พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

"อาม่าหุ้ยหยง" ยอดยิ่งจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา สู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และคนสัญชาติไทย ผู้หญิงซึ่งเชื่อมประวัติศาสตร์ของสามชาติ ไทย มาเลเซีย และ จีนเข้าไว้ด้วยกัน


"อาม่าหุ้ยหยง" ยอดยิ่งจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา สู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และคนสัญชาติไทย

ผู้หญิงซึ่งเชื่อมประวัติศาสตร์ของสามชาติ ไทย มาเลเซีย และ จีนเข้าไว้ด้วยกัน

ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2556

"ระยะทางร่วม 1000 กิโลเมตรกับเวลาบนรถทัวร์กว่า 12 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่หาดใหญ่ จนถึงเขาน้ำค้าง อำเภอนาทวีแม้ดูยาวนานและเหนื่อยล้าแต่ก็สุดแสนจะคุ้มค่าเมื่อได้มาถึง"

จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้คงไม่ได้มีความหมายเพียงไปเพื่อถึง "ที่แห่งหนึ่ง" เราไปด้วยหลายเป้าหมาย แต่เป้าหมายหนึ่งที่เราต้องกำไว้แน่นๆ คือ เราไปเพื่อเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่งบนแผ่นดินไทย คือ กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ลายา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกขานว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา เพียงเพราะว่าต้องอาศัยการปล้นเสบียงเพื่อยังชีพในการหนีภัยความตายจากอีกรัฐ พวกเขาก็คือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนท้ายที่สุดก็คือคนสัญชาติไทย กาลเวลาที่ล่วงเลยร่วม 70 ปี กำลังจะทำให้เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นเพียงอดีต

เราเริ่มต้นเรียนรู้ พรรคคอมมิวนิสต์ลายา ผ่านเรื่องราวการเกิดขึ้นของอุโมงค์เขาน้ำค้าง หรือค่ายทหารใต้ดิน ซึ่งถูกขุดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน โดยกรมทหารที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์ลายาร่วม 100 คน

ซึ่งทุกท่านก็คงทราบดีว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็เหมือนเดินย้อนเวลากลับไปคุยกับผู้คน สิ่งของ สถานที่ในตำนาน แต่ลองนึกดูว่ามันจะเป็นการย้อนเวลาที่วิเศษขนาดไหนหากเราได้เดินกลับไปพร้อมกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ประวัติศาสตร์นั้นขึ้นมาเอง "อาม่าหุ้ยหยง คือ บุคคลนั้นสำหรับเรา"

"อาม่าหุ้ยหยง" หญิงชราวัย 88 ปีที่มีใบหน้าขาวหมดจรด ท่าทางใจดี และแววตาเป็นมิตร เธอช่างดูไม่เหมือนนักรบหญิงเอาเสียเลย สงครามหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะชนะ หรือแพ้ ไม่เคยทำลายแววตาที่มุ่งมั่นของอาม่าได้

เราพบกับ อาม่าหุ้ยหยง ที่บ้านหลังเล็กๆ บนเนิ่นเตี้ยๆ ในเขาน้ำค้าง อาม่าพูดภาษาไทยได้แม้ไม่คล่องแคล่วนัก เราทักทายกันพอสมควรสำหรับการมาเยือนครั้งนี้

อาม่าเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของตนเอง ตามคำขอของพวกเรา...

อาม่าเป็นหญิงเชื้อสายจีน (จีนแคระ) ซึ่งเกิด ณ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) โดยที่พ่อแม่คือคนจีนที่เดินทางมาจากมณฑลทางตอนใต้ของจีน ซึ่งน่าจะเป็นเมืองเหมยโจว

ช่วง ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ซึ่งตามประวัติศาสตร์ คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนพลเข้าไปยังประเทศต่างๆ แถบเอเชีย อาม่าเล่าว่า "ตอนนั้นญี่ปุ่นเข้ามาที่มาเลเซีย ฉันเลยลุกขึ้นมาสู้ด้วย ตอนนั้นฉันอายุ 17 ปี มีพวกนักศึกษาขึ้นมาต่อสู้" อุดมการณ์ของอาม่าหุ้ยหยงในวัย 17 ปีทำให้พวกเราเริ่มเข้าใจถึง แนวคิดของคนเชื้อสายจีนในประเทศมาเลเซียที่ขึ้นมาสู้ โดยเฉพาะคำถามที่ดูเหมือนจะทำให้อาม่าเจ็บปวด แต่มันก็ไขปริศนาของประวัติศาสตร์ในช่วงเริ่มการต่อสู้ เมื่ออาม่าตอบว่า "ฉันสู้ก่อนจะมีพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ตอนนั้นยังไม่มีการก่อตั้งพรรค สู้เพื่อประเทศมาเลเซียจากการยึดครองของญี่ปุ่น" อาม่าและนักศึกษาในช่วงนั้นไม่ได้สู้เพื่อคนกลุ่มหนึ่ง แต่กำลังสู้เพื่อเอกราชแผ่นดินเกิดของตนเอง

"ตอนนั้นเราร่วมกับอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่น" ชีวิตของอาม่าและชาวมาเลเซียผ่อนคลายความตึงเครียดเมื่อสงครามโลกยุติลง ตามประวัติศาสตร์ก็คือช่วงราว ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) อาม่าเองมีลูกสาวที่เกิดในประเทศมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ.1948

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับชาวพรรคคอมมิวนิสต์มลายา พวกเขาต้องสู้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะเจ็บปวด และยาวนานแสนนาน เมื่อต้องสู้กับคนในชาติของตัวเอง

"เราร่วมกับอังกฤษต่อสู้ แต่พอญี่ปุ่นแพ้ไปแล้ว สุดท้ายพวกเขาไม่เอาเรา เราก็ต้องสู้กับอังกฤษ" อาม่าพูดประโยคนี้ด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่บีบคั้นสมัยนั้น "เราสู้ไม่ได้แล้ว ฉันจำได้ว่าต้องเข้ามาประเทศไทยเมื่อ ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497)"

อาม่าคือทหารหญิงคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เพราะเราทราบจากคำบอกเล่าว่า อาม่าคือทหารหญิงที่อยู่ในตำแหน่งรองเสนาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นระดับผู้บังคับบัญชาของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีจีนเป็งเป็นเลขาธิการผู้นำสูงสุด ตัวอาม่าเองคือหนึ่งในผู้บังคับบัญชาของกรม 8 ซึ่งเป็น 1 ในสามกรมของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พรรคคอมมิวนิสต์มลายาประกอบด้วย กรม 8 กรม 10 และกรม 12)

และด้วยประวัติศาสตร์ของอาม่าหุ้ยหยง ทำให้เราทราบว่าอาม่าคือผู้นำหญิงของจีน ที่ได้รับเลือกจากจีนเป็งและพรรคคอมมิวนิสต์ให้ไปร่ำเรียนในประเทศจีนเมื่อ ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ทั้งวิชาการปกครองและอื่นๆ เฉกเช่นที่ผู้นำชายพึงเรียนในสมัยนั้น ดูเหมือนลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้กีดกันความเป็นชายหรือหญิงแต่อย่างใด อาม่าเป็นผู้นำหญิงเพียงคนเดียวที่ได้มีโอกาสเจอกับเหมาเจ๋อตุง ผู้นำสูงสุดของจีนในสมัยนั้น เพื่อหารือและวางแผนการให้ความช่วยเหลือกับคนเชื้อสายจีนในประเทศมาเลเซีย

อาม่าหุ้ยหยง กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง และร่วมกับทหารกรม 8 ซึ่งนำโดยอิเจียง ผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่ตัดสินใจ วางยุทธศาสตร์ขุดอุโมงค์เขาน้ำค้างเพื่อการสู้รบและหลบหนีภัย รักษา 100 กว่าชีวิตของคนในพรรค

หลังเหตุการณ์สงบลง เมื่อมีการเจรจาสามฝ่าย ไทย มาเลเซีย พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ประเทศไทยก็อนุญาตให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือที่ถูกเรียกว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา มีสถานะเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทย

ปัจจุบัน อาม่าได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมติคณะรัฐมนตรีของประเทศไทย และถือบัตรประจำตัวคนสัญชาติไทยเมื่อ พ.ศ.2549

อาม่าเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า นอกจากลูกสาวที่มีสัญชาติมาเลเซียและอยู่ในประเทศมาเลเซียนั้น อาม่ายังมีลูกชายที่เกิดในประเทศจีน ระหว่างที่อาม่าไปเรียนหนังสือ เมื่อ ค.ศ.1958 ซึ่งปัจจุบันเขาก็ถือสัญชาติจีน เราถามอาม่าด้วยความห่วงใยหลังทราบว่าอาม่าอยู่กับอากงเพียงลำพังในหมู่บ้านปิยะมิตรแห่งนี้ว่า "อาม่าอยากกลับไปอยู่ประเทศจีนกับลูกชายไหม"

"ฉันไม่อยากไปอยู่ เมืองจีนหนาว แล้วฉันก็ไม่ผูกพัน"

"แล้วอาม่าไม่อยากกลับไปอยู่กับลูกสาวที่มาเลเซียหรือ ถ้ากลับไปได้อาม่าจะกลับไปไหม"

"ฉันกลับไปไม่ได้หรอก เขายังตามตัวพวกผู้นำอยู่ คนกลับไปอยู่ไม่ได้หรอก แล้วฉันชอบอยู่ที่นี่ ฉันอยากอยู่ประเทศไทย ที่นี่คือบ้านที่ยอมให้ฉันอยู่ ฉันมีความสุขและไม่อยากไปไหน"

เกือบ 40 ปีในชีวิตของการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างอาม่าหุ้ยหยง หนึ่งในผู้ที่นำซึ่งร่วมคิดร่วมวางแผนบนอุดมการณ์ที่จะรักษาเอกราชในชีวิตรอดของเพื่อนร่วมชาติ ก็คือตำราเล่มหนาแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน ความทรงจำของอาม่ายังคงคมชัดและแม่นยำ ท่วงทำนองการเสวนา และประสบการณ์ของอาม่า แม้ว่าเราจะไม่ได้มีโอกาสคุยกันได้นานมากนัก มันก็ทำให้เราเชื่อได้ไม่ยากว่าเธอผู้นี้คือ จุดเชื่อมกาลเวลาในประวัติศาสตร์ของสามชาติ มาเลเซีย ไทย จีนมาสู่ปัจจุบัน เธอคือบุคคลสำคัญที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายามาสู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งปัจจุบันก็คือประชากรกลุ่มหนึ่งทางใต้ของประเทศไทย ความเป็นมาเหล่านี้สะท้อนแนวคิดของรัฐไทยที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการประชากรต่างด้าวเมื่อ 30 ปีก่อนผ่านชีวิตของอาม่าหุ้ยหยง เพราะรัฐไทยไม่ยอมทอดทิ้งกลุ่มคนอย่างอาม่าหุ้ยหยงให้จมอยู่ในความตาย เราก็หวังว่าปัจจุบันและอนาคตจะได้เห็นรัฐไทยดูแลสันติสุขของคนในสถานการณ์เดียวกับอาม่าหุ้ยหยง จนได้หัวใจของพวกเขามา เหมือนอย่างครั้งนี้ และเราก็หวังว่ารัฐไทยจะได้ดูแลทุกข์สุขของอาม่าหุ้ยหยงและอากงที่แก่ชรา รวมถึงผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยคนอื่นๆที่ยังคงมีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ให้สมกับความตั้งใจของประเทศไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

สุดท้าย ก่อนกล่าวลาอาม่า และบอกว่าเราจะกลับมาอีกครั้ง... พวกเราขออนุญาตอาม่าหุ้ยหยง ที่จะบันทึกประวัติศาสตร์และความทรงจำของอาม่า พวกเราอยากบันทึกมันในหลายที่หลายภาษา พวกเราอยากมีนักเขียนมือดีที่จะมาบันทึกประวัติศาสตร์นี้ให้มีชีวิตอีกครั้ง แต่อย่างน้อยเราก็จะขอบันทึกมันลงในวิทยานิพนธ์ที่มีชื่อว่า "อดีตคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทย" อาม่าหันมาทางเราและที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเราและพูดว่า "ฉันเคยคิดว่าถ้าฉันชนะ ฉันก็อยากจะเขียน"

"อาม่าชนะแล้ว อาม่าทำให้เด็กคนหนึ่งอยากเขียนเรื่องของอาม่า อาม่าชนะใจประเทศไทย ประเทศไทยยอมรับอาม่าและลูกหลาน อาม่าทำให้ลูกหลานมีชีวิตอยู่และพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป" คำพูดจากอาจารย์แหววที่ทำให้แววตาและรอยยิ้มของอาม่าหุ้ยหยงดูสดใสและยิ่งมีพลัง...อาม่ากุมมือเราไว้แน่นหลายนาที เธอพยักหน้าอย่างเป็นมิตร พร้อมกับรอยยิ้มที่ดูสุขใจมาก วินาทีนั้นเองเรารู้สึกเหมือนมีพลังบางอย่างถูกส่งจากผู้หญิงคนหนึ่งมาถึงเรา อะไรบางอย่างที่ดูเหมือนกำลังจะบอกเราว่า ฝากด้วยนะ

เวลาครั้งนี้ยังน้อยเกินไป เราต้องกลับไปที่นั่นอีกครั้ง "เขาน้ำค้าง หมู่บ้านปิยะมิตร" เพื่อบันทึกที่สมบูรณ์

บันทึกครั้งนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าไม่มีอาจารย์แหวว ผู้ที่เป็นยิ่งกว่าที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่มีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้เรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้ท่านผู้ว่าสงขลาฯ ได้นำพาให้อาจารย์แหววพบกับพี่เปี๊ยก เพื่อนผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวพรรคคอมมิวนิสต์มลายา คุณหมอสุภัทรที่ช่วยเป็นล่ามภาษาจีนระหว่างการพูดคุยกับอาม่าหุ้ยหยง พี่ปลาทองเพื่อร่วมตะลอนภาคใต้ และคุณมานิตโชวเฟอร์ฝีมือดีที่นำพาเราไปถึงเขาน้ำค้าง...ขอขอบคุณทุกๆ ท่านด้วยใจจริง

หมายเลขบันทึก: 585494เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท