หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ใต้ร่มมะเดื่อป่าและยอป่ามีลักษณะเฉพาะ


ดินที่ทึบ อิ่มน้ำ หรือมีความชื้นในดินเยอะ ช่วยให้การตรึงไนโตรเจนในดินเพิ่มขึ้นโดยจุลินทรีย์ดินที่ไม่ชอบออกซิเจน กิจกรรมของจุลินทรีย์ดินกลุ่มนี้เพิ่มแอมโมเนีย มีเทน ก๊าซไข่เน่าสู่บรรยากาศ แอมโมเนีย มีเทน ก๊าซไข่เน่าเป็นสารพิษ อืม ทั้งมะเดื่อป่าและยอป่าเป็นไม้ที่ไม่ตายในหน้าแล้ง ยอป่าทิ้งใบบ้าง มะเดื่อป่าไม่ทิ้งใบเลย ใต้ร่มยอป่าเย็นสบายทั้งวัน มดแดงทำรังอยู่บนต้นยอป่าเยอะ ใต้ร่มมะเดื่อป่าร้อนกว่า ไม่เห็นรังมดแดงแม้แต่รังเดียวบนต้นมะเดื่อป่า ทั้งๆที่มีใบขนาดใหญ่กว่าน่าใช้ทำรัง หรือว่ามดแแดงพากันหนีก๊าซพิษที่ดินใต้ต้นมะเดื่อป่าปล่อยออกมา

รากพืชอยู่ในดินลึกเท่าที่จะมีออกซิเจนให้หายใจได้ ความอัดแน่น แน่นทึบของชั้นแผ่นหิน ชั้นดินดานที่มากลดออกซิเจนในดินให้เบาบางลง ระดับน้ำใต้ดินที่มากจนทำให้ดินอุ้มน้ำเยอะ มีน้ำอยู่ระหว่างเม็ดดินแทนอากาศ ดินมีออกซิเจนน้อยลงเมื่อดินอุ้มน้ำไว้เยอะ ธรรมชาติจึงจัดการให้มีการเอ่อไหลของน้ำส่วนเกินบ่าอาบหน้าดินไหลลงพื้นที่ซึ่งต่ำกว่า และกองมวลน้ำไว้เป็นแอ่ง หนอง บึง และมีการเอ่อของน้ำในดินไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ไปตามแรงกดอัดในเนื้อดิน สู่แอ่งน้ำ ลำธาร แม่น้ำ หนองบึง เพื่อให้ดินแห้งพอที่จะมีช่องว่างรับออกซิเจนเข้าไปแทรกตัวไว้

เมื่อดินมีออกซิเจนน้อย รากพืชจะทำงานดูดน้ำและอากาศแบบป้อแป้ ป้อแป้มากหน่อยก็จะเห็นส่วนของพืชเหนือดินเหี่ยว เฉา เกร็น แคระ

อากาศในดินก็มีชนิดก๊าซไม่ต่างจากในบรรยากาศ ในทิศกลับกันกับปริมาณออกซิเจนในดิน ยิ่งลึกลงไปในดินมากเท่าไร ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดินก็ยิ่งมากกว่าในบรรยากาศ เพราะว่ารากพืชหายใจทิ้งเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนคน และส่วนของพืชที่ีมีอิทธิพลต่อปริมาณและสัดส่วนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในดินได้มาก คือ รากพืชนี่แหละ

ดินที่มีออกซิเจนมากจะมีจุลินทรีย์ดินที่ชอบออกซิเจนมาก ยิ่งมีอินทรีย์วัตถุในดินด้วย จุลินทรีย์ดินจะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีผลต่อปริมาณและสัดส่วนออกซิเจนในดิน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คืนสู่อากาศ ไม่เพิ่มก๊าซมีเทนในบรรยากาศ

ดินโปร่ง ดินแห้งเปิดโอกาสให้ออกซิเจนแทรกดินได้เยอะ ใต้ร่มยอป่าแห้งกว่าใต้ร่มมะเดื่อป่า แสดงว่าตรงนั้นแหละที่มีจุลินทรีย์ดินที่ชอบออกซิเจนอยู่ในดินเยอะสำหรับรากพืช เมล็ดพืชต้องมีออกซิเจนระหว่างการงอกพอจึงงอก มิน่าละ ใต้ต้นยอป่าจึงมีพืชล้มลุกหลายชนิดขึ้นตรึมหลังฝน ใต้ต้นมะเดื่อป่า โบเบ๋ แม้แต่หญ้าคาก็หายาก

ดินจะอิ่มน้ำเมื่อฝนตกหนักในเวลาสั้นๆบ่อยครั้ง ดินอิ่มน้ำแล้วน้ำส่วนเกินไหลอาบผิวดิน เซาะให้เกิดร่องดินกลายเป็นร่องน้ำ ลำธาร หนองบึง ใต้ร่มมะเดื่อป่า ดินมีความชื้นมากกว่ายอป่า มิน่าละ จึงพบรอยน้ำเซาะดินเลยเขตเรือนยอดของมะเดื่อป่าต้นนี้เป็นร่องลึกและมีแนวดินไหลกว้างเชียว อืม จำไว้ ต่อไปถ้าเห็นมะเดื่อป่าอยู่จุดไหน ก็ลงมือป้องกันดินสไลด์ไว้ด่วนเลย

ดินที่ทึบ อิ่มน้ำ หรือมีความชื้นในดินเยอะ ช่วยให้การตรึงไนโตรเจนในดินเพิ่มขึ้นโดยจุลินทรีย์ดินที่ไม่ชอบออกซิเจน กิจกรรมของจุลินทรีย์ดินกลุ่มนี้เพิ่มแอมโมเนีย มีเทน ก๊าซไข่เน่าสู่บรรยากาศ แอมโมเนีย มีเทน ก๊าซไข่เน่าเป็นสารพิษ

อืม ทั้งมะเดื่อป่าและยอป่าเป็นไม้ที่ไม่ตายในหน้าแล้ง ยอป่าทิ้งใบบ้าง มะเดื่อป่าไม่ทิ้งใบเลย ใต้ร่มยอป่าเย็นสบายทั้งวัน มดแดงทำรังอยู่บนต้นยอป่าเยอะ ใต้ร่มมะเดื่อป่าร้อนกว่า ไม่เห็นรังมดแดงแม้แต่รังเดียวบนต้นมะเดื่อป่า ทั้งๆที่มีใบขนาดใหญ่กว่าน่าใช้ทำรัง หรือว่ามดแแดงพากันหนีก๊าซพิษที่ดินใต้ต้นมะเดื่อป่าปล่อยออกมา

พืชจะคายระเหยน้ำลดลงในหน้าแล้งและปรับตัวให้ลงตัวกับความชื้นในดินที่ลดน้อยลงด้วยวิธีต่างๆประดามี ทิ้งใบ เฉาต้น เฉาใบ แห้งตาย ทิ้งเมล็ดไว้ ทิ้งเหง้าในดินไว้รอความชื้นในดินเพิ่มใหม่ จึงงอกใหม่

แถวนี้เคยมีไฟป่า เป็นไฟแบบเลียผิวดินหรือเผาลึกลงไปถึงรากไม้ ตอไม้ใต้ผิวดินชาวบ้านไม่ได้บอก บอกแต่ว่าเกิดจากก้นบุหรี่เจอซากไม้แห้ง ลามไปไกลเพราะกิ่งแห้งของไม้ล้มลุก เวลาเห็นสาบเสือขึ้นแน่นขนัดไปหมด ชาวบ้านจะปล่อยวัวเข้ามาย่ำเพราะกังวลกับการกลายเป็นเชื้อไฟในหน้าแล้ง

หญ้าเป็นพืชที่แห้งแล้วติดไฟง่าย สาบเสือ ยอป่ารอนกิ่งตัวเองในหน้าแล้ง ต้นเหตุของไฟป่าเกิดได้จากฟ้าผ่า โดยเฉพาะฟ้าผ่าในหน้าแล้ง กิ่งไม้ที่เสียดสีกัน แสงแดดส่องผ่านหยดน้ำทำให้เกิดไฟได้ แล้วยังมีคนช่วยจุดไฟอีก การใช้ไฟเผาให้ป่าโล่งเพื่อให้เดินป่าหาของป่า กระตุ้นผักหวานให้แตกยอด จุดไฟลนรังมดแดงเก็บไข่ ใช้ไฟให้แสงสว่างเวลาเดินป่ากลางคืน มีไฟ มีเชื้อเพลิงรอพร้อม มีรึจะไม่เกิดกองไฟ ต้นเหตุเหล่านี้มีครบหมดในพื้นที่นี้

ข้อมูลที่ให้ประโยชน์สำหรับการเลือกชนิดพันธุ์ไม้มาปลูกเพื่อป้องกันไฟป่าไปพร้อมการปลูกป่ามีแค่นี้เอง "ไม่ปลูกป่าล้วนๆ เลือกปลูกไม้ชนิดที่ทนไฟ" สั้นจนไม่รู้จะนำไปใช้ต่อยังไงลงตัว

แกะรอยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็บอกตัวเองว่า เห็นทีควรใคร่ครวญไตร่ตรองการจัดการกับดงสาบเสือ พันธุ์หญ้า และพืชล้มลุกที่จะใช้เป็นพืชคลุมดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้ดินให้เหมาะควรต่อไปกับหลักคิดที่จะให้ธรรมชาติทำงานฟื้นฟูป่า แปดสิบเปอร์เซ็นต์ และใช้ฝีมือตัวช่วยธรรมชาติปรับปรุงยี่สิบเปอร์เซ็นต์

หมายเลขบันทึก: 582606เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท