"อินเตอร์เน็ต" ภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม


ทุกวันนี้ หากถามเยาวชนรุ่นใหม่ว่ามีใครบ้างที่ไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ต คงมีน้อยคนที่ตอบว่า "ไม่" เพราะอินเตอร์เน็ตได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไปแล้ว เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่ใครหลายคนต้องพกติดตัวตลอดเวลา ไม่เคยลืมถือเลย แม้ว่าจะออกมานอกบ้านแล้วก็ตาม หากลืมโทรศัพท์มือถือก็จะกลับไปเอามาจนได้...

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้คิดค้นอินเตอร์เน็ตมาใช้เป็นประเทศแรก วัตถุประสงค์เริ่มแรกที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการของกองทัพ ต่อมาไม่นานอินเตอร์เน็ตก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยที่แรกที่นำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ คือ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ (ม.อ.)

ผู้เขียนเคยสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของนักศึกษาพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่กว่า 95% ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน ซึ่งกิจกรรมที่มีอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้ส่งข้อมูล ผ่าน e-mail คุยกับเพื่อนๆ(chat) ประชุมทางไกล ค้นคว้าข้อมูล ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ดูดวง ทำการค้าผ่านออนไลน์(e-commerce) ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ เป็นต้น และจากการที่อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งสารพัดประโยชน์นี่เอง นักวิชาการหลายคนจึงมีความเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมเสพติดอินเตอร์เน็ตไปแล้ว ซึ่งนักศึกษาหลายคนยอมรับว่าวันใดไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตจะรู้สึกหงุดหงิด...เหมือนชีวิตขาดอะไรบางอย่างไป

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ แม้ว่าจะมีประโยชน์มากมายสักเพียงใด ย่อมมีโทษเช่นกัน เช่น ไฟฟ้า และ น้ำ ถ้าเราใช้อย่างถูกวิธีก็จะมีประโยชน์มหาศาล หากเราใช้ผิดวิธีก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายถึงแก่ชีวิตได้ ไม่เว้นแม้แต่อินเตอร์เน็ตที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าอินเตอร์เน็ตจะมีโทษหรือข้อเสียด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างของภัยที่เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น

1. การแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับจินตนาการ คนรอบข้างมักวิตกกับปัญหานี้ ซึ่งนับวันจะพบว่าเยาวชนจำนวนมากขาดวิจารณญาณในการรับชม รับฟัง ข้อมูลข่าวสาร แยกไม่ออกว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ (แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนยังแยกไม่ออก) บางคนเข้าใจผิดว่าเหตุการณ์ในเกมส์เกิดขึ้นจริงๆ หรือบางคนเกิดความอยากรู้อยากที่จะลองทำตามว่าชีวิตจริงจะเหมือนในเกมส์หรือไม่ อย่างไร จนก่อให้เกิดอาชญากรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

2. การปิดกั้นจินตนาการของคนทำงาน เช่น แทนที่เราจะออกแบบ หรือ คิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง ที่เป็นงานสร้างสรรค์ ด้วยสมองของเราเอง แต่กลับเลือกที่จะไปค้นหา(search) จากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาปะติดปะต่อเสียใหม่เป็นของเราเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีส่วนดีที่ไม่ต้องคิดเองให้ปวดหัว ใช้ฐานข้อมูลที่คนอื่นคิดไว้แล้วนำมาประยุกต์ใช้อย่างที่ใครหลายคนเรียกว่า "บูรณาการ"นั่นเอง ...แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการ "ขังจินตนาการ"ของตนเองให้อยู่ในกรอบแคบๆ ไม่ได้คิดอะไรแปลกใหม่เลย ทั้งๆที่หากเราคิดเองก่อนอาจจะได้ชิ้นงานที่สวยงาม แปลกใหม่ และมีความคิดสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้

3. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหายไป พบว่าปัจจุบันเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่แบ่งเวลาไม่เป็น ซึ่งตามปกติเยาวชนจะใช้เวลาสำหรับการเรียนประมาณ 8 ชม./วัน นอนหลับพักผ่อน ประมาณ 8 ชม./วัน และทำกิจกรรมอื่นๆ (สันทนาการ)ประมาณ 8 ชม./วัน นักวิชาการให้ข้อมูลว่าความเหมาะสมของชั่วโมงการเล่นอินเตอร์เน็ตควรอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง/วัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของการใช้เวลากับกิจกรรมสันทนาการ (ยกเว้นคนทำงานที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ) หากเยาวชนให้เวลากับการเล่นอินเตอร์เน็ตมากกว่าความจำเป็นก็จะไปเบียดบังเวลาที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นไปอย่างน่าเสียดาย...

เช่น ก่อนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตคนจะเดินทางไปหาเพื่อน/คนรู้จัก ได้พูดคุยสารทุกข์สุขดิบแบบเห็นหน้าตาจนหายคิดถึง เมื่อมีอินเตอร์เน็ตกลับเปลี่ยนมาเป็นวิธีการคุย (Chat)กันทางอินเตอร์เน็ตแทน ผู้เขียนจึงเปรียบเทียบการสนทนาทางอินเตอร์เน็ตว่าเหมือนกับดอกไม้พลาสติก...แม้ว่าจะสวยเหมือนดอกไม้จริงแต่ไม่มีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับการคุยทางอินเตอร์เน็ตแม้ว่าจะเป็นการคุยเหมือนกันแต่รสชาติการคุยต่างกัน...นอกจากนี้ การให้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากเกินไปยังส่งผลให้เวลาที่จะทำกิจกรรมกับครอบครัวขาดหายไปด้วย เช่น ดูโทรทัศน์ ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ ออกกำลังกาย และการออกไปกินข้าวนอกบ้านร่วมกัน เป็นต้น

4. ความรวดเร็วในการส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตบางครั้งทำให้ขาดการคัดกรองข้อมูลให้ถูกต้องก่อนที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ หลายคนยอมรับในความรวดเร็วของการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตว่าเป็นวิธีการที่ส่งผ่านข้อมูลที่เร็วที่สุด เพียงไม่กี่นาทีก็สามารถส่งข้อมูลทุกรูปแบบ ทั้งรูปภาพ แสง สี เสียง หรือที่เรียกว่าข้อมูลแบบมัลติมีเดีย(Multimedia) บ่อยครั้งที่ความรวดเร็วกลับกลายเป็นดาบสองคมทำให้เกิดความเสียหายของใครหลายคน เช่น การเผยแพร่คลิป วิดิโอที่ไม่เหมาะสมต่างๆซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ผู้ถูกเผยแพร่ได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง และอาจขาดรายได้ที่จะได้รับในอนาคต หรือแม้แต่การให้ข้อมูลการสัมภาษณ์บางประเด็นที่ขาดการใช้วิจารณญาณว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งผู้เขียนเปรียบเทียบประเด็นนี้ว่าเหมือนการ "พูดก่อนคิด" อันตรายที่ตามมาจึงอาจน่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึงเพราะกำลังทำก่อนคิด...ไม่ได้คิดก่อนทำ ดังนั้น ความเชื่องช้าที่ใครหลายคนปฏิเสธมาโดยตลอดในยุคโลกาภิวัตน์(Globalization) จึงอาจเป็นผลดี...ถ้าเรานำมาใช้ถูกที่ถูกเวลา..

สรุปได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนมีทั้งคุณและโทษ ถ้ารู้จักใช้ก็จะเป็นคุณ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเป็นโทษนั่นเอง ดังนั้น "อินเตอร์เน็ต" จะเป็นคุณหรือโทษ จึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้เป็นสำคัญ...

หมายเลขบันทึก: 582362เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท