วันที่ 22 ม.ค. 58 เป็นวันอะไร...


เมื่อสองวันก่อน ผู้นำเครือข่ายไทบรู อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารโทรศัพท์ถึงผม กล่าวว่า เรียนเชิญอาจารย์ไปดงหลวงวันที่ 22 นี้นะครับ.....

หากถามว่า พรุ่งนี้วันที่ 22 มกราคม เป็นวันอะไร ท่านอาจจะมองไปที่ Smart phone เปิดไปที่ปฏิทินแล้วตอบว่า เป็นวันพฤหัส ก็ถูกครับ หากจะถามต่อว่า เป็นกี่ค่ำเดือนอะไรทางจันทรคติ ถามแบบนี้ Smart phone ไม่มีคำตอบ และประชาชนคนไทยยุคใหม่ก็ไม่สนใจว่าแต่ละวันมันกี่ค่ำ และเป็นเดือนอะไรทางจันทรคติ หากเราดูปฏิทินที่แสดงข้อมูลทางจันทรคติ

น่าสนใจนะครับ ความรู้ของเราในเรื่องปฏิทินทางจันทรคตินั้นหายไปแล้ว...ในโรงเรียนไม่มีสอน แต่ใครอยากไปเรียนหมอดู ก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ แต่หากไปถามคนอีสานโบราณที่อายุ 50 ปีขึ้นไปนั้นท่านเหล่านั้นจะตอบได้ครับว่า วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคมนี้เป็นวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3…..

ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสานเรียกว่า "วันเปิดประตูเล้าข้าว" แต่ปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกละเลยงดเว้น หรือยกเลิกไปในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบที่วิถีชีวิตชาวชนบทได้ถูกรบกวนโดยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุ และวิถีแห่งเศรษฐกิจชาวเมือง ประเพณีทำขวัญยุ้งฉางข้าว หรือ บุญเปิดประตูเล้าข้าว เป็นประเพณีดั้งเดิมประจำถิ่นอีสาน ที่ยังคงสืบทอดและปฏิบัติกันอย่างเหนียวแน่นในหมู่ของชนเผ่าที่อยู่รอบเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะกลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ ที่อำเภอดงหลวงจังหวัดมุกดาหาร ได้ถือเอาวันนี้ของทุกปีเป็นวัน "ตรุษโซ่" ซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนาแทบทั้งสิ้น เน้นให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อข้าว

พิธีกรรม: พิธีกรรมในวันนี้ปฏิบัติเป็นรายครอบครัว เริ่มในตอนเช้าโดยประกอบพิธีทำขวัญข้าวและยุ้งฉางเป็นอันดับแรก "พาขวัญ" หรือ ภาชนะที่ใช้ประกอบพิธีมี ดอกไม้ ธูปเทียน 5 ชุด (ขันธ์ 5) ผ้าผืน แพรวา ข้าวเหนียวนึ่ง ไข่ต้ม ขนม น้ำ น้ำหอม ใบยอ ใบคูณ และด้ายผูกขวัญ เจ้าของเรือนเปิดประตูยุ้งฉางนำเครื่องประกอบพิธีไปวางไว้บริเวณหน้าประตู แล้วกล่าวคำทำขวัญข้าว คำกล่าวเริ่มด้วยการเชิญขวัญข้าวมาสถิตอยู่ในยุ้งฉาง ตามด้วยคำขอบคุณหรือการสำนึกในบุญคุณของข้าว และการร้องขอให้ผลผลิตข้าวในปีต่อไปเพิ่มพูนขึ้น

จากนั้นจะนำน้ำหอมที่อยู่ใน "พาขวัญ" ไปประพรมทั่วบริเวณยุ้งฉางรวมถึง คราด ไถ และอุปกรณ์ที่ใช้ทำนาอื่น ๆ ที่มักเก็บรักษาไว้ในบริเวณยุ้งฉาง ต่อจากนั้น เป็นพิธีผูกขวัญวัวควายโดยนำด้ายมาผูกที่ "เขา" วัวควายที่อยู่ในคอกพร้อมกล่าวคำทำขวัญวัว – ควาย คำกล่าวเริ่มด้วยการเชิญขวัญมาอยู่กับตัวของวัว – ควาย การขออโหสิกรรมที่ดุด่าทุบตี คำขอบคุณหรือสำนึกในบุญคุณที่ช่วยเหลือในการไถนา และตามด้วยการร้องขอให้วัว – ควาย ออกลูกเพิ่มเติมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เพื่อเอาไว้ใช้งานต่อไป

พิธีกรรมสุดท้ายเป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับหว่านกล้าและดำนา โดยเกษตรกรจะนำปุ๋ยคอกไปหว่านยังแปลงนา พร้อมทั้งปรับแต่งคันนาที่ถูกปูนาเจาะและการปิดทางระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเตรียมเก็บกักนั้นในฤดูฝนที่จะมาถึง

ปัจจุบันนี้ กิจกรรมเตรียมแปลงนาในบางพื้นที่ ได้ถูกจำกัดให้เหลือเพียงนามธรรม หรือปฏิบัติเฉพาะในแปลงนาที่จะหว่านกล้าเพียงกระทงนาเล็ก ๆ เท่านั้น การหว่านปุ๋ยคอกก็เช่นกัน ในหลายพื้นที่หว่านเพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธี นอกเหนือจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับข้าวแล้ว ยังมี "พิธีการผูกแขนผู้เฒ่า" หรือผู้อาวุโสของแต่ละครอบครัว โดยลูกหลานหรือแม้แต่ผู้น้อยที่เคารพนับถือผู้ใหญ่ท่านนั้นๆก็จะมาร่วมพิธีโดยจะนำด้ายไปผูกที่แขนของผู้อาวุโสรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว และมอบเงินหรือสิ่งของเสื้อผ้าไว้ให้สำหรับใช้สอย แล้วก็จะกินข้าวพร้อมหน้ากัน พูดคุยกัน

สรุป: สิ่งที่สะท้อนจากประเพณีการเปิดประตูเล้าข้าวที่ยังเหนียวแน่นอยู่ในกลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายกะโซ่ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าที่นอกเหนือจากความเชื่อในจิตวิญญาณของธรรมชาติแล้ว ชาวกะโซ่ยังให้ความสำคัญต่อข้าวเป็นอย่างสูง และให้ความสำคัญต่อทุกขั้นตอนการผลิตข้าว ตั้งแต่แรงงานสัตว์ เครื่องมือคราดไถ จนถึงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ ประเพณีดังกล่าว ยังแสดงถึงภูมิปัญญาโบราณของท้องถิ่นที่รู้จักการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอกอีกด้วย การเปิดประตูเล้าข้าวในเดือน 3 ยังเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะตรวจสอบคุณภาพ และปริมาณของข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉาง ซึ่งอาจถูกทำลายโดยนก หนู หรือแมลงมอดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังถือโอกาสซ่อมแซมยุ้งฉางในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้พิธีกรรมนี้ยังเป็นการเสริมสร้างคุณค่าด้านจิตใจอันดีงามยิ่งที่แสดงสำนึกต่อสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติที่ได้พึ่งพาอาศัยกันต่อสิ่งที่มีชีวิตคือ การแสดงคารวะต่อปู่ ย่า ตา ยาย ผู้อาวุโสในครัวเรือน ต่อสัตว์คือการแสดงการขออโหสิต่อ สัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงาน

เช่น วัว ควาย การเข้าไปแสดงไมตรีและเอามือลูบไล้สัตว์อย่างเมตตานั้น เป็นเจตนาที่แสดงถึงด้านลึกแห่งสำนึกของจิตใจสูงส่งที่ประเพณีโบราณได้สร้างขึ้นและมีวาระที่ต้องแสดงออก ต่อเครือญาติและสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อยังชีพเพื่ออยู่เพื่อกิน พิธีกรรมนี้เป็นการสะสมทุนทางสังคมประการหนึ่งด้วย

ซึ่งการแสดงออกด้านลึกนี้หาไม่ได้กับการผลิตแบบการค้า ของสังคมสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกละเลยงดเว้นหรือยกเลิกไปในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบที่วิถีชีวิตชาวชนบทได้ถูกรบกวนโดยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุ และวิถีแห่งเศรษฐกิจชาวเมือง พี่น้องคนอีสานไม่สืบสานพิธีกรรมความเชื่อที่สวยงาม และสูงส่งด้วยคุณค่า ความหมาย เช่น พิธี 3 ค่ำเดือน 3 ต่อไปหรือ...

ครับ ผู้นำไทบรู อ.ดงหลวง เชิญผมให้ไปร่วมงานสำคัญนี้ครับ...

(ผมเลยขออนุญาตนำบทความนี้ที่คุณเปลี่ยน มณียะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของโครงการฯ เขียนไว้ในรายงานไตรมาสที่ 1/2546 ผู้เขียนขอนำมาเผยแพร่อีกครั้ง)

หมายเลขบันทึก: 584320เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2015 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2015 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หวังว่าลูกหลานของคนในท้องถิ่นจะยังคงรักษาประเพณีดีๆแบบนี้ไว้สืบทอดต่อไปนะคะ

ปกติชาวบ้านที่ดงหลวงจะปฏิบัติประเพณีนี้กันตามครอบครัวใครครอบครัวมัน แต่เมื่อมีการสนับสนุนให้รวมกลุ่มเครือข่ายไทบรูขึ้นมาโดย NGO และโครงการที่พี่ไปทำก็ก้าวเข้ามาสนับสนุน จึงเอาประเพณีนี้มาจัดให้เป็นกึ่งทางการขึ้นมา กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เข้าใจสาระ และสร้างสำนึกวิถีการผลิตที่ต้องอิงอาศัยสิ่งรอบตัว รู้จักสำนึกแห่งสัตว์แรงงาน การบำรุงพระแม่ธรณี และผู้น้อยเคารพและเอื้อเฝื้อผู้เฒ่าผู้แก่..... มันเป็นคุณค่าทางสังคม ทางจิตใจ และทุนทางสังคมที่สำคัญบนรากเหง้าของสังคมไทยแบบเดิมๆ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท