นักศึกษากิจกรรมบำบัด ตอมจิตแพทย์ :)


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน

วันนี้มีเรื่องดีๆมีประโยชน์มาฝากค่ะ เพราะเผอิญว่า วันนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่ง ซึ่งนำเรื่องราวทั้งในชีวิตจริง และบทบาทการทำงานที่เกี่ยวกับจิตเวชมาสอน และให้พวกเราตระหนักรู้ถึงหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบในอนาคตที่ไม่ไกลต่อจากนี้ ใครที่สนใจอะไร "จิตๆ" เข้ามาอ่านกันได้เลยค่ะ ^^

http://dfwcwg.blogspot.com/2013/02/our-next-meetin…

อาจารย์แพทย์หญิง สมรัก ชูวานิชวงค์ จากโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้สละเวลามาเพื่อให้อะไรหลายๆอย่างกับพวกเรา นักศึกษากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในตอนแรกห้องเรียนของเรารกรุงรังไปด้วยโต๊ะเก้าอี้ที่กระจัดกระจายดูไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ คิดกันไปมา อาจารย์ก็เลยให้พวกเราจัดโต๊ะไปไว้มุมห้องให้หมด แล้วนำเก้าอี้มาล้อมรวมกันเพื่อจะได้เห็นหน้าคร่าตากันพร้อมเพรียงทุกคน เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการ Active Learning อย่างคล่องตัว การสอนในคลาสนี้ ไม่มีสไลด์ ไม่มีหนังสือ ไม่มีเอกสารประกอบการเรียนใดๆทั้งสิ้น แต่ทำไมหนอ?ทำไมดิฉันคิดว่าเราได้ประโยชน์จากการเรียนครั้งนี้มากจริงๆทั้งที่ไม่มีตัวหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแบบที่เราเคยเรียนกันมา คงเป็นเพราะ เราอาจจะเรียนแบบนามธรรมกันมาตลอดทางด้านจิตๆ บางทีอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าเราจะต้องทำงานในบทบาทไหน? ผู้รับบริการอาการของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง? ซึ่งวันนี้ จากประสบการณ์ เกือบ30ของอาจารย์ ถ่ายทอดให้พวกเรานึกภาพตามไปด้วยอย่างเป็นรูปธรรม ดิฉันจึงได้เห็นมุมมองหลายๆอย่างมากขึ้น กับการทำงานในอารมณ์แบบ...จิตเวช

จิตเวช...ตอนแรกฟังดูน่ากลัว ตอนนี้ก็ยังคงกลัว ไม่ใช่เพราะกลัวว่าเขาจะมาทำร้ายเราจากที่เขาประสาทหลอนไปเอง(ไม่มีใครทำอะไรเขาเลยนะ) แต่ดิฉันฟังแล้วเป็นคำที่น่ากลัว เพราะ หน้าที่ของเราคือการยื่นมือหาเขา ดิฉันกลัวว่าจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นอาการหนักขึ้นไปอีกถ้าหากได้ทำงานในฝ่ายจิตจริงๆ ส่วนตัวเองก็ตกใจอะไรง่ายๆอยู่แล้ว ยิ่งได้มาเจอผู้รับบริการจิตเวช คงจะวงแตกกันได้ง่ายๆ...ดิฉันคิดแบบนี้จริงๆ

นี่แค่เกริ่น

เอาล่ะ แรกเริ่มของคาบเรียนนี้ ถูกทำลายความเงียบของนักศึกษา โดยโจทย์จากอาจารย์หมอ คือการตั้งคำถามรายคนเรียงกันไป ซึ่งคำถามเหล่านั้นจะถูกตอบโดยอาจารย์เองในระหว่างการแลกเปลี่ยนความรู้ในชั้นเรียนนี้ แต่ละคนก็มีคำถามที่มีแนวคิดต่างกันไปหลากหลายมิติ ตั้งแต่ "ความประทับใจของอาจารย์กับการทำงานเป็นจิตแพทย์" หรือ "เสน่ห์หรือแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานในด้านจิตเวช" หรือ "บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดเท่าที่อาจารย์ที่เคยทำงานร่วมกันมา" หรือแม้กระทั่ง "อาจารย์จะป้องกันตนเองจากผู้รับบริการที่คุ้มคลั่งได้อย่างไร?" พูดตรงๆเลยคือ ดิฉันอยากรู้คำตอบทั้งหมดนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าเราสกัดคำถามออกมาในชั่วขณะนั้นเพียงคำถามเดียวได้แค่ "ผู้รับบริการส่วนมากจะมาด้วยกับโรคอะไรบ้าง?" ทั้งที่ในใจอยากจะรู้มากกว่านั้น โชคดีที่มีเพื่อนๆอีก 17 คนตั้งคำถามกันได้น่าสนใจและตรงประเด็น โอเค...เตรียมปากกาจดดีกว่าเรา

http://www.bipolar-symptoms.info/what-is-bi-polar-…

อาจารย์หมอได้เริ่มตอบคำถามไปในตัวโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาเป็นเหมือนTimeline ชีวิตไปเรื่อยๆ เล่าถึงผู้รับบริการประเภทต่างๆ เช่น Schizophrenia , Bipolar ฯลฯ สิ่งแรกที่อาจารย์ได้หยิบยื่นให้เราได้เห็นถึงความสามารถของผู้รับบริการจิตเวช คือ "ผลงาน" ของเขา แน่นอนว่าเราทุกคนแทบหยุดหายใจไปชั่วขณะ เพราะผลงานของพวกเขา เราเองก็ยอมรับว่าทักษะไม่ถึงขั้นจริงๆ(ฮ่าๆ) และอีกหลายผลงานที่อาจารย์ได้นำมาให้พวกเราประจักษ์ในวันนี้ แต่ขอยกตัวอย่างเพียงเคสเดียวนะคะ เป็นเคสของผู้รับบริการที่มีแม่เป็นครูสอนศิลปะ กิจกรรมที่เธอใช้นอกจากการไปปรึกษาแพทย์ และทานยา ก็คือการสอนลูกของตนเองให้วาดภาพ อย่างมีขั้นตอน ให้ลูกได้ใช้ทักษะในตนเอง ซึ่งในตอนแรกๆเขาก็ยังไม่มีสมาธิพอที่จะจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำ แต่เมื่อได้ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ก็ได้กลายมาเป็นภาพวาดดอกไม้สีสันสวยงามไม่แพ้ศิลปินตัวจริง โชว์ความสง่าอยู่บนหน้าปกนิตยสารที่ทำพวกเราอึ้งเล่มนั้นล่ะ และอีกหลายผลงานที่เกี่ยวกับดอกไม้ในวรรณคดีไทย ประเด็นนี้ทำให้ตอบโจทย์คำถามที่ว่า "กิจกรรม" สามารถบำบัดผู้รับบริการฝ่ายจิตเวชควบคู่ไปกับการทานยาได้ดีหรือไม่? ได้เป็นอย่างดี ยานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมดุล แต่ก็ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะทำแค่การทานยาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย

อาจารย์ได้ถามพวกเราว่า หากถ้าเลือกจะป่วยได้ 2 อย่าง คือ มะเร็ง กับ จิตเพศ พวกเราจะเลือกอะไร? คำตอบของพวกเราเป็นเสียงเดียวกันว่า "จิตเพศค่ะ" ซึ่งถ้าหากจะอธิบายคำตอบ ณ ตอนนั้น ก็คงจะเป็นเพราะ มะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรง โอกาสเสียชีวิตมีสูงมากกว่า เป็นจิตเพศเสียยังจะดีกว่า...คำตอบถูกหยุดไว้เพียงเท่านั้น

ช่วงอายุในการเป็นโรคทางจิตเวชก็มีความสำคัญเช่นกัน บางคนอาจเป็นในช่วงวัยที่ยังเด็ก ประสบการณ์ชีวิตของเขาก่อนหน้านั้นก็ยังไม่มากเท่าในคนที่เริ่มเป็นตอนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ยังคงไม่รู้ความฝันของตนเอง ไม่รู้ความสามารถของตนเอง บางคนรอยโรคช้า-ไว ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน บางคนฟื้นฟูแล้ว แต่โอกาสจะกลับมาเป็นอีกก็มี เมื่อคิดว่าตนเองค่อยยังชั่วแล้ว สามารถกลับไปทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆได้อย่างปกติสุข เหตุการณ์เหล่านี้ไม่แน่นอน เขาอาจจะหยุดยาแล้วกลับมามีอาการกำเริบอีก ก็ต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล เข้าๆออกๆซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นวงจร อาจารย์ได้ให้คำถามฉุกคิดถึงความรู้สึกของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองของผู้รับบริการ หรือตัวผู้รับบริการเองก็ตาม เราได้เห็นมุมมองจริงๆว่า ตัวผู้รับบริการเองก็ไม่อยากที่จะเข้ารับการรักษาหรอก เขาจะมองว่าตนเองคือคนป่วย ไม่เหมือนคนอื่น ไม่อยากทานยา ในขณะเดียวกันผู้ปกครอง หรือ Care giver ก็ไม่อยากจะพาเข้าๆออกๆโรงพยาบาลแบบนี้ไปตลอดแน่ๆ ทำให้มี2ทางใหญ่ๆคือ 1อยู่โรงพยาบาลไปเลย ให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแล ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงมามาก ถึงขนาดพามาที่โรงพยาบาลแล้วผู้ดูแลหนีไป ปล่อยเป็นภาระของบุคลากรในโรงพยาบาลต่อ 2 อยู่แต่ที่บ้านไปเลยไม่ต้องออกไปไหน เหตุการณ์นี้ก็เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าเช่นกัน เพราะเรามักจะเห็นข่าวบ่อยๆว่า เขามักจะถูกล่ามโซ่ ถูกขังในคอก ทำร้ายจิตใจมากขึ้นไปอีก

http://voicelabour.org/


จากที่กลัว...ตอนนี้สงสาร เพราะมีผู้รับบริการอีกหลายคนที่ถูกสังคมมองว่าบ้า หรือโรคจิตทำร้ายคนอื่น ทั้งที่เรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเจตนาของเขา ไม่ใช่เพราะรังเกียจเรา แต่เป็นเพราะอาการของโรคต่างหาก เราควรจะมองในมุมมองที่ว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการตั้งใจให้เกิดขึ้น และนี่ไม่ใช่ภาระของเรา แต่คือ "หน้าที่" ของเรา มีเสียงกระซิบมากมายที่ทำให้เขาแสดงออกเช่นนั้น ถามว่าเขาอยากเป็นปกติไหม? แน่นอนเรารู้คำตอบชัด และหน้าที่เรานี่แหละ คือการทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด (สอดคล้องกับ OTPF: Domain and Process ) บางคนถึงกับถูกรุมประชาทัณฑ์ ถูกกระทืบ ถูกทำร้าย ซึ่งไม่ยุติธรรมกับพวกเขาเลย ทั้งที่ไม่ได้เจตนาจะทำจริงๆ แต่สังคมมองว่าสมควรแล้วที่เขาจะโดนแบบนี้ ถูกต้องแล้วหรือ? ในขณะเดียวกันเราก็ต้องปกป้องตนเองโดยการวางตัวให้เหมาะสม ให้เขาได้รับรู้ว่าเรากำลังห่วงใย จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับ Backgroud และอาการของเขา เมื่อเขาเกิดอาการคลุ้มคลั่งก็อาจจะมีปุ่มฉุกเฉินป้องกันเหตุร้ายต่างๆด้วย ไม่ตื่นตระหนกหากว่าเขาแสดงออกให้รู้ว่า เขาอยากจะทำร้ายเรา โต้ตอบด้วยเหตุผล สุภาพ ไม่วู่วามหรือตกใจเกินไป

จากที่มีสถิติการเข้า-ออกโรงพยาบาลมาก ทำให้จำนวนผู้รับบริการมีมากขึ้น บุคลากรในโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่เข้ามารับการรักษา อย่างโรงพยาบาลศรีธัญญา อ้างอิงจากประสบการณ์ของอาจารย์ มีมากถึงหลายร้อยคน แน่นอนว่าจำนวนแพทย์และบุคลากรอื่นๆไม่พอจริงๆ เป็น "แรงขับเคลื่อน" ให้พวกเราได้เร่งไฟในตนเองว่า อีกไม่นานเราจะต้องมาเป็นกำลังเดินหน้าในวันถัดๆไปหากเราเรียนกันจบแล้วได้เข้าทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยได้รู้จักบทบาทนักกิจกรรมบำบัด นำอาชีพนี้ไปทำให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจารย์ได้เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมีอาชีพนักกิจกรรมบำบัดมามีบทบาทในโรงพยาบาล ได้มีอาชีพ นักเกษตรกรรมบำบัด และนักอาชีวบำบัดคอยเป็นผู้ให้การฟื้นฟูผู้รับบริการจิตเวช เพื่อให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมตามอาชีพของเขา หรือกิจกรรมต่างๆที่สอดคล้องกับบริบทจริงของเขา

และมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ โปรแกรม Supported Employment มีชื่อว่า "ร้านเพื่อน" เป็นร้านเล็กๆสำหรับผู้ป่วยเพื่อฝึกฝนการจัดการต่างๆก่อนได้เข้าทำงานจริง เขาจะทำกันเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชงชา กาแฟ ทำบัญชีเอง เป็นต้น จากนั้นก็จะส่งต่อไปยังสถานที่ประกอบการต่างๆเช่น ปั๊มน้ำมัน โรงแรม เพื่อให้เขาได้มีอาชีพทำจริงๆส่งเสริม Occupation ด้าน Workสุดๆ สำหรับในตอนนี้นักกิจกรรมบำบัดเริ่มผลิตบุคลากรมากขึ้น โปรแกรมนี้ย่อมสำคัญมากในการลงมือเป็น Jobcoach ให้กับพวกเขา มีหน้าที่คอยดูแล และจัดสรรหางานให้ตามที่ต้องการ และนอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เขาได้ทำ Occupation ต่างๆได้ด้วยตนเอง ดู Activity Analysis ตั้งแต่การทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต จนถึงการทำงานของเขา มองให้เป็น Holistic Approach อาจารย์ของเรามักจะกำชับอยู่เสมอ

http://www.oknation.net/blog/mypicnews/2008/06/27/…

เราปิดท้ายคาบเรียนด้วยกับการReflect กลับไปว่าเราได้อะไรจากคาบเรียนนี้บ้าง? และควรเพิ่มเติมอะไร? ดิฉันเองคิดว่าอยากให้มีลักษณะการเสวนาสหวิชาชีพ เพื่อจะได้มุมมองของบุคลากรอาชีพต่างๆอย่างชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ในแต่ละคน เพื่อในอนาคตจะได้แบ่งสรรงานกันร่วมกันได้อย่างลงตัว และมีประสิทธิภาพ สำหรับคาบเรียนนี้ เวลาเพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าแล้วสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์โดยตรงของอาจารย์

แต่แล้ว...คำถามในตอนต้นคาบเรียน ก็ถูกตอบด้วยเจ้าของคำถามเอง

อาจารย์หมอได้ตอบคำถามว่าเราจะเลือกเป็นโรคอะไรระหว่าง มะเร็ง กับโรคทางจิตเวช...สำหรับตัวอาจารย์เอง เลือกที่จะเป็นมะเ...ง เพราะอาจารย์มองว่า มีเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหลายคน ที่ต่อสู้อยู่กับโรคนี้จนถึงทุกวันนี้ และตัวอาจารย์เองก็เป็นจิตแพทย์ หากจะเป็นโรคทางจิตเวชเอง ก็คงหมดความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพในการรักษาผู้อื่นก็ถดถอยลง เพราะจะต้องมาบำบัดตนเองด้วย แต่สำหรับลูกของท่าน อาจารย์เลือกที่จะให้เป็นโรคทางจิตเวช เพราะความสามารถในด้านการจัดการกับจิตเวช เป็นเรื่องที่รับมือได้สำหรับอาจารย์ ทุกวันนี้ลูกของอาจารย์ก็ต้องพึ่งพาท่านเรื่องนี้ ในทุกวันนี้เรามีเรื่องให้เผชิญมากมาย แน่นอนว่าสุขภาพจิตก็ยิ่งถูกบั่นทอน ต่อให้ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตจริงๆ คนปกติทั่วไปก็ย่อมต้องการ "กำลังใจ" จากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เรารัก และรักเรา ซึ่งแน่นอน ผู้รับบริการจิตเวชก็ต้องการเช่นกันเหมือนเราๆนี่เอง

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณอาจารย์แพทย์หญิง สมรัก ชูวานิชวงค์มากๆเลยค่ะ ที่สละเวลามาถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกของอาจารย์ให้กับพวกเรา ทำให้มุมมองของพวกเราต่อผู้ป่วยจิตเวชเปลี่ยนไป กระตุ้นให้เราขวนขวายและมีความท้าทายในอาชีพของตนเองในอนาคตมากขึ้น เผื่อว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะได้เป็นทีมเดียวกัน ได้ทำงานประสานกันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยจิตเวชต่อไปค่ะ ^^




หมายเลขบันทึก: 584241เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2015 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2015 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท