อัตลักษณ์แห่งมหาวิทยาลัย : บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ


จากที่ทราบกันดีว่าอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีนั้นคือ "บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ (Graduates Manage Wisely)" ซึ่งประโยคนี้ได้ถูกประทานคติธรรมมาจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก(เจริญ สุวฑฒโน) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นภาษาบาลีว่า "ปณฺฑิโต นิปุณํ สํวิเธติ" ซึ่งแปลว่า "บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ" คราวนี้ลองมาจำแนกคำออกเพื่อให้ทราบถึงความหมาย โดยจำแนกเป็นคำว่า บัณฑิต / ย่อม / ฉลาด / จัดการ

บัณฑิต [บันดิด] น. ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์

ย่อม คำช่วยกริยาบอกเวลาปัจจุบัน หรือ ว. ค่อนข้างเล็ก, เล็กน้อย, ไม่ใหญ่, เบา, ลดลง, หย่อน

ฉลาด [ฉะหฺลาด] ว. เฉียบแหลม ไหวพริบดี ปัญญาดี

จัดการ ก. สั่งงาน ควบคุมงาน ดําเนินงาน

โดยคำว่าบัณฑิตเคยมีกล่าวไว้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าอันได้แก่มงคล ๓๘ ประการ โดยมงคลที่ ๒ คือการคบบัณฑิต โดยมีเนื้อหาหมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว (ไม่ใช่คนที่จบปริญญาโดยนัย) มีลักษณะดังนี้คือ

๑. เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณเป็นต้น

๒. เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย

๓. เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา

รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตคือ

๑. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดีอย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนันเป็นต้น

๒. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ อาทิเช่นการทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ

๓. ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

๔. รับฟังดี ไม่โกรธ อาทิเช่นเมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง

๕. รู้ระเบียบ กฏกติกามรรยาทที่ดี อาทิเช่นการรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฏของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ

และคำว่า "ย่อม" บวกกับ "ฉลาด" เป็น "ย่อมฉลาด" ส่งผลให้ความหมายเป็น มีสติปัญญาเท่าทันสิ่งรอบข้าง รู้ระลึกถึงสิ่งรอบข้างได้เท่าทัน มีไหวพริบที่สามารถแก้ไขได้ทันทีทันใด เป็นต้น

คำสุดท้ายคือ "จัดการ" ในที่นี้อาจหมายถึงคำว่า "การจัดการ" ไปด้วยในที่นี้เพื่อให้ครอบคุลมมากขึ้น โดยอาจจะนำทักษะการจัดการ ๘ ประการมาขยายความมากขึ้นคือ

๑. การมอบหมายงาน ซึ่งจะต้องบอกรายละเอียดงานที่ทำ คุณภาพที่ต้องการ ปริมาณที่ต้องการกำหนดเวลาที่งานต้องเสร็จ สมเหตุสมผล และย้ำถึงการติดตามงาน

๒. การให้คำแนะนำ ควรให้คำชี้แนะในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ วิธีการ การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของการทำงาน วัตถุดิบที่ต้องใช้ แหล่งที่มาของวัตถุดิบและอุปกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

๓. การติดตามผลงาน ควรจะเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่ควรจะเป็น และเปรียบเทียบผลงานที่ได้กับแผนงาน

๔. การให้คำชมเชย ควรตั้งอยู่บนข้อมูลที่ปรากฎและเป็นสาธารณะ คำชมเชยจะมีประสิทธิภาพ ถ้าเหมาะสมกับสถานการณ์

๕. การแก้ปัญหา ควรแก้ปัญหาที่เป็นระบบ เช่น หาสาเหตุ รวบรวมข้อมูล หาวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ ประเมินผลวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ และดำเนินการตามวิธีที่ดีที่สุด

๖. การให้คำชี้แนะตักเตือน ควรตั้งอยู่ในสภาวะส่วนตัว เมื่อพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรลดการเผชิญหน้าเมื่อเกิดปัญหา หรือการสื่อสารสองช่องทางทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือแนะนำพฤติกรรมที่สามารถสังเกตหรือเห็นได้ชัด

๗. การให้ความช่วยเหลือ ควรให้ความร่วมมือ แสดงความใส่ใจ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน ช่วยประณีประนอม (ระหว่าง 2 ฝ่าย) และควรเน้นการมีส่วนร่วม

๘. การรายงานผล เป็นการส่งผ่านข้อมูลที่สำคัญไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องในองค์กร ควรรายงานอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา และตรงเวลา

เมื่อรวมหลักการจากข้างต้นเหล่านี้จะพบว่า "บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ" คงไม่ยากมากจนเกินไปที่จะขัดเกลานักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ตามที่มุ่งหมายไว้ได้...

หมายเลขบันทึก: 585342เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท