ครูเพ็ญศรี กานุมาร : การพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานบนฐานบริบทโรงเรียน (๑)


วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ CADL ตั้งใจไป "ถอดบทเรียน" ครูเพ็ญศรี กานุมาร "ครูเพื่อศิษย์ ประจำปี ๒๕๕๗" เนื่องเพราะความสำเร็จอันไม่ธรรมดา กับรางวัลชนะเลิศระดับโลกของหน่วยงานส่งเสริมการศึกษาของอาเซียน ( SEAMEO) และความสำเร็จจากประสบการณ์การทำงานของครูเพ็ญศรี และคณะเพื่อนครู ในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานบนฐานบริบทของโรงเรียน (School-Context-Project-based Learning: SC-PBL) ซึ่งสามารถยกระดับทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้อย่างประจักษ์ชัด (โดยไม่ต้องอัดติว-ติวอัด)

นอกจากจิตใจเต็มร้อยของ "ครูเพื่อศิษย์" แล้ว จุดเด่นของครูเพ็ญศรี กานุมาร (ครูเพ็ญ) ที่สำคัญๆ คือ "ความใฝ่เรียนรู้" "มุ่งมั่น มั่นใจ" และ "วิสัยทัศน์ที่ไกลกว่าครูทั่วไป" คุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น สำคัญและจำเป็นสำหรับ "ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง" (Change Agent) โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทำให้ครูเพ็ญคิดได้ไกล กว้าง และรอบรู้โอกาส และจัดหาโอกาสนั้นมาให้นักเรียนได้ ... ท่านเขียนบันทึกฉบับหนึ่งแล้วส่งมาให้ CADL ดาวน์โหลดได้ ที่นี่

เราร่วมงานกันครั้งแรกในการดำเนินโครงการหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม หรือ Local Learning Enrichment Network (LLEN) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งทาง มมส. ร่วมกับ สกว. พยายาม "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" ของครู โดยใช้เครื่องมือจัดการความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเครื่องมือ ขณะนั้นมีโรงเรียนในสังกัด อบจ.มหาสารคาม เข้าร่วมโครงการจำนวน ๕ โรงเรียน หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์

ต่อมา ในปี ๒๕๕๔ ครูเพ็ญศรี ร่างข้อเสนอโครงการส่งไปยังสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ โครงการนี้ทำให้ทั้งครูเพ็ญศรี และนักเรียนแกนนำมีพัฒนาการตามลำดับ ภายใต้หัวเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรในโรงเรียน และยิ่งได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เมื่อได้รับทุนสนับสนุนในโครงการวิจัยของนักเรียนด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งทำให้นักเรียนได้ลงสนามเก็บข้อมูลอย่างเป็นสากลด้วยระบบ GPS ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนประสบความสำเร็จอย่างน่าภูมิใจในอีก ๒ ปีต่อมา



ดังที่เรียนข้างต้น ความเป็น "ผู้ใฝ่เรียนรู้" ของครู แผ่ไปยังนักเรียนแบบที่ไม่รู้ตัว นักเรียนที่ได้ลงสนามฝึกและเรียนรู้ภาคสนามอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์เชิงประจักษ์ ผลการประเมินของ สมศ. เปลี่ยนจากระดับ "พอใช้" ในปี ๒๕๕๒ เป็นระดับ "ดี" ในการประเมินปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นักเรียนทั้งโรงเรียนมีความรู้เรื่องสมุนไพรและสามารถบอกถึงวิธีการนำไปปรับใช้ในชี่วิตได้ และเกิดความภาคภูมิใจในโรงเรียนและชุมชนของตนอย่างเห็นได้ชัด (รายละเอียดจะกล่าวในบันทึกถัดไป)


การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานบนฐานบริบทโรงเรียน


กระบวนการเรียนรู้ที่ครูเพ็ญและเพื่อนครูนำมาใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน น่าจะเรียกได้ว่า "กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานบนฐานบริบทโรงเรียน" หรือ School-Context-Project-based Learning (SC-PBL) เพราะตั้งอยู่บนหลักคิดและกรอบการดำเนินงานที่ใช้กระบวนการ ฐานการเรียนรู้ และทรัพยากรในโรงเรียน (School-based) กำหนดเนื้อหา (Content) ที่สอดคล้องกับ่บริบทของตนเอง หรือเรียกว่า เอาบริบทเป็นตัวตั้ง (Context-based) ในการกำหนดหัวเรื่องและกิจกรรมในการเรียน โดยมุ่งเป้าให้เกิดพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้สากลที่สำคัญและจำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานซึ่งนักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดและการทำงานเพื่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงๆ ในโรงเรียน

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ SC-PBL ของโรงเรียนนาสีนวน แบ่งเป็น ๕ ขั้นตอน ดังภาพ



๑) วางแผนอย่างมีส่วนร่วม

เมื่อใดได้วางแผน เมื่อนั้นคือได้ "คิด" และที่สำคัญเป็นการ "คิดก่อนทำ" เมื่อเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิด "กระบวนการคิด" ทุกคนได้ "ฝึกคิด" นั่นคือ ทุกคนได้ "เรียนรู้ร่วมกัน" ตั้งแต่เริ่ม นั่นเอง

สมาชิกหรือผู้ที่ควรเข้าร่วมในขั้นตอนนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนและชุมชน โดยมากจะประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู ตัวแทนนักเรียน นักวิชาการในพื้นที่ และปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงผู้ปกครองบางท่าน แม้ไม่ได้เป็นกรรมการสถานศึกษา หากมีใจก็ควรเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม

การดำเนินงานขั้นเริ่มที่โรงเรียนนานีสวนฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนนักเรียน จำนวน ๑๐ คน ครู จำนวน ๑๔ คน ตัวแทนผู้ปกครอง จำนวน ๑๖ คนจาก ๔ หมู่บ้าน คณะกรรมการสถานศึกษา ๕ คน ปราชญ์หมอยา จำนวน ๔ คน ตัวแทนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านนาสีนวน จำนวน ๒ คน และตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลนาสีนวน ๑ คน กำนันตำบลนาสีนวน ๑ คน หัวหน้าอสม. บ้านนาสีนวน ๑ คน ตัวแทนนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา (ผมเอง...ฮา ภูมิใจครับ) จำนวน ๑ คน รวม ๕๕ คน

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมสมองในขั้นนี้ มีวัตถุประสงค์คือ ทำให้ทุกคนมีค่านิยมร่วมกัน (Shared Value) มีเป้าหมายร่วม (Vision Value) และ สร้างข้อตกลงและพันธสัญญาของแต่ละภาคส่วนในการให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการของนักเรียนเป็นสำคัญ กิจกรรมอาจเริ่มตั้งแต่ การหาจุดแข็งจุดอ่อน (SWOT) มองตนเอง มองชุมชน ฯลฯ



(ขอบคุณภาพจากครูเพ็ญศรี กานุมาร)

หัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้คือ ต้องทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรียกมารวมเพื่อประชุมรับทราบ การระดมสมองเพื่อหา "บริบท" ของตนเอง ต้องไม่มองเพียง บริบทด้านกายภาพเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ทรัพยกรด้านบุคคล ผลสรุปของการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในวันที่ ๒๘ พฤศิจกายน ๒๕๕๔ มีข้อสรุปว่า ทางโรงเรียนจะจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง "สมุนไพรในโรงเรียน" โดยใช้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ เนื่องเพราะ

  • สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของโรงเรียนคือ ป่าสมุนไพรในโรงเรียน ที่โดดเด่นเพราะนอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวิตภาพโดยเฉพาะด้านสมุนไพรแล้ว ป่าสมุนไพรขนาด ๘๐ ไร่ นี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สมุนไพรและชาวบ้านใช้เป็นแหล่งผลิตสำคัญของชุมชน
  • จุดแข็งที่สำคัญอีกประการ คือ มีปราชญชาวบ้านผู้รู้เรื่องสมุนไพร ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรในโรงเรียนถึง ๔ ท่าน
  • โรงพยาบาลเสริมสุขภาพในชุมชนตำบลนาสีนวนเอง ก็พร้อมอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือด้านข้อมูลความรู้ หรือคำแนะนำด้านการนำสมุนไพรไปใช้ในลักษณะแผนปัจจุบัน

และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการการจัดการเรียนรู้ออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) สำรวจพื้นที่จริง ๒) จัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน ๓)จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานนักเรียน และ ๔) ขั้นสุดท้ายคือเผยแพร่ผลงานออกสู่ภายนอก และ จัดให้มีชั่วโมงกิจกรรมตามโครงการสัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง โดยให้ปราชญ์หมอยาอาสาเป็นผู้นำในการพานักเรียนและครูสำรวจสมุนไพรในป่าโรงเรียนและเป็นที่ปรึกษาในการทำโครงงานสมุนไพรให้กับนักเรียน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านนาสีนวน ได้อาสาในการหาผู้ป่วยมาทดสอบยาสมุนไพรที่ได้จากโครงงานสมุนไพรของนักเรียน...

๒) สำรวจพื้นที่จริง

การสำรวจพื้นที่ๆ ใน SC-PBL ของโรงเรียนนาสีนวน ไม่ใช่การลงพื้นที่เพียงครั้งเดียว แต่เป็นการลงพื้นที่ทุกๆ หลายครั้งโดยใช้ช่วงเวลาที่กำหนดแล้ว สัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่มกราคม - มิถุนายน ๒๕๕๕ โดยกำหนดบทบาทของปราชญ์ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ดังบันทึกตอนหนึ่งว่า ...

"...มีนักเรียน ครู ปราชญ์หมอยาสมุนไพรร่วมกันสำรวจป่าโรงเรียน จำนวน ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยการแบ่งกลุ่มนักเรียนกลุ่มละ ๕ คน แล้วให้ร่วมกันสำรวจป่ารวมกับปราชญ์หมอยาและครูระหว่างสำรวจป่านักเรียนสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ของพืชสมุนไพรกับปราชญ์หมอยา ถ่ายภาพโดยใช้โทรศัพท์มือถือและบันทึกข้อมูลที่ได้และจากนั้นนักเรียนแต่ละกลุ่มก็จะนำข้อมูลมานำเสนอต่อเพื่อนๆ ครู ปราชญ์หมอยาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันซึ่งกิจกรรมนี้นักเรียนได้รู้จักชื่อสมุนไพร ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ประโยชน์และโทษของสมุนไพร วัฒนธรรมและความเชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรณไม้..."


(ขอบคุณรูปจากครูเพ็ญ)


ผมตีความว่าขั้นตอนนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการ ยกระดับทักษะการเรียนรู้ จากเดิมที่ "เรียนรู้ไม่เป็น" ให้กลายเป็น "เรียนรู้เองเป็น" โดยมีครูเป็นโค๊ช (Coach) หรือ "ครูฝึกกก" และมีปราชญ์หมอยาเป็น "ครู" และที่ปรึกษา โรงเรียนใดจะนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ จะต้องใส่ใจในรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • ฝึกที่ ๑ คือ ฝึกกระบวนการเก็บข้อมูลสมุนไพร นักเรียนได้ฝึกสังเกต ฟัง ตั้งคำถาม จดบันทึก วาดภาพ ฝึกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทางมือถือให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ่ายภาพ บันทึกเสียง บันทึกคลิปวีดีโอ ฯลฯ
  • ฝึกที่ ๒ คือ ฝึกกระบวนการสืบค้นข้อมูล การค้นคว้าหาความรู้จากปราชญ์หมอยา จากหนังสือ ตำรา หรือจากการสืบค้นสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต รู้จักพิจารณาคัดเลือกแหล่งที่มา อ้างอิงสิ่งที่น่าเชื่อถือ
  • ฝึกที่ ๓ คือ ฝึกประมวล รวบรวม ความรู้ต่างๆ ระดมสมอง สร้างสื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ

ในขั้นนี้ ครูเพ็ญศรี สอนให้เด็กๆ ทำแผนผังสมุนไพร ตั้งแต่ให้รู้จักใบ ดอก ราก ลำต้น การนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับคน ตลอดจนการกระตุ้นให้นักเรียนเชื่อมโยงระหว่างสมุนไพรกับวัฒนธรรมประเพณีในชุมชนท้องถิ่น




(ขอบคุณรูปจากครูเพ็ญครับ)

ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกและปลูกฝังให้เป็นอุปนิสัยในใจของลูกหลาน กระบวนการสำรวจอย่างมีระบบนี้ ถือเป็น แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่จำเป็นต้องทำ ผู้สนใจต้องนำกลับไปทำอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการ "บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน" ของกระบวนการคิดวิเคราะห์

อยากให้นักเรียน "เก่งคิด" ต้องให้เขา "ฝึกคิด" ครูเพ็ญศรีและเด็กๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ชัดแล้ว....


ตอนต่อไป มาวันกันขั้นที่ ๒ การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน "สมุนไพรในโรงเรียน" .....

หมายเลขบันทึก: 585667เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากให้นักเรียน "เก่งคิด" ต้องให้เขา "ฝึกคิด"

ชื่นชมคุณครูเพ็ญศรี กานุมาร "ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง" มากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่นำเสนอ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท