สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๐. ประเมินแบบได้-ตก



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๐ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๓๐ ตีความจากบทที่ 29. Constructing Summative Assessments

สรุปได้ว่า การประเมินว่านักศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดหรือไม่ ที่เรียกว่า Summative Evaluation มี ๒ แนวทาง คือแนวทางใช้ข้อสอบแบบปรนัย กับแนวทางใช้ข้อสอบที่ตอบด้วยข้อเขียน เชิงเรียงความ ซึ่งควรใช้ทั้งสองแบบประกอบกัน โดยที่แบบแรกกินแรงของอาจารย์น้อย แบบหลัง กินแรงอาาจารย์มาก แต่ก็สนุกกว่า และสอบความคิดระดับสูงได้ทุกระดับ ในขณะที่แบบแรกก็มีวิธีออกข้อสอบ ให้ทดสอบความคิดระดับสูงได้ แต่มีข้อจำกัด

ในบทที่แล้วเป็นเรื่องการประเมินเพื่อให้คำแนะนำป้อนกลับ ในบทนี้จะกล่าวถึงการประเมินเพื่อบอก สมรรถนะ (competence) ของบุคคล ให้ผลออกมาเป็นเกรด คะแนน จัดกลุ่ม ลำดับที่ หรือตัดสินเกี่ยวกับบุคลากร


แนวทางทดสอบโดยทั่วไป

เป้าหมายคือผลลัพธ์การเรียนรู้

หน้าที่ของอาจารย์เริ่มที่การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ นำไปสู่การกำหนดรูปแบบ และวิธีการการเรียนรู้ และการดำเนินการที่ช่วยให้นักศึกษาบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้

การทำหน้าที่ทั้ง ๓ ส่วนของอาจารย์ คือ กำหนดเป้าหมาย สอน และประเมิน ต้องเชื่อมโยงหรือ บูรณาการเข้าด้วยกัน และเสริมส่งซึ่งกันและกัน

อาจารย์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเรียนรู้ของนักศึกษาต้องไม่ใช่หยุดแค่รู้ ต้องเลื่อนระดับขึ้นไปที่ เข้าใจ ประยุกต์ได้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ตาม Bloom's Taxonomy of Educational Objectives คือต้องเรียนให้ได้ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในระดับสูง

ย้ำว่า ต้องให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับสูง


คำแนะนำเกี่ยวกับการสอบ


    • เริ่มสอบตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเรียน และสอบบ่อย เพื่อช่วยการปรับตัวทั้งของ นักศึกษาและอาจารย์ มีผลการวิจัยเปรียบเทียบชั้นเรียนปกติที่สอบสองครั้ง คือกลางเทอมกับปลายเทอม กับที่สอบทุกๆ ๒ สัปดาห์ ในวิชาเดียวกัน โดยผู้สอนคนเดียวกัน ผลคือกลุ่มสอบบ่อยได้เกรดสูงกว่า ไม่มีนักศึกษาถอนการเรียนเลย (ในชั้นเรียนที่สอบสองครั้งถอนร้อยละ ๑๑) และนักศึกษาให้คะแนนคุณภาพการสอน ของอาจารย์สูงกว่า
    • ออกข้อสอบทันทีที่สอนตอนนั้นๆ จบ เพราะเนื้อหายังสดอยู่ในสมอง อาจให้นักศึกษา ไปออกข้อสอบในคืนนั้นและนำมาส่งในวันรุ่งขึ้น เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ของนักศึกษา แล้วอาจารย์เลือกเอามาเป็นข้อสอบในภายหลัง
    • ให้รายละเอียดเงื่อนไขการสอบ เป็นข้อเขียน ในการทดสอบทุกครั้ง ได้แก่นโยบายดำเนินการ ต่อการทุจริต การดำเนินการต่อการเข้าสอบสาย อนุญาตให้เอาสมุดจด หนังสือ calculator เข้าห้องสอบได้หรือไม่ และเงื่อนไขอื่นๆ อย่าคิดว่ามีรายละเอียดบอกไว้ในคู่มือนักศึกษาแล้ว
    • เริ่มการสอบด้วยคำถามอุ่นเครื่อง เป็นคำถามง่ายๆ เพื่อเรียกความมั่นใจของนักศึกษา ช่วยให้ตอบข้อสอบจริงได้ดีขึ้น
    • ขอให้เพื่อนอาจารย์ช่วยประเมินข้อสอบ ดูความชัดเจนและเนื้อหา มีประโยชน์มาก ต่ออาจารย์ใหม่
    • อ่านทบทวนข้อสอบ เพื่อแก้ไขที่ผิด ตรวจสอบคำผิด ไวยากรณ์ รูปแบบการเขียนที่ไม่ คงเส้นคงวา ถ้อยคำที่กำกวม ประโยคที่ถูกตัดไปไว้คนละบรรทัด แล้วทำให้อ่านแล้วอาจ เข้าใจความหมายผิด เป็นต้น อาจให้นักศึกษาช่วยสอน หรือเพื่อนอาจารย์ช่วยอ่านทบทวน
    • หลังการสอบ วิเคราะห์ข้อสอบ ว่าบรรลุเป้าหมายของการสอบหรือไม่ หากใช้คอมพิวเตอร์ ตรวจข้อสอบและให้คะแนนข้อสอบแบบปรนัย อาจารย์ต้องตรวจสอบผลคะแนนของ แต่ละข้อ ว่ามีนักศึกษาทำผิดเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ หากข้อใดเป็นเช่นนั้น ต้องตรวจสอบว่า มีข้อความในโจทย์ที่ไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือไม่ ในทำนองตรงกันข้าม ต้องตรวจสอบด้วย ว่ามีข้อใดที่นักศึกษาทุกคนหรือเกือบทุกคนทำถูก แสดงว่าเป็นข้อสอบที่ไม่มีพลังแยกแยะ (discriminating power)


การทดสอบแบบปรนัย

การทดสอบแบบปรนัย (เติมคำในช่องว่าง, ถูก-ผิด, คำถามหลายตัวเลือก, multiple true-false, ถามให้ตอบสั้นๆ) เป็นการทดสอบความจำ (ความรู้) และความเข้าใจเป็นหลัก แต่ก็อาจออกข้อสอบให้สอบ ความคิดระดับสูงขึ้นไปได้ แต่ไม่สามารถสอบสมรรถนะในระดับ create, organize, communicate, define problems, conduct research ได้

อาจารย์ใหม่อาจเข้าใจผิดว่าการออกข้อสอบปรนัยที่ดีเป็นเรื่องง่าย มีข้อมูลว่านักออกข้อสอบมืออาชีพ สามารถออกข้อสอบได้เพียงวันละ ๘ ข้อ แต่ผู้เขียนหนังสือแนะนำว่าไม่ควรใช้คำถามท้ายบทหนังสือเรียน เพราะมักเป็นคำถามตื้นๆ

คำแนะนำสำคัญคือ ควรใช้คำถามหลายแบบ เพราะนักศึกษาอาจสันทัดต่อการตอบคำถามต่างแบบกัน


ข้อสอบเติมคำในช่องว่าง

เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐาน (ความจำ) เกี่ยวกับข้อเท็จจริง คำศัพท์ และสัญญลักษณ์ ที่จำเป็น สำหรับเป็นพื้นความรู้ในขั้นตอนต่อไป เหมาะสำหรับใช้ในวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาอื่นในส่วนที่ เหมาะต่อข้อสอบที่มีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว ข้อสอบแบบนี้ ใช้คอมพิวเตอร์ตรวจได้เมื่อระบุให้ตอบ คำเดียว และต้องสะกดให้ถูกต้อง หรือมิฉนั้นอาจารย์ต้องระบุคำตอบที่ถูกต้องคำเดียวกันแต่เขียนต่างกัน ให้ครบถ้วน ในเฉลยให้คอมพิวเตอร์ตรวจ

เป็นข้อสอบที่ออกข้อสอบง่าย ตรวจให้คะแนนง่าย เดาคำตอบไม่ได้ และสามารถถามได้มากคำถาม ในเวลาสั้น แต่มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถสอบการเรียนรู้ระดับสูงได้ มีคำแนะนำว่าควรให้เวลาทำข้อสอบข้อละ ๓๐ - ๖๐ วินาที


ข้อสอบถูก/ผิด

เป็นข้อสอบที่เดาง่าย อาจแก้โดยออกข้อสอบให้นักศึกษาแก้ข้อความที่ผิด ซึ่งจะกลายเป็นข้อสอบอีกชนิดหนึ่ง และวัดความรู้ระดับสูงได้ แต่ใช้คอมพิวเตอร์ตรวจไม่ได้

คำแนะนำในการใช้ข้อสอบแบบนี้คือ ควรให้เวลาทำข้อสอบข้อละ ๓๐ - ๖๐ วินาที และข้อสอบต้องใช้คำที่ชัดเจน ไม่กำกวม ไม่ใช้คำปฏิเสธ ยิ่งคำปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ยิ่งต้องไม่ใช้


ข้อสอบจับคู่

ผู้เขียนหนังสือแนะนำว่าข้อสอบจับคู่ก็คือข้อสอบหลายตัวเลือก (multiple-choice) ที่รายการด้านซ้ายเป็นรายการที่มีคำตอบ (คู่) ร่วมกันในรายการด้านขวา ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีกับชื่อผู้คิดทฤษฎี, ชื่อบุคคลกับผลงานชิ้นสำคัญ, เหตุกับผล, คำศัพท์กับนิยาม, คำศัพท์ภาษาต่างประเทศกับคำแปล, เคื่องมือหรือวิธีการกับการใช้ประโยชน์

อาจเพิ่มความยาก โดยให้มีรายการด้านซ้าย ที่มีหลายตัวเลือกด้านขวา หรือให้มีตัวเลือกด้านขวา ที่ไม่มีคู่ในรายการด้านซ้าย หากอาจารย์ออกข้อสอบเช่นนี้ต้องระบุให้ชัด ป้องกันนักศึกษางง

รายการและตัวเลือกอาจไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่เป็นภาพ แผ่นภาพ หรือสัญญลักษณ์ก็ได้

มีคำแนะนำว่าข้อสอบชุดหนึ่งไม่ควรมีรายการเกิน ๑๕ รายการ และควรให้รายการและตัวเลือกทั้งหมดอยู่ในหน้าเดียวกันของข้อสอบ ควรให้เวลาทำข้อสอบ ๓๐ - ๖๐ วินาทีต่อหนึ่งรายการ


ข้อสอบหลายตัวเลือก

ข้อสอบหลายตัวเลือกอาจเป็นแบบที่แต่ละข้อมีโจทย์แยกกัน หรืออาจเป็นแบบ scenario-based (อาจเรียก simulation-like, หรือ interpretive exercises) ที่นำด้วยสถานการณ์ ตามด้วยข้อสอบหลายข้อ (๓ - ๖ ข้อ) ข้อสอบหลายตัวเลือกแบบหลัง ช่วยให้ประเมินความคิดขั้นสูง ได้แก่ความเข้าใจสถานการณ์หรือกรณีศึกษาในโจทย์ การประยุกต์ใช้ความรู้ วิเคราะห์สังเคราะห์ และประเมิน

การออกข้อสอบแบบนี้ไม่ง่าย แต่ก็คุ้มความพยายาม และสถานการณ์ที่เหมาะสมสำหรับนำมา ออกข้อสอบก็หาได้ทั่วไป และควรฝึกให้นักศึกษาออกข้อสอบด้วย ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือ ข้อสอบมีผลให้นักศึกษาที่ความรู้มากตอบผิด และนักศึกษาที่ไม่มีความรู้เดาถูก เป็นประเด็นที่อาจารย์ผู้ออกข้อสอบพึงระวัง

อาจารย์ต้องรู้วิธีหาข้อสอบที่ดีมาใช้ หรือออกข้อสอบเอง สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์มีคลังข้อสอบที่ www.skylight.science.ubc.ca/cqdatabases

ผู้เขียนหนังสือแนะนำให้เขียนคำตอบที่ถูกก่อน แล้วจึงเขียนคำตอบลวงทีหลัง แล้วจึงเรียงคำตอบตามลำดับแบบใดแบบหนึ่ง และตรวจสอบให้ดีว่ามีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียวให้เลือกในแต่ละข้อ

ในกรณีของ scenario-based multiple choice exam อย่าออกข้อสอบแบบที่ความรู้สำหรับตอบคำถามข้อหนึ่ง ต้องนำมาใช้ตอบคำถามข้ออื่นด้วย และควรฝึกให้นักศึกษาอ่านและทำความเข้าใจโจทย์ scenario ก่อนการสอบ


ข้อสอบถูก/ผิดหลายข้อ

ข้อสอบถูก/ผิดหลายข้อใช้กันน้อย ทั้งๆ ที่มีพลังสอบความคิดระดับสูงได้ดีที่สุด ลักษณะของข้อสอบแบบนี้คล้ายข้อสอบหลายตัวเลือกแบบ scenario-based ตรงที่ขึ้นต้นด้วยข้อความหรือสถานการณ์ (เรียกว่า stem) สำหรับใช้ในคำถามให้ระบุถูก/ผิด ๔ - ๕ ข้อที่ตามมา

ข้อสอบแบบนี้มีข้อดีคือออกข้อสอบง่าย หากออกข้อสอบด้วย 10 stem ก็จะได้ข้อสอบ ๕๐ ข้อ ที่ครอบคลุมเนื้อหาได้กว้างมาก

คำแนะนำคือ ควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาโต้แย้งผลการตรวจข้อสอบของอาจารย์ เพื่อให้ได้ทำความเข้าใจที่ชัดเจน ถือเป็นการเรียนรู้


ข้อสอบให้ตอบสั้นๆ

เป็นข้อสอบความจำ ความเข้าใจ และการประยุกต์ มีข้อดีคือใช้สำรวจความรู้ผิดๆ ได้ แต่อาจารย์ต้องตรวจข้อสอบเอง ใช้คอมพิวเตอร์ตรวจไม่ได้

ควรให้เวลาตอบ ๒ - ๕ นาทีต่อคำถาม ๑ ข้อ


การทดสอบแบบเรียงความ (Constructed Response Instruments : Essay Questions and Writing Assignments)

หนังสือบอกว่า มักเรียกการทดสอบแบบนี้ผิดๆ ว่าแบบอัตนัย (subjective test) เพื่อบอกว่าตรงกันข้ามกับการทดสอบแบบปรนัย และจริงๆ แล้วคำตอบไม่จำเป็นต้องเป็นเรียงความ อาจเป็นวีดิทัศน์ หรือ multimedia ที่มีส่วนใคร่ครวญสะท้อนคิดด้วย การใช้คำ "อัตนัย" ทำให้เข้าใจผิดว่าข้อสอบแบบนี้ไม่มีมาตรฐานในการให้คะแนน จริงๆ แล้วมีมาตรฐาน แต่ไม่ใช่แบบถูก/ผิด

ด้วยเหตุที่เกณฑ์การให้เกรดมีความซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา อาจารย์จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ ให้ชัดเจน กับนักศึกษาก่อนสอบหรือให้การบ้าน

ข้อสอบที่ดี ต้องทดสอบความคิดระดับสูงจากนักศึกษา ไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาคายความรู้ในตำรา หรือที่เรียนจากอาจารย์ออกมา และเนื่องจากการตรวจข้อสอบแบบนี้กินแรงของอาจารย์มาก จึงควรใช้เมื่อจำเป็น คือต้องการสอบความคิดระดับสูงเท่านั้น

การสอบแบบเรียงความ กับการให้ทำชิ้นงานเขียน (writing assignment) มีความคล้ายคลึงกันมาก การสอบแบบนี้แต่ละข้อควรให้เวลานักเรียน ๑๕ - ๖๐ นาที

เขาแนะนำว่า ข้อสอบควรขึ้นต้นคำถามด้วยคำกริยาที่มีความจำเพาะชัดเจน (descriptive verb) ไม่ใช่ถาม what, where, when, why รวมทั้งควรมอบหมายงานหลายขั้นตอน (multistage task) ยกตัวอย่างเช่น "Describe three ways that social integration could break down in the modern world. Then assess how closely each one applies to the United States today." และหากข้อสอบมีลักษณะที่มองต่างมุมได้ (controversial) หรือมีประเด็นเชิงคุณค่า อาจารย์ต้องบอกนักศึกษาล่วงหน้าให้ชัดเจนว่า การให้คะแนนตามคุณภาพของ การแสดงประเด็น หลักฐานสนับสนุน และ การนำเสนอ ไม่ให้คะแนนส่วนที่เป็นมุมมอง

หนังสือบอกว่า อาจารย์สามารถใช้ข้อสอบแบบเรียงความเพื่อความสร้างสรรค์และสนุกสนาน ในชีวิตครู และทดสอบความสร้างสรรค์ของศิษย์ ได้มากมาย เช่น นำประเด็นเนื้อหาสาระเชื่อมโยง กับการใช้ในชีวิตจริง ให้นักศึกษาแสดงหลักฐานและเหตุผลโต้แย้งความเชื่อโดยทั่วไป จินตนาการสถานการณ์สมมติ ที่นักศึกษาเผชิญ ให้นักศึกษาบอกว่าจะบอกว่าจะเผชิญสถานการณ์นั้นอย่างไร โดยให้เหตุผลและหลักฐานสนับสนุน เป็นต้น


ใช้การทดสอบและการบ้านประเมินการสอน

การทดสอบเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุขแก่ชีวิตอาจารย์ เมื่อได้เห็นความสามารถในการเรียนรู้และ ความสำเร็จของศิษย์ และยังเป็นข้อมูลป้อนกลับสู่การเรียนรู้และการปรับปรุงการทำหน้าที่ และเมื่อนักศึกษา เห็นคุณค่าของความเอาใจใส่ความพยายามของครู ผลการประเมินครูก็จะให้ความสุขอีกโสตหนึ่ง



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 585170เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท