​เครือข่ายฯขุขันธ์สอนและสอบ "เพศศึกษา" หวังหยุดปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยกันควร


เพศศึกษาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเพศสัมพันธ์ มันมีมากกว่านั้น เราตั้งเป้าจะทำยังไงที่ลดปัญหาได้ นั่นคือ เพิ่มเติมความรู้ให้เยาวชน ให้เขาลด หรือแม้เขาจะมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ต้องให้เขาป้องกันตัวเอง โดยเราจะสอดแทรกการนำเอาครอบครัวอบอุ่นมาช่วยเสริม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ให้เรื่องสุขภาวะเรื่องเพศลดน้อย ลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคม ครอบครัวและเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการตั้งครรภ์ในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น โดยเฉพาะในยุคไอทีก้าวหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าเด็กและวัยรุ่นยังมีภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหว คล้อยตามคารมโน้มน้าวได้ง่าย ขณะเดียวกันก็กล้าคิดกล้าทำและพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งต่างๆ ขาดการยั้งคิด โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดและเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยและไม่มีการป้องกัน ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หลายคนกลายเป็นคุณพ่อมือใหม่ คุณแม่มือใหม่ หรือหนักกว่านั้น คือ ท้องไม่มีพ่อ สุดท้ายเมื่อคลอดบุตรแล้ว ก็ทิ้งไว้เป็นภาระแก่พ่อแม่ (หรือปู่ย่าตายาย) เลี้ยง จนเด็กขาดความอบอุ่น ส่งผลต่อปัญหาสังคมตามมาอีกมากมายไม่จบสิ้น นอกจากนี้คู่รักวัยรุ่นยังสุ่มเสี่ยงกับการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะไม่รู้จักการป้องกัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนถึงกับหมดอนาคต

กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายอำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ศรีสะเกษ เขต 3 ได้แก่ โรงเรียนสวัสดีวิทยา โรงเรียนบ้านนาก๊อก และโรงเรียนบ้านเรียม เป็นอีกหนึ่งกลุ่มโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับเพศศึกษาในวัยรุ่น จึงได้จัดทำโครงการ "การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพ่อสร้างความรู้ ความรัก และทักษะเพศศึกษาที่ถูกต้องสร้างเยาวชนไทยให้สมบูรณ์"

โครงการดังกล่าวอยู่ในชุด โครงการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งดำเนินโครงการจำนวน 64 โครงการหลัก ในกว่า 300 โรงเรียน ทั่วทุกภูมิภาค โดยเป็นโครงการที่เน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน มีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยง 4 ด้าน คือ เหล้า บุหรี่ อาหารที่ปลอดภัย และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งแต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่มีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันและมีทุนทางสังคมรวมทั้งบริบทปัญหาที่ไม่เหมือนกัน การสร้างองค์ความรู้และความร่วมมือจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนได้

"เพศศึกษาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเพศสัมพันธ์ มันมีมากกว่านั้น เราตั้งเป้าจะทำยังไงที่ลดปัญหาได้ นั่นคือ เพิ่มเติมความรู้ให้เยาวชน ให้เขาลด หรือแม้เขาจะมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ต้องให้เขาป้องกันตัวเอง โดยเราจะสอดแทรกการนำเอาครอบครัวอบอุ่นมาช่วยเสริม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ให้เรื่องสุขภาวะเรื่องเพศลดน้อย ลง" กิตติศักดิ์ มครนันท์ ครูประจำโรงเรียนสวัสดีวิทยา บอกถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาวัยรุ่นกับเรื่องเพศสัมพันธ์

การดำเนินโครงการทั้ง 3 โรงเรียนในเครือข่าย จะวางแผนร่วมกับทุกองค์กรในชุมชน ได้แก่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาล สถานีตำรวจ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการสร้างองค์ความรู้ด้วย เมื่อผ่านการเห็นชอบจากทุกคนแล้วจะนำนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและแกนนำมาทำกิจกรรมร่วมกัน

รูปธรรมชัดเจนที่สุดของกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายอำเภอขุขันธ์ดำเนินการและประสบความสำเร็จ คือการจัดทำหลักสูตรวิชาเพศศึกษา ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บทเรียนบทหนึ่งในวิชาสุขศึกษาอีกต่อไป เพราะมีการสอน และสอบเก็บคะแนนเหมือนวิชาสามัญอื่นๆ

"เราจัดทำขึ้น ก็มาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ รพ.สต. ที่ช่วยดูว่าไม่ให้เนื้อหาส่อไปในทางทะลึ่งได้อย่างไร บางเรื่องต้องพูด เพราะพ่อแม่ไม่กล้าพูด แต่เมื่อครูพูดเด็กก็กล้าเปิดใจ กล้าบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้ฟัง" ครูกิตติศักดิ์ ย้ำชัดถึงความสำคัญของการสอนเรื่องการเพศศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน

ขณะเดียวกัน ยังพบว่านักเรียนที่เรียนวิชาเพศศึกษา เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เมื่อมีปัญหามักจะเดินเข้าปรึกษาครู ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มักจะเก็บปัญหาไว้กับตัวเอง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็นำมาซึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย อย่างเช่น "ชมรมวัยใส" เป็นกลุ่มนักเรียนที่ทำงานร่วมกับครูและชุมชน

ด.ญ.มยุรีย์ สีบุญเรือง หรือ น้องติ๊บ นักเรียนชั้น ม .3 โรงเรียนสวัสดีวิทยา แกนนำชมรมวัยใส เล่าถึงการทำงานและการเรียนวิชาเพศศึกษาว่า การเรียนครั้งแรก ครูก็ให้ให้ทุกคนเปิดใจ เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษามากน้อยเพียงใด มีทักษะการป้องกันตัวเองหรือไม่ บางคนก็เขินอาย บางคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็กล้าพูดกล้าเปิดเผย ซึ่งครูก็บอกว่าถ้าเคยมีอะไรแล้วก็ต้องป้องกัน และกินยาคุม และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร นอกจากนี้ยังให้ปรึกษาผู้ปกครองด้วย
"หนูมองว่าเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันก็มีผลต่อเนื่องให้เราเห็นว่า หากเราทำแล้วจะเกิดอะไร มีเหตุและมีผลของมัน เพื่อนๆ ได้ทักษะป้องกันตัวเองมากขึ้น รู้ในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ" น้องติ๊บ บอก

ในส่วนกิจกรรม "ชมรมวัยใส" ซึ่งจะมีอยู่ทั้ง 3 โรงเรียน โดยการทำงานจะเป็นไปในลักษณะ ประชุมในโรงเรียนและชุมชนของตัวเองก่อน ต่อมานำเอาปัญหามาพูดคุย และตั้งโจทย์ปัญหาของแต่ละโรงเรียน จากนั้นนำเอาปัญหามารวบรวมแล้วนำไปเสนอแก้ปัญหากับทางโรงเรียนและชุมชนต่อไป

สำหรับโครงการนำร่องจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554-2555 และในปี 2556-2557 นี้ ได้ทำต่อเนื่อง คือโครงการติดตามและสนับสนุน ชุดโครงการการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน

ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการติดตามฯ กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน มีข้อกำหนดที่ทุกโครงการจะต้องมี 8 หลักการ คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามผล และ ร่วมชื่นชม ซึ่งการทำโครงการนี้มีข้อกำหนดว่าต้องไปฟังเสียงชุมชนก่อน ก็คือระดมความเห็น ร่วมเสนอความต้องการ ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

"การที่เราให้โรงเรียนคิดเองทำเองร่วมกับชุมชน จะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจและประสบความสำเร็จมากกว่าคำสั่งมาจากส่วนกลาง ถ้ารอส่วนกลางงบประมาณโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของเด็ก เพราะเพียงค่าค่าสาธารณูปโภคก็หมดแล้ว แล้วคำสั่งจากส่วนกลางที่ลงมาก็ไม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนนั้นๆ" ผศ.ดร.พิณสุดา ให้ความเห็น

โครงการที่กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายอำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ดำเนินการ จึงเป็นตัวอย่างดีๆ ที่ให้ผลเป็นรูปธรรม โดยชุมชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และการที่นำเอาวิชาเพศศึกษา ใส่ไว้ในหลักสูตร คือความยั่งยืนที่โรงเรียนอื่นๆ น่าศึกษาไว้

หมายเลขบันทึก: 583096เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแสดงความยินดีนะคะที่ได้มีการนำเรื่องเพศศึกษาไปบูรณาการในหลักสูตร

ทั้งมีการติดตามและพบว่าเด็กๆ กล้าที่จะเข้ามาพูดคุยกับครูมากขึ้น

สำหรับดิฉันนะคะ เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยว่าเด็กคนไหนเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันผลที่จะตามมา เพียงแค่สอนเรื่อง "เพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบ" ที่มีสาระสำคัญคัญคือ "เมื่อใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ขอให้นึกถึงผลที่จะตามมา และต้องมาการป้องกันเสมอ"

ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง และขอให้กำลังใจอาจารย์ให้ประาสบความสำเร็จนะคะ

สวัสดีปีใหม่นะคะ

เห็นด้วยค่ะ น่าจะเป็นการใช้หลักการให้เด็กมีความรู้เป็นเกราะป้องกันตัว เมื่อเจอกับสถานการณ์ต่างๆ จะได้รับมือได้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท