Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

ประชาธิปไตยและการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550


ประชาธิปไตยและการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550
ประชาธิปไตยและการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 พิชัย    สุขวุ่นการปฏิรูปการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 เป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย  โดยได้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่เราเรียกขานกันนั้นมิได้เป็นประชาธิปไตยในอุดมคติอย่างแท้จริง  ประชาชนและพรรคการเมืองได้สมคบกัน  โดยการผ่านการสื่อสารที่ทันสมัยแสดงออก และโน้มน้าวให้ประชาชนได้เห็นว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกฝ่ายที่ให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก  พรรคที่จัดทำนโยบายตามกิเลสของประชาชนก็ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย  และสุดท้ายการดำเนินการทางการเมือง
ก็เป็นไปอย่างที่ประกาศนโยบายเอาไว้ คือตามใจกิเลสของประชาชน (ประชานิยม) แต่กิเลสของนักการเมืองอันเป็นหัวหน้าประชาชนนั้นกอบโกยทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้เลือกตั้งก็ได้บ้างเช่นเดียวกัน แต่น้อยนิดเมื่อเปรียบกับผู้นำ เหตุการณ์นี้คือการทะเลาะกันระหว่างประชาชนผู้มากด้วยกิเลส  และนักการเมืองผู้มีกิเลสมากกว่า การปฏิรูปการปกครองเมื่อ 
19 กันยายน 2549 จึงช่วยบรรเทาหรือยุติบทบาทของคนที่มีความขัดแย้งเพราะมีกิเลส    ทั้งคู่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการทบทวนว่าเราจะเอาอย่างไรกันดีในโอกาสข้างหน้า จะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะปกครองกันอย่างไร  แต่สิ่งที่ควรเลิกเสียโดยเร็วคือการตามใจกิเลสของ       ทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นก็ไม่ทราบได้ เพราะกิเลสนั้นไม่เคยสร้างความพอเพียงให้แก่ฝ่ายใดเลยแม้แต่น้อย  มีแต่ต้องเพิ่มขึ้นและไม่มีขีดจำกัด นี่คือหน้าที่ของกิเลสต้องเป็นไปอย่างนี้
                การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าเรามีปัญหาอะไรอยู่เป็นพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ไขไม่ตรงจุด จนทำให้เกิดนักปฏิวัติขึ้นมากมาย ต่อไปจะไม่ใช่ทหารเท่านั้น ประชาชนธรรมดาก็จะกลายเป็นนักปฏิวัติโดยสองมือเปล่า เพราะสถานการณ์      ของการเมืองนั้นสร้างเงื่อนไขนี้ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ในโอกาสที่จะร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี  2550 นี้ ประเทศไทยได้ระดมนักกฎหมายที่กล่าวขานกันว่ามีฝีมือดีมากมาย มาให้ข้อเสนอแนะปรากฏว่า  เป็นข้อเสนอแนะไร้ทางออกเป็นส่วนใหญ่ เพราะวัฒนธรรม  ทางการเมืองของประชาชน  นักการเมือง และนักวิชาการ  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด บอกได้แค่ว่าสาเหตุของการไร้ประสิทธิภาพคือการไม่รับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ความไม่รับผิดชอบที่กล่าวถึง ก็คือลักษณะที่ทุกฝ่ายมีกิเลสครอบงำนั่นเอง คนเหล่านี้อย่าว่าแต่จะรับผิดชอบบ้านเมืองเลย แม้แต่ตัวเองยังรับผิดชอบไม่ได้ คือแค่ขจัดกิเลสในตนเองก็ยังทำไม่ได้  จึงไม่ควรพูดถึงความรับผิดชอบ  ที่จะเป็นตัวแทนการใช้อำนาจของประชาชน ดังนั้นหากฝ่ายต่างๆ ยังสลัดตัวเองออกจากกิเลสไม่ได้ ก็คงไม่มีวิธีใดที่จะแก้ไขปัญหาการเมืองได้ ระบบประชาธิปไตย จึงเป็นระบบที่กลุ่มต่าง ๆ มาต่อรองเรื่องผลประโยชน์กันเท่านั้น  สภาพเช่นนี้มันก็มีแต่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น  ทั้งในลักษณะสงครามร้อนและสงครามเย็น                การแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ผมเห็นว่าเราควรกลับด้านความคิดกันใหม่ทั้งหมด กลับไปจุดที่กำเนิดของระบบประชาธิปไตย เวลาที่เกิดระบบประชาธิปไตย ก็เพราะไม่ต้องการให้    ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนืออธิปไตย ระบบตัวแทนจึงเกิดขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ ของกลุ่มต่าง ๆ ระบบนี้เกิดมาเมื่อ 3,000 ปีที่และปรัชญาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่าสำนึกประชาธิปไตยก็เกิดจากความขัดแย้งนั่นเอง และประชาธิปไตยก็คือระบบที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง  แนวคิดเช่นนี้ควรเลิกล้มไปได้แล้ว และสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาแทนโดยไม่ต้องเริ่มต้นจากวัฒนธรรมแห่งความขัดแย้งและผลประโยชน์  โดยคิดใหม่ว่ากิเลสในตัวเรามีหน้าที่เสี่ยงให้เราต้องต่อสู้กันในรูปแบบต่าง ๆ  ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เมื่อเราปลดสลักนี้ออกได้ ชีวิตก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ดังนั้นการแปลความหมายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั้นต้องเป็นปวงชนที่มีคุณภาพดี ปวงชนที่ไม่กิเลสครอบงำ ไม่ว่าเราจะเป็นชาวนาหรือนักปกครอง คุณภาพของปวงชนก็คือศักยภาพในการทำลายกิเลสนั่นเอง                การปกครองแบบใหม่ควรเริ่มต้นจากการปกครองตนเองให้พ้นการครอบงำของกิเลสเสียก่อน เมื่อสลัดสิ่งนี้ได้ประชาธิปไตยแบบสันติก็เกิดขึ้นทันที เพราะเมื่อชนะกิเลสได้แล้ว เราก็ต้องการปัจจัยน้อย บริโภคเท่าที่จำเป็น การปฏิสัมพันธ์ก็เป็นไปอย่างจริงใจ ไม่มีใครต้องการจะเอาเปรียบใคร บทเรียน 70 ปีของการปกครองบนภายใต้พื้นฐานของผลประโยชน์  ไม่อาจมีระบบประชาธิปไตยที่ช่วยเหลือให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ กรอบแนวคิดเช่นนี้จะทำให้คนเรามองเห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ด้านมืดของชีวิต เราอาจจะใช้ด้านมืดจนเคยชินจนคิดว่าโลกมีด้านเดียว คือการต่อรองกันเพื่อแข่งขันผลประโยชน์ ไม่เคยมองเห็นโลกอีกด้านที่สว่างไสว และมีความสวยงามอยู่เป็นพื้นฐาน ผมขอยกคำอธิบายว่าด้วยหลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเราควรเข้าใจชีวิตในด้านที่อยู่เหนือกิเลสบ้าง ซึ่งท่านได้ให้คำนิยามของคำว่า ธรรมะ ว่าหมายถึงความหมายใน 4 ลักษณะ                1)  หมายถึง ธรรมชาติ คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุและผลต่อเนื่องกัน                2)  หมายถึง กฎ คือ กฎที่ใครสร้างไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำลายไม่ได้                3)  หมายถึง หน้าที่ คือ ต้องทำตามหน้าที่ให้ถูกต้องถ้าทำผิดจะมีปัญหา                4)  หมายถึง ผลของการทำหน้าที่ คือ ต้องได้รับผลที่ไม่มีความทุกข์หากทำหน้าที่ถูกต้อง                หากใช้กรอบใน 4 ข้อที่กล่าวมา  พิจารณาการเปลี่ยนผ่านของระบบประชาธิปไตย 
ก็ต้องมองว่า  ภาวะความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์เป็นไปตามกฎข้อที่
1 คือ  เป็นภาวะของธรรมชาติ (ธรรมชาติของกิเลส) ตามกฎข้อที่ 2 เมื่อมีความขัดแย้งย่อมเป็นทุกข์ ตึงเครียดนี้เป็นไปตามข้อที่ 2 กฎ ข้อที่ 3 คือ หน้าที่ที่ต้องทำ  มีให้เลือกว่าจะทำหน้าที่เพื่อขัดแย้งหรือสันติ  แต่เราก็เลือกที่จะทำหน้าที่แห่งความขัดแย้ง และกฎข้อที่ 4 ผลของการทำหน้าที่ก็คือ  ความขัดแย้งและความทุกข์ ประชาธิปไตยของไทยก็เดินตามกฎนี้เช่นเดียวกัน
                สิ่งที่น่าพิจารณาควรจะอยู่ในลักษณะที่ 2 คือ ธรรมะมีลักษณะเป็นกฎ ไม่มีใครแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยุบเลิกได้ และไม่เกรงใจใคร  และกฎก็มีอยู่ 2 ด้าน คือ ผิดกับถูก หากทำถูกกฎ ก็ไม่มีความขัดแย้ง ความหมายของคำว่าถูก  คือมีชัยชนะเหนือกิเลส ส่วนผิดกฎคือทำไปตามที่กิเลสนั้นต้องการ แต่คนเราก็มักจะทำไปตามกิเลสแล้วแปรความหมายว่าถูกกฎเสมอ  ถูกกฎในที่นี้อาจหมายถึงถูกกฎหมายแต่ไม่อาจถูกกฎแห่งธรรมะ ทำถูกกฎหมายก็ยังผิดกฎ แห่งธรรมะอยู่ดี                การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ก็คือการสร้างเกราะป้องกันกิเลสของฝ่ายต่างๆ  ประชาธิปไตยจึงแก้ไขไม่ได้ด้วยการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างรัดกุม  และแม้จะใส่บทบัญญัติรับรองสิทธิของปวงชนไว้มากเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเหตุว่า  ปวงชนพ่ายแพ้แก่กิเลสอย่างยับเยิน การปฏิรูปจึงควรแก้ไขให้ปวงชนปฏิบัติตามกฎแห่งสันติหากเราชนะกิเลสได้จริง  การปฏิรูปการปกครองก็ไม่จำเป็น 
หมายเลขบันทึก: 58167เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยากทราบว่าความแตกต่างระหว่าง รัฐธรรมนูญอังกฤษ และสหรัฐแตกต่างกันอย่างไร และเป็นการปกครองแบบใดทั้งสองประเทศทีการปกครองภาพรวมๆเป็นอย้างไร.......ช่วยตอยที่นะค่ะ

อยากทราบว่าความแตกต่างระหว่าง รัฐธรรมนูญอังกฤษ และสหรัฐแตกต่างกันอย่างไร

ปัญหาคือรัฐธรรมนูญ หรือ คุณธรรมของนักการเมือง...ไก่กับไข่ จะแก้สิ่งไหนก่อน แก้รัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด..ต้องใช้ภาคประชาชน ทำให้ นักการเมืองละอายไม่กล้าทำผิด ทำสิ่งน่าอาย

อยากว่าปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญค่ะเพราะว่าจะต้องเอาไปสอบ

อยากทราบปัยหากฎหมายรัฐธรรมนูญว่ามีอะไรบ้าง ช่วยบอกที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท