ฐานความผิดคดีการค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551


ฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

1 มกราคม 2558

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 [1]

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551 เป็นต้นมา [2] ช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2551 ที่น่าสนใจจากมูลนิธิกระจกเงา พอสรุปดังนี้ [3]

1. การลักพาตัวเด็ก

นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 มีเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 7 ราย โดยมีอายุเฉลี่ยเพียง 8 ปีเท่านั้น

2. ขบวนการซื้อขายเด็กทารก

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเหตุขบวนการซื้อขายเด็ก ถึง 2 กรณี กรณีแรกเกิดเหตุที่จังหวัดเชียงใหม่ กรณีต่อมาเป็นการซื้อขายเด็กหญิงอายุ เพียง 1 ปีเศษ ในพื้นที่ชายแดนทางใต้ของประเทศไทยโดยขบวนการซื้อขายเด็กดังกล่าวมีนายหน้าชาวไทย อยู่เบื้องหลังในการติดต่อครอบครัวเด็กในประเทศไทย โดยจะมีเอเย่นต์เป็นชาวมาเลย์เชียเชื้อสายจีนเป็นผู้รับซื้อเด็กข้ามไปยังฝั่งประเทศมาเลเชียอีกทอดหนึ่ง ส่วนวัตถุประสงค์ในการซื้อเด็กไปนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำไปเพื่อการใด แต่จากการสันนิษฐานพอสรุปได้ว่า อาจจะนำเด็กไปขายต่อให้กับครอบครัวชาวต่างชาติที่ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือ นำเด็กไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน

3. ค้ามนุษย์แรงงานประมง

ในสภาวะการขาดแคลนแรงงานประมงนอกน่านน้ำ เป็นผลให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ รับแจ้งเหตุแรงงานประมงขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิ กว่า 28 กรณี (สถิติระหว่าง พ.ค.-ธค. 51)

4. เด็กในธุรกิจขอทาน

เด็กในธุรกิจขอทานยังเป็นกรณีการค้ามนุษย์ที่มีความรุนแรงในปี พ.ศ. 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกนำพามาจากประเทศกัมพูชา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอาจจะมีเด็กตกเป็นเครื่องมือในการขอทานกว่า 1,000 คนเลยทีเดียว

5. เด็กในธุรกิจเพศพาณิชย์

โดยกรณีที่เกิดขึ้นผู้กระทำความผิดได้เปิดเวปไซต์เพื่อเสนอขายคลิปวิดีโอภาพลามกอนาจารของเด็กชายให้กับกลุ่มรักร่วมเพศ และยังมีการเสนอขายบริการทางเพศเด็กชายที่ปรากฏตัวในคลิปวิดีโอด้วย โดยหลังจากการขยายผลพบว่าเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำความผิดมีไม่ต่ำกว่า 10 ราย

สำหรับข้อกฎหมายในทางคดีอาญา ขอนำเสนอองค์ประกอบความผิดในคดีการค้ามนุษย์ ในมาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 7 ที่สำคัญ ดังนี้

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540 (ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พุทธศักราช 2471)

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้าหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

"การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ" หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะ ที่ไม่สามารถขัดขืนได้

มาตรา 6 ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

มาตรา 7 ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

(1) สนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

(2) อุปการะโดยให้ทรัพย์สิน จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

(3) ช่วยเหลือด้วยประการใดเพื่อให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์พ้นจากการถูกจับกุม

(4) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ถูกลงโทษ

(5) ชักชวน ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรอาชญากรรม เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นฐานความผิดในตัวเองต่างหาก จากเดิมที่จะอาศัยฐานความผิดเรื่องเพศต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น เพื่อการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ยังได้ให้คำนิยามการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลทุกคน โดยไม่จำกัดเพศหรืออายุ และไม่จำกัดถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเท่านั้น โดยมาตรา 4 และมาตรา 6 ให้คำนิยามความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกำหนดองค์ประกอบที่สำคัญไว้ 3 ส่วน ได้แก่ [4]

1. การกระทำ

2. ใช้วิธีการอันต้องห้ามตามกฎหมาย

3. วัตถุประสงค์ คือ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ (เจตนาพิเศษ)

อธิบาย

1. การกระทำ

- เป็นธุระจัดหา

- ซื้อ

- ขาย

- จำหน่าย

- พามาจากหรือส่งไป ยังที่ใด

- หน่วงเหนี่ยวกักขัง

- จัดให้อยู่อาศัย

- รับไว้ซึ่งบุคคลใด

2. วิธีการอันต้องห้าม

- ข่มขู่

- ใช้กำลังบังคับ

- ลักพาตัว

- ฉ้อฉล

- หลอกลวง

- ใช้อำนาจโดยมิชอบ

- ให้เงินหรือผลประโยชน์อย่าง อื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล บุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลให้ความยินยอม

3. แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

- การค้าประเวณี

- การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก

- การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น

- การเอาคนลงเป็นทาส

- การนำคนมาขอทาน

- การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ

- การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า

- การอื่นใดที่คล้ายคลึงอันเป็นการ ขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ ตาม

ความผิดฐานค้ามนุษย์จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ข้อดังกล่าว หากขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดก็จะไม่เข้าฐานความผิดนี้ เว้นแต่ กรณีเป็นการกระทำต่อเด็ก กล่าวคือ บุคคลผู้มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี (มาตรา 4) กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดฐานนี้แม้จะได้กระทำลงโดยไม่มีการใช้วิธีการอันต้องห้ามตามกฎหมายในข้อ 2. ข้างต้น

เมื่อพิจารณาความหมายของนิยามการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 4 จะเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างจากนิยามของการค้ามนุษย์ตาม Article 3 ของพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก หากแต่ต้องพิจารณาในทางปฏิบัติรวมถึงการปรับใช้และตีความเพื่อกำหนดขอบเขตการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในทางปฏิบัติว่ามีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร [5]

กฎหมายที่ใช้คุ้มครองดังต่อไปนี้ [6]

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

(ยกเลิก พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540)

(ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พุทธศักราช 2471)

พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546

พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2540

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522


[1] วรุณ พนธารา, "บทวิจารณ์ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551", นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตอุทัยธานี รุ่นที่ 2, 20 มีนาคม 2554, ใน gotoknow.org เมื่อ 29 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/456714

[2] พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551,http://www.no-trafficking.org/content/Laws_Agreement/laws_agreement_pdf/anti-trafficking%20act%20b.e.2551%202008%20%28thai%29.pdf & พระราชบัญญัติปองกันและปราบปรามการคาประเวณี พ.ศ. 2539,

http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20120508105742.pdf

[3] เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข, มูลนิธิ กระจกเงา, รายงาน "สถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2551", ใน gotoknow.org โดยพระ ศิริอาริยะ ฌานพุทธ พัฒนาศรัทธาพร, 12 มกราคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/234877

[4] พันตำรวจเอกหญิง วรณัฐ วรชาติเดชา. "การค้ามนุษย์ โดยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและสตรี." ภาควิชากฎหมาย กลุ่มงานวิชาการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ. อ้างใน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ.

[5] นฤตรา ประเสริฐศิลป์, "การค้ามนุษย์", 23 มีนาคม 2557, https://www.gotoknow.org/journals/134479 ใน อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children, supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ได้บัญญัติความหมายของการค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) ไว้ในมาตรา 3 (Article 3)

[6] ธัญวลี อุณหเสรี."ค้ามนุษย์."24 เมษายน 2554. [Online]., Available URL :http://www.learners.in.th/blog/thunvalee/465699

หมายเลขบันทึก: 583339เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2015 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท