ครูผอ. ไพฑูรย์ แวววงศ์ (๓ จบ) : Pitoon Model


อ่านบันทึกที่ ๑ ที่นี่ และบันทึกที่ ๒ ที่นี่

การเดินทางไปเรียนรู้กับ ครูผอ. ไพฑูรย์ แวววงศ์ ยิ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ว่าสิ่งที่ CADL กำลังขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ขณะนี้นั้น "ถูกทาง" และน่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการพัฒนาการเรียนรู้ในพื้นที่ ประสบการณ์และความสำเร็จของครูผอ. ไพฑูรย์ ในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ สอดคล้องและยืนยัน "กระบวนการเรียนรู้ด้วยปัญหาหรือโครงงานบนฐานของชีวิตจริง" ( RL-PBL) หรือประสบการณ์จริงๆ ทำให้การเรียนรู้เป็นแบบรู้จริง (Mastery Learning) และได้ผลจริง และไม่ใช่ต้องใช้ตอนมัธยม แต่เป็นสามารถปรับใช้ได้ถึงระดับประถม หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทของผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ผมเทียบเคียงรูปแบบการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (มปภ.) ของครูผอ.ไพฑูรย์ กับศาสตร์การเรียนรู้ในรายวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ ที่ผมกำลังสอนในมหาวิทยาลัยขณะนี้ เรื่อง "สมอง ๓ ชั้นกับ ปัญญา ๓ ฐาน" แล้ววาดแสดงเป็นแผนภาพ และเรียกภาพนี่ว่า "Pitoon Model" หรือ ไพฑูรย์โมเดล

สมอง ๓ ชั้น ได้แก่ สมองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ศ.นพ.ประเวส วะสี เรียกสมอง ๓ ชั้นนี้ว่า สมองตะกวด สมองแมว และสมองมนุษย์ เนื่องเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่า มนุุษย์เรานั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อกิน นอน สืบพันธุ์ ต่อสู้ เหมือนกับที่ตะกวดหรือสัตว์เลื้อยคลานเป็นอยู่ตลอดชีวิตมัน และไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนสัตว์เดรัจฉานเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นแมว เป็นต้น แต่มนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อพัฒนาตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถเรียนรู้ตนเองและพัฒนาศักยภาพด้านจิตวิญญาณ

กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งขมวดเป็น ๓ ฐาน ได้แก่ การเรียนรู้ฐานกาย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย การเรียนรู้ฐานคิด ในที่นี้จิตใช้สมองคิด เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของสมอง และการเรียนรู้ฐานใจ ซึ่งหลายคนมองว่าไกลตัวสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ความจริงหากพิจารณาให้ดี จะพบว่า ครูเพื่อศิษย์ทุกคนที่เราเจอ จะมีเทคนิคและวิธีคิดที่ใส่ใจในรายละเอียดถึงระดับฐานใจ เช่น การใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็กๆ การเตรียมนักเรียนให้ผ่อนคลาย สนุกสนาน เป็นต้น

ฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ แสดงไว้ใน Pitoon Model ดังนี้





  • เส้นประด้านบนสุด หมายถึง การเรียนรู้แบบผิวเผิน ผ่านเพียงตา หู หรือจมูก แต่ไม่ได้ครุ่นคิด ไม่รู้สึกสนุก หรือชอบใดๆ การเรียนรู้แบบนี้อยู่ไม่นาน การจดจำในลักษณะนี้เป็นการจำแบบไม่มีความหมาย จำดื้อๆ จำแบบนกแก้วนกขุนทอง
  • เส้นทึบที่อยู่ถัดลงมา หมายถึง การเรียนรู้แบบถ่ายทอดหรือส่งผ่าน (passive learning) ครูสอนแบบ "บอก ป้อน สั่ง บรรยาย" ผู้เรียนเป็นผู้รับสาร ซึ่งระดับการเหลืออยู่ของความรู้ (retention rate) จะขึ้นอยู่ดับประสบการณ์เดิมและทักษะการคิดของผู้เรียนแต่ละคน
  • เส้นทึบด้านล่างสุด ที่พุ่งผ่านฐานกาย ฐานคิด และไปม้วนเป็นวงหลายรอบในฐานใจ หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ผู้เรียนจะเรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน ได้สัมผัสด้วยประสาททางกาย ได้ครุ่นคิดหรือฝึกคิดด้วยตนเอง และมีการ "ซ้ำทวน" และวิเคราะห์ ตีความ ขยาย สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) การเรียนรู้แบบนี้จะนอกจะเป็นการเรียนรู้สู่ความทรงจำถาวรหรือเกิดทักษะแล้ว ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม เช่น ความมั่นใจ ความภูมิใจ หรือแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ต่อไป หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ นั่นเอง

กระบวนการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษา ของครูผอ. ไพฑูรย์ เปรียบได้กับการเรียนรู้แบบเส้นทึบด้านล่างสุด ซึ่งแสดงถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ อย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่

  • เป็นการเรียนรู้ครบถ้วนทั้ง ๓ ฐาน การพานักเรียนไปสัมผัสเหตุการณ์จริงเป็นการสร้างประสบการณ์ตรง ได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองผ่านการตั้งคำถามของครูผอ. ไพฑูรย์ และด้วยบุคลิกและเทคนิคของท่าน นักเรียนจึงมีความสุขสนุกที่ได้เรียน
  • มีการ "ซ้ำทวน" หลายรอบ หรือเรียกให้ตรงๆ คือ มี "การฝึก" ที่เพียงพอ
  • เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ครบวงจร Input-Output บนฐานการทำงานของสมอง (ผมเคยเขียนตีความหนังสือเล่มหนึ่งไว้ที่นี่)

ทั้ง ๓ ข้อนี้ ทำให้การเรียนรู้สามารถขยายความรู้ออกได้มากขึ้น เปรียบเหมือนขนาดของเส้นทึบที่หนามากขึ้นเมื่อผ่านการ "ซ้ำทวน" หรือหมุนวน และทำให้สมองจดจำในระดับลึกกว่าความจำชั่วคราว (working memory) สู่ความจำถาวร (Long term memory) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 584921เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2015 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะ ที่แนะนำ "ไพฑูรย์โมเดล"

ชื่นชอบการทำงานของ ผอ.ไพฑูรย์ แวววงศ์ มากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท