“โรคจิต” ใครว่าเป็นภัยร้ายของสังคม?


วันนี้ดิฉัน นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสเรียนกับ พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ ซึ่งท่านได้มาบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานที่โรงพยาบาลศรีธัญญามานานกว่า 20 ปี ซึ่งการฟังบรรยายครั้งนี้ ทำให้ทัศนคติของฉันที่มีต่อผู้ป่วยจิตนั้น...เปลี่ยนไปตลอดกาล

www.vcharkarn.com

ถ้าเราพูดถึงคำว่า "โรคจิต" ทุกคนคงจะนึกถึง บุคคลที่น่ากลัว อันตราย และเลวร้าย…ซึ่งก็ไม่แปลกค่ะที่ทุกคนจะคิดถึงเช่นนั้น นั้นเป็นเพราะว่าแต่เดิมทีนั้น สังคมไทยปลูกฝังความคิดผิดๆเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อโทรทัศน์ ละคร หนังสือพิมพ์ หรือโลกออนไลน์ก็ตาม เห็นอย่างชัดๆเช่นในละคร บทสรุปของตัวร้ายที่ทำเลวมาตลอดทั้งเรื่องนั้นถ้าไม่ตายก็กลายเป็นโรคจิตหรือคนบ้า ซึ่งคนดูจะสะใจและสมน้ำหน้าตัวละครตัวร้ายที่กลายเป็นคนบ้ามากกว่าการได้รับบทลงโทษทางกฏหมาย ที่น่าแปลกใจก็คือ เราเคยนึกกลับมาย้อนคิดหรือไม่? ว่าคนบ้าทุกคนจำเป็นต้องเป็นคนเลวหรือ? คำตอบคือ ไม่ค่ะ

ทุกวันนี้ประชากรไทยที่เป็นโรคทางจิตมีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรค Bipolar , อาการหูแว่วประสาทหลอน ,อาการวิตกกังวล ,โรคซึมเศร้า ซึ่งนั้นหมายถึง ไม่ว่าจะอาชีพไหนทุกคนก็สามารถเป็นโรคทางจิตกันได้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าโรคทางจิตจะเป็นแล้วหายเหมือนโรคไข้หวัดธรรมดา หรือเป็นโรคติดต่อนะค่ะ… โรคทางจิตเป็นโรคที่บ้างก็เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ถูกสั่งสมมา ซึ่งจะรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันตามการได้รับการรักษาและการสนับสนุนจากครอบครัว ผู้ป่วยจิตบางคนสามารถวาดรูปได้สวยพอๆกับศิลปินระดับประเทศ หรือผู้ป่วยจิตบางคนสามารถทำงานและประสบความสำเร็จได้ แต่นั้นก็ไม่ใช่ทุกคนอีกนั้นแหละค่ะที่จะประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนั้น ทุกอย่างนั้นต้องขึ้นกับองค์ประกอบหลายๆอย่าง 'ทั้งการรักษาทางการแพทย์ + การเข้ารับการบำบัด + แรงสนับสนุนจากครอบครัวและคนรอบตัว' ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาผู้ป่วย Bipolar คนนึงที่อาจารย์หมอได้เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่เธอเกิดอาการนั้น เธอมีอาการหลงผิดและคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าแม่ร่างทรง โวยวายอาละวาด จนวันหนึ่งเธอได้เข้ารับการรักษาและบำบัด ซึ่งเธอก็ต้องกินยาเพื่อควบคุมอาการของโรค จนเธอกลับมาเป็นคนปกติและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข เธอประสบความสำเร็จถึงขนาดเป็นผู้นำชุมชน และได้เป็นวิทยากรตามที่ต่างๆเกี่ยวกับการให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคจิต แต่อยู่มาวันหนึ่ง เธอเลิกทานยาเพราะคิดว่าเธอหายดีแล้วไม่จำเป็นต้องทานยาอีกต่อไป และแล้วอาการก็กลับมาอีกครั้ง จากคนที่เคยสงบ ใจดี กลับกลายเป็นคนเกรียวกราด ก้าวร้าว เพียงเพราะแค่เลิกทานยา …บทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงของเธอ ที่ทำให้เธอรู้ว่า การทานยาไม่ใช่เรื่องที่น่าอายหรือสิ่งไม่ดี อย่าคิดว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมแล้วจะไปทำลายระบบตับไตในร่างกาย แต่ให้คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าอาการโรคจิตจะกลับมาอีกตอนไหน และทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข :)

driverlayer.com

หรือรวมไปถึงบางครอบครัวที่มีลูกมีอาการทางจิต ซึ่งพ่อแม่บางคนนั้นต้องอยู่กับความอาย เกิดความเครียด หรือบางคนถึงกับล่ามโซ่ลูกไว้เพื่อไม่ให้ลูกออกไปสร้างความวุ่นวายให้ใคร ซึ่งนั้นก็เป็นวิธีที่ผิดในการปฏิบัติกับผู้ป่วยทางจิต การขังเขา ล่ามเขา หรือด่าทอเขา มีแต่จะทำให้เกิดเป็นปมในใจของเขา และทำให้อาการยิ่งแย่ลง แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าเราลองมองเขาแบบที่เขาเป็นคนๆหนึ่ง เขามีความทุกข์ มีปม ทำให้เขาแสดงอาการแบบนั้นออกมา เช่น ผู้ป่วยโรคจิตบางคนมีอาการก้าวร้าว ด่าทอ พูดคนเดียว โวยวาย ถ้าหากเรามองแบบคนธรรมดาเราอาจมองว่าเขาเป็นคนที่น่ารำคาญ ก้าวร้าว แต่หากเราลองสะท้อนกลับไปดูถึงปัญหาว่าทำไมเขาถึงแสดงอาการนั้นออกมา เราก็อาจจะเห็นว่าเป็นเพราะปมที่เขาโดนสั่งสมมา สิ่งที่เราทำได้คือลองเปิดใจ ฟังในสิ่งที่เขาพูด เขาระบายออกมา และเขาจะบอกถึงปมปัญหาในชีวิตของเขาเอง เพราะบางคนก็เพียงต้องการคนที่เข้าใจเขาและเพียงแค่รับฟังเขาเท่านั้นเอง...

อาจารย์หมอยังได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานช่วงแรกๆในโรงพยาบาลอีกว่า มีผู้ป่วยโรคจิตบางรายมีการควักลูกตาเพื่อนออกมา… ถ้าหากพูดแบบนี้ หลายคนอาจตกใจถึงการกระทำที่น่ากลัวของผู้ป่วย แต่หากเรามองในอีกมุมนึงของเขา ผู้ป่วยคนนี้เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายเพื่อน แต่เขาต้องการที่จะรักษาตาให้เพื่อน แต่ด้วยอาการของโรคเขา ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมแบบนี้ออกมา ดังนั้นการที่เราจะตัดสินผู้ป่วยโรคจิตหนึ่งว่าเขาจะดีหรือจะเลว ไม่ใช่การดูที่การกระทำของเขา แต่เราควรดูถึงเจตนาและปมปัญหาที่เขามีมากกว่า

ซึ่งอย่างที่ฉันได้กล่าวไปในตอนแรกว่า สังคมสมัยนี้ได้มีผู้ป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น และมีการปรากฏวงจรอุบาทที่เพิ่มขึ้น คือ การที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจนอาการดีขึ้นจึงปล่อยกลับบ้าน แต่สุดท้ายต้องกลับมารักษาที่โรงพยาบาลเหมือนเดิมเพราะโรคกำเริบขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเราสามารถหยุดยั้งวงจรอุบาทนี้ได้โดยการเริ่มให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวของเขา ซึ่งต้องให้เขาตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการทานยาและมีการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสามารถ และครอบครัวต้องสนับสนุนเขา อาจร่วมทำกิจกรรมกับเขาและให้เขาทานยาทุกวันตามที่กำหนด ไม่ใช่การที่ครอบครัวมีแต่ต้องการให้เขารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแต่พอเขากลับมาที่บ้านก็รังเกียจเขา ไม่ยอมสนับสนุนเขา ด่าทอเขา ซึ่งถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ผู้ป่วยโรคจิตก็จะไม่มีวันอาการดีขึ้นแน่นอน...

www.socialworkdegreeguide.com

สุดท้ายนี้ ฉันจึงอยากขอพื้นที่เล็กๆนี้เพื่อพูดถึงผู้ป่วยโรคจิตว่า "ถ้าหากเรามองให้เขาน่ากลัวเขาก็จะน่ากลัว แต่หากเรามองว่าเขาคือคนๆหนึ่งที่มีหัวใจเหมือนเรา เขาเจ็บได้ เขาร้องไห้เป็น การที่เราตัดสินว่าเขาเป็นคนเลวเป็นคนน่ารังเกียจของสังคม มันยุติธรรมแล้วหรือ? เขาสมควรมีสิทธิ์และศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับที่มนุษย์คนหนึ่งๆจะมีได้ ทั้งในเรื่องการทำงาน,สิทธิ์การรักษาพยาบาล ฯลฯ" เพราะฉะนั้น หากเราเจอผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แทนที่เราจะบ่นจะด่ารุมประชาทัณฑ์หรือโยนหน้าที่ความรับผิดชอบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะดีกว่าไหม? ถ้าเรามีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเบาะแสกับตำรวจให้ส่งตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล หรืออย่างดิฉันในฐานะที่เป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมีส่วนช่วยในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยทางจิต เราก็ต้องทำงานร่วมกับสหวิชาชีพเพื่อปรึกษากันถึงแนวทางการบำบัดรักษาผู้ป่วยว่าใครสามารถทำในส่วนไหนได้บ้าง เพื่อประโยชน์สูงสุดในตัวผู้ป่วย และฉันคิดว่าถ้าหากทุกคนร่วมด้วยช่วยกันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ แนวโน้มอาการผู้ป่วยจิตในประเทศไทย ก็คงจะมีทิศทางดีขึ้นแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 584250เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2015 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2015 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท