ชาวออสเตรียสำรวจพบ ชนเผ่าตองเหลือง เมื่อปี 2479 ในดงทึบเขตจังหวัดน่าน และคณะสำรวจของนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ค้นพบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2505 ที่ริมห้วยน้ำท่า ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดน่าน

เป็นชนเผ่าหนึ่งที่เดิมอาศัยอยู่เขตชุ่มชื้น ความลาดของไหล่เขาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราวๆ 3,000 ฟุตขึ้นไป และตั้งที่พักใกล้แหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคตลอดจนสามารถหา กุ้ง ปู ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ มาประกอบเป็นอาหารได้

ถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตจังหวัดไซยะบุรี ประเทศลาว ในอดีตเคยอยู่กระจายกันในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่เชียงรายน่านแพร่อุตรดิตถ์และเลย แต่ปัจจุบัน ชนเผ่าตองเหลืองอาศัยอยู่ในสองจังหวัดของประเทศไทยเท่านั้น คือ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน รวม 63 หลังคาเรือน และมีประชากรรวม 276 คน

ชนเผ่าตองเหลืองมีรูปร่างเล็ก แข็งแรง ผิวคล้ำ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เคยมีกลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์ไปทำการเจาะเลือดชนกลุ่มนี้ และนำมาตรวจดู ปรากฏเลือดกลุ่มเอทั้งสิ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแต่งงานของชนเผ่าตองเหลืองจะมีอยู่ในเผ่าของตนเท่านั้น

การแต่งกายที่เป็นจุดเด่น คือ ชายนุ่งผ้าเตี่ยวเล็ก ๆ เพียงผืนเดียว ไม่ใส่เสื้อ ส่วนผู้หญิงก็มีเสื้อผ้าสวมใส่เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่น ๆ ใช้ผ้าถุง และสวมเสื้อแบบคนไทย ต่อมาชนเผ่าตองเหลืองส่วนหนึ่งได้ออกจากป่า มารับจ้างทำงานให้กับคนไทย และชาวเขาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยของเขา ซึ่งจะได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเป็นเงินและสิ่งของเครื่องใช้

การดำรงชีวิตของชนเผ่าตองเหลือง ขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือใหญ่รวมทั้งหนู งู เม่น และผึ้งป่า สำหรับผักก็เป็นจำพวกถั่ว ลูกไม้และรากไม้ที่ขุดหามาได้พวกเขาไม่เคยทำไร่ไถนาและไม่เคยปลูกพืชผักใดๆ อาวุธที่ ชนเผ่าตองเหลือง ใช้คือหอกด้ามยาวซึ่งใช้แทงเท่านั้น ชอบติดต่อแลกเปลี่ยนของป่ากับชาวเขาเผ่าม้ง(แม้ว) และมักถูกเอาเปรียบจากนายจ้างซึ่งเป็นชาวม้ง

มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลึกลับ เช่น ภูตผีปีศาจ และวิญญาณต่างๆ ได้รับการปลูกฝังจากบรรพชน ว่าหากอยู่เป็นหลักแหล่งโดยไม่โยกย้ายไปไหน ผีร้ายจะส่งเสือให้มาคร่าทำลาย จึงต้องย้ายที่อยู่เกือบทุก 5 – 10 วัน ฉะนั้นที่พักจึงเป็นเพิงหมาแหงน ไม่มีการยกพื้น และปลูกแคร่คร่อมดิน


การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนเผ่าตองเหลืองในปัจจุบัน

นายบุญยืน สุขเสน่ห์ เข้ามาที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ชนเผ่าตองเหลืองให้ดีขึ้น จัดการหาที่อยู่อาศัย ขอสัญชาติไทย สอนให้ดูแลตัวเองด้านสุขลักษณะ สอนทำเกษตร ปลูกข้าว ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายไปหากินในป่า สอนให้รู้หนังสือ และหาอาชีพการทำเปล เพื่อเป็นรายได้เสริมที่สามารถนำมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้

ต่อมาในปี 2543 นายบุญยืน สุขเสน่ห์ ได้ประสานงานกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.แพร่ เพื่อทำการฝึกอาชีพการทำแปลให้กับชนเผ่าตองเหลือง เพื่อให้มีอาชีพหลัก โดยโครงการนี้จะออกทุนและหาวัตถุดิบให้ พร้อมกับหาตลาดเพื่อจัดจำหน่าย ปัจจุบันดำเนินการในรูปของบริษัทมลาบรี แพร่-น่าน จำกัด


ประสบการณ์และความทรงจำในชนเผ่าตองเหลือง

เมื่อสมัยยังเด็ก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับชนผ่าหนึ่งที่คนเมือง (ชาวไทยภาคเหนือ)เรียกว่า "ผีตองเหลือง" หรือ "ชนเผ่าตองเหลือง" ในเรื่องความลึกลับ คนเผ่าที่ไม่ชอบพบหน้าคน คนสกปรก ไม่อาบน้ำ ฯ และยกตัวอย่างเล่าขานให้เด็ก ๆ ฟังถึงความน่ากลัว ความลึกลับมาตลอด ชนเผ่านี้ ในสมัยก่อนโน้นจะอาศัยอยู่ในป่าดง ป่าลึก ในเขตป่าเขาของจังหวัดแพร่(เขตตะวันออก)ที่ติดต่อกับเขตจังหวัดน่านฝั่งอำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น และอำเภอเวียงสา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเขตประเทศลาว แขวงไชยะบุรี ที่มีสภาพเป็นป่าเขาดงดิบ


ต่อมาเมื่อราวประมาณปี พ.ศ. 2534-2538 ผู้เขียนจึงได้เข้าไปสัมผัสชีวิตจริง ๆ ของ "ชนเผ่าตองเหลือง" โดยได้มีโอกาสเข้าไปพบ ไปศึกษา ที่ป่าเขา บ้านห้วยฮ่อม (หรือที่เรียกว่าบ้านบุญยืน) ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ได้พูดคุยศึกษากับนายบุญยืน สุขเสน่ห์ (Mr.Eugene Robert Long) ชาวอเมริกันผู้พาครอบครัวมาอยู่ประเทศไทยเมื่อปลายปี 2521 เป็นผู้อุทิศตนเพื่อการพิทักษ์รักษาชนเผ่า "ผีตองเหลือง" ไว้เพื่อให้โลกได้รับรู้และรักษาวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ของพวกเขาเหล่านั้นไว้ จนกระทั่งสามารถพูดภาษาตองเหลืองได้เป็นอย่างดี ให้ความรู้ สอนชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพยายามไม่ให้ย้ายถิ่นฐาน โดยการหางานให้ทำไม่ว่าจะเป็นปลูกป่า ปลูกผลไม้


ต่อมาราวปลายปี 2537 ถึงต้นปี 2538 ผู้เขียนได้เป็นหนึ่งในทีมงานเพื่อสำรวจและลงประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงตามโครงการของกรมการปกครอง ที่บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยการเข้าไปพักค้างแรมในป่าเขาอันเป็นแหล่งชุมชนที่อยู่ของชาวเขา 3 พวก คือ ชาวเขาเผ่าม้ง(แม้ว) ชาวเขาเผ่าเย้า และ ชนเผ่า "ตองเหลือง" หรือที่ชาวพื้นบ้านเรียกเขาว่า "ผีตองเหลือง"


ผู้เขียนได้มีโอกาสคลุกคลีรอนแรมในป่าเขา เหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ได้รอนแรมในป่าเขาช่วงปี 2531 - 2534 ในเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ผิดแผกแตกต่างกันเท่าใด (ในเขตพื้นที่อำเภออมก๋อย มีชนเผ่ากะเหรี่ยง (2 กลุ่มย่อยคือ กะเหรี่ยงโปว์ อยู่ในเขตตอนเหนือ และกะเหรี่ยงสะกอว์อยู่ตอนใต้) เผ่ามูเซอ เผ่าลีซอ และเผ่าม้ง (ทั้งกลุ่มม้งน้ำเงิน และกลุ่มม้งขาว ที่บ้านแม่เทย ตำบลแม่ตื่น) เพียงแต่ได้สัมผัสกับกลุ่มชนเผ่าเพิ่มใหม่อีก 2 กลุ่ม คือ ชาวเขาเผ่าเย้า และ ชนเผ่า "ตองเหลือง" นอกจากเผ่าม้ง


มีเรื่องเล่าจากการสัมภาษณ์ ไล่เรียงบิดา มารดา และอายุ พบว่า ชายเผ่าตองเหลืองบางคน เอาบุตรสาวของตนเป็นภรรยา และในการไล่เรียงอายุเด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็ตาม ต้องใช้วิธีไล่เรียงตามขนาดลำตัวของเด็กเป็นหลัก เพราะมิฉะนั้นจะไล่อายุเด็กไม่ได้เลย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ต้องไล่เรียงสอบทวนกับพยานอื่นที่เป็นคนใกล้ชิดประกอบด้วย เช่น เด็กชาย ก อายุประมาณ 3-5 ขวบ (ดูจากขนาดลำตัวของเด็ก) ต้องถามกับคนใกล้ชิดที่รู้เห็นการเกิดว่า ตอนขณะเด็กเกิด คนให้ข้อมูลอายุเท่าใด (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้อายุแน่นอน ต้องประมาณเอา) เพื่อมาสอบทานกับอายุของเด็กเพื่อให้ใกล้เคียงความจริง ปัญหาที่ร้ายสุด ๆ ก็คือ การเกิดคลอดบุตรเอง มีคนรู้เห็นเพียงบิดาหรือมารดาสองคน และต่อมาบิดาได้ตายไป ทำให้การสันนิษฐาน บันทึกรายการอายุที่ใกล้เคียงความจริงยุ่งยากมาก หากเป็นบุตรพี่น้องที่มีลำดับไล่เลี่ยกัน ก็จะไล่เรียงอายุไม่ยุ่งยาก แต่หากเป็นบุตรที่มีอายุห่างกันมาก ๆ หลายปีกรณีนี้จะไล่เรียงอายุที่แท้จริงไม่ค่อยถูกต้อง


ความประทับใจมีไม่รู้ลืม เมื่อครั้งการลงประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงชนเผ่า "ตองเหลือง" ที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก สับสน อลวน และเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารภาษา และภาษาที่ใช้ต้องใช้ภาษา "คำเมือง" (หรือภาษาของชาวไทยภาคเหนือ) เท่านั้น ภาษาอื่นใช้ไม่ได้ ล่ามที่ใช้ก็ต้องเป็นชนเผ่าตองเหลืองที่สื่อสารภาษาคำเมืองได้เท่านั้น มีความยุ่งยากมากในการซักประวัติ ไล่เรียงชื่อบิดา มารดา พี่น้อง ภริยา บุตร ปีเกิดบุตร จำนวนบุตร การพิมพ์ลายนิ้วมือ และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องอดทนต่อกลิ่นตัวที่เหม็นสาบ ยอมรับว่าเหม็นสาบมาก ๆ จนอดทนไม่ได้ เจ้าหน้าที่ด่านแรกที่สัมภาษณ์ต้องอดทนมาก ๆ จนกระทั่งชินจึงจะอยู่ต่อได้ จำได้ว่าทำทะเบียนชนเผ่าตองเหลืองถึงสองวันเต็ม ๆ แม้ว่าจำนวนคนจะไม่มาก แต่ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากดังกล่าวแล้ว ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ผู้เขียนยังไม่ได้มีโอกาสไปสำรวจตรวจสอบผลงานเมื่อครั้ง 20 ปีก่อนว่า ชนเผ่าตองเหลืองที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติฯไว้ ได้รับ "การเพิ่มชื่อ" ในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ในฐานะบุคคล "สัญชาติไทย" หมดครบกันทุกคนหรือยัง


อ้างอิง

พิมพา นาคกัน, "คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา...บุญยืน...มิชชันนารีที่เกิดมา...เพื่อชนเผ่าตองเหลือง",

www.fpmconsultant.com/manager/spman/290.doc &

http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?SelectSpeed=256k&id=18368 &

http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=77


โชคชัย พนมขวัญ และ ทวีศักดิ์ สุขเกษม, "เปิดประตูสู่โลกกว้างของชนเผ่า 'ชนเผ่าตองเหลือง' กับการได้มาซึ่งสิทธิ ในวันนี้ชีวิตเปลี่ยนไป", ในเดลินิวส์, 25 มกราคม 2551, http://www.hilltribe.org/thai/webboard/main.php?board=002283&topboard=3


"ชนเผ่าตองเหลืองชาติพันธุ์ล้านนา", เว็บไซต์ล้านนาคดี เขียนโดย njoy, 10 มีนาคม 2551,

http://lanna.mju.ac.th/มหาวิทยาลัยแม่โจ้ & http://www.openbase.in.th/node/6445


"มลาบรี หรือตองเหลือง", ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 25 เมษายน 2554,

http://www.m-culture.in.th/moc_new/2011/04/มลาบรี-หรือตองเหลือง/


"ชนเผ่าตองเหลืองMlabri", http://www.mhsdc.org/interest110.htm


"ชนเผ่าตองเหลือง", บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน,

http://www.creativetourism.com/c_articles/detail_articles/ชนเผ่าชนเผ่าตองเหลือง/28.html

“เที่ยวชมชนเผ่าเมี่ยน แวะแอ่วผีตองเหลืองกับเหล่ามิตรสหายแม่สายลม”, ในเทรคกิ้งไทยดอทคอม, 23 มีนาคม 2553, http://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=46&topic_no=203234&topic_id=205840&page=2


หมายเลขบันทึก: 587065เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2015 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2015 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท