รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๑


สิ่งที่บุคลากร นิสิต ศิษย์เก่า ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามน่าจะภูมิใจร่วมกันที่สุดคือ "ความดี" ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้สอนให้เรา "อยู่" และ "เป็น" เพื่อสังคมและชุมชน ความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ ช่วยเหลือ เผื่อแผ่ และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมและชุมชน ปรากฎเห็นเด่นชัดผ่านทุกมิติตั้งแต่ระดับบริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ในฐานะสำนักศึกษาทั่วไป ผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอน ๓๐ หน่วยกิตสำคัญ เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์นี้ เรากำลังสืบสานและขับเคลื่อนฯ ปลูกฝัง "ความดี" นี้ทุกวิถีทาง


ในมิติของการบริหาร ทั้งปรัชญา วิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย กำหนดเชื่อมโยงและร้อยรัดสอดคล้องและชัดเจนที่สุด ส่วนมิติด้านการปฏิบัติ "โครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ถือเป็นทั้ง "เหตุ" และ "ผลลัพธ์" ของการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบัณฑิตตามแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่องหลายปี




ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์นี้ สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาศึกษาทั่วไป (๒๕๕๘) หนึ่งในนโยบายและแนวทางคือ การบูรณาการการจัดการเรียนการสอนกับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน โดยสร้างรายวิชาซึ่งอาจใช้ชื่อว่า "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ต่อไปนี้เป็นเพียง "ตุ๊กตา" ที่เสนอมาเพื่อให้คณาจารย์หรือผู้อ่านที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันอภิปรายเชิงสร้างสรรค์กันต่อไป


หลักการและเหตุผล

หลักการสำคัญในการร่างรายวิชา " ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" คือ การมุ่งสร้างคนที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรมจริยธรรม "รู้จักตนเอง" "เข้าใจผู้อื่น" และ "สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุุข" หรือก็คือสร้างคุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ตามปรัชญาของรายวิชาศึกษาทั่วไป ในส่วนที่จะหนุนเสริมให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตที่จะกำหนดไว้ตามนโยบายมหาวิทยาลัย ปลูกฝังให้ไปตามปรัชญา วิสัยทัศน์ ข้างต้น

คำว่า "รู้จักตนเอง" สำหรับรายวิชานี้หมายถึง รู้จักหลักสูตรสาขาวิชาที่ตนเองศึกษาอยู่ รู้ถึงปรัชญา วิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของหลักสูตรตนเอง เห็นคุณค่าและประโยชน์ สามารถนำวิทยาการหรือเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้จากการศึกษา ไปปรับใช้และให้บริการสังคมและชุมชนได้อย่างภาคภูมิใจ

นิสิตต้องรู้ว่า เลือกมาเรียนในสาขาวิชานั้นๆ ทำไม เรียนไปเพื่ออะไร เรียนอะไรบ้าง แต่ละอย่างเรียนเมื่อใด อะไรที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษในการนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง กล่าวสรุปคือ รู้เป้าหมายของตนเอง รู้เป้าหมายของหลักสูตร รู้จุดเด่นของตนเอง นั่นเอง


คำว่า "เข้าใจผู้อื่น" สำหรับรายวิชานี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ ความเข้าใจเห็นใจหรือทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนนิสิตหรือนิสิตกับอาจารย์เท่านั้น แต่ต้องหมายมุ่งให้เข้าใจสังคมและชุมชน ซึ่งน่าจะค่อยๆ ถูกบ่มเพาะในขณะที่ฝึกฝนผ่านการเรียนรู้โดยการบริการชุมชน (Service-based Learning)

ส่วนคำว่า "สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข" หมายถึง การพัฒนาและฝึกฝนให้นิสิตเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา จิตสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน


คำอธิบายรายวิชา (ร่าง)

ตามหลักการและเหตุผลข้างบน ขอเสนอร่างคำอธิบายรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ดังนี



แนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน"

ขอเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอน สำหรับรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ดังภาพด้านล่าง ภายใต้ลักษณะและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้ให้เป็น "๑ หลักสูตร ๑ กลุ่มเรียน" คือต้องจัดตารางเรียนให้นิสิตแต่ละหลักสูตรอยู่ในกลุ่มเรียนเดียวกัน ไม่ปะปนกับนิสิตในสาขาวิชาอื่นๆ เว้นแต่มีลักษณะธรรมชาติสาขาวิชาคล้ายคลึงกันและกรรมการบริหารหลักสูตรมีมติให้จัดการเรียนรู้รวมกัน




ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้รายวิชานี้ มีดังนี้

  • "การจัดการเรียนรู้เป็นแบบ Active Learning" ในช่วงแรกของการเรียนรู้มุ่งสู่การ "รู้จักตนเอง" ด้วยการเปิดสื่อวีดีทัศน์ แล้วจัดกลุ่มอภิปราย ก่อนจะสรุปตอนท้ายให้ชัดเจน และนิสิตทุกคนต้องสะท้อนผลการเรียนรู้ของตนเอง ส่วนนี้จะเก็บเป็นคะแนนกิจกรรมในชั้นเรียน (รวม ๑๐ คะแนน)
  • มี "กิจกรรมกลาง" คือแต่ละหลักสูตร จัดให้นิสิตทั้งหมดได้ร่วมกิจกรรม "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ที่เป็นเป้าหมายของโครงการฯ ที่หลักสูตรฯ กำลังดำเนินการ อย่างน้อยนิสิตทุกคนต้องได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาเพื่อนำปัญหามาเป็นแนวทางในการให้บริการต่อไป
  • "เรียนเป็นทีม" นิสิตแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ ๑๐ คน เพื่อทำโครงการบริการชุมชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งกรรมการหลักสูตร อาจกำหนดให้เป็นหัวเรื่องหรือปัญหาที่สอดคล้องกับ "กิจกรรมกลาง" โดยแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมกันทำงานเป็นทีม ในการกำหนดปัญหา วางแผน เขียนเค้าร่างโครงการ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติ และนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเองในงาน "ตลาดนัด ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน"
  • เน้นการประเมินผลแบ่งเป็นหลายส่วนตามความมุ่งหมาย ประเมินความรู้เกี่ยวกับปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ ด้วยการสอบกลางภาค ๓๐ คะแนน กิจกรรมในชั้นเรียน ๑๐ คะแนน การเข้าร่วม"กิจกรรมกลาง" ๑๐ คะแนน ส่วนที่เหลือ ๕๐ คะแนน เป็นการประเมินแบบ ๓๖๐ องศา จากกระบวนการทำงานและผลลัพธ์จากการทำงานบริการชุมชนและสังคม ๕๐ คะแนน


ขอย้ำอีกครั้งครับ ว่า นี่เป็นเพียงข้อเสนอ เป็นเพียง "ร่าง" แนวทางและแนวปฏิบัติจริงๆ จะเป็นเช่นใด ต้องให้ อาจารย์ผู้สอนที่มีใจและศรัทธาร่วมกัน มาช่วยกัน "ยกร่าง" อีกที

หมายเลขบันทึก: 583631เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2015 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2015 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท