หนังสือแบบไหนเหมาะกับลูกของคุณ


หนังสือแบบไหนเหมาะกับลูกของคุณ

ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กๆ รักการอ่านมากยิ่งขึ้น บางครอบครัวอาจเริ่มปลูกฝังให้บุตรหลานรักการอ่านตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ด้วยเด็กทุกคนย่อมมีพัฒนาการ ลักษณะนิสัย ความสนใจอยากรู้อยากเห็นที่แตกต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมของครอบครัวรวมถึงวิธีการเลี้ยงดู เฉกเช่นกับหนังสือที่ต้องเลือกให้ตรงกับช่วงวัยของเด็กๆ ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตและพัฒนาการ โดยต่อยอดให้เด็กๆรู้จักโลกของหนังสือ จุดประกายจินตนาการ จนกลายเป็นเด็กรักการอ่านหรือหนอนหนังสือในที่สุด

หนังสือสำหรับเด็กนั้นควรมีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อเรื่องและภาพประกอบ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ นิทาน หนังสือภาพ หนังสือคำคล้องจอง สารานุกรม หนังสือประเภทการประดิษฐ์ หนังสือผ้า หนังสือที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน หนังสือที่มีเสียงประกอบ ฯลฯ เพื่อช่วยส่งเสริมประสบการณ์รอบตัวของเด็กๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึง หากจะต้องเลือกหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้น ต้องมีการใช้ภาษาสละสลวย ช่วยให้เกิดจินตนาการ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนเกินไป สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ต่างๆ หรือในเรื่องที่มีตัวเอกเป็นคนไม่ดี หรือเป็นตัวเอกที่เกเร แล้วตอนจบ จะต้องเกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง หรือประเภทให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว เพราะเนื้อเรื่องจากหนังสือจะทำให้สะดุดความรู้สึกแก่เด็กหรือตรงใจเขา เด็กอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลยก็ได้ ฉะนั้นหนังสือสำหรับเด็กมีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กๆ ตามที่ผู้ใหญ่พึงประสงค์ได้ อีกทั้งรูปเล่มจะต้องมีความจูงใจให้เด็กๆ สนใจ ทั้งขนาดตัวอักษร จำนวนหน้า จำนวนคำศัพท์ เหมาะสมกับวัย สีสันสดใสสบายตา ไม่ใช้สีสะท้อนแสง และหมึกที่ใช้พิมพ์หนังสือต้องไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

มีคำกล่าวว่า "หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุด" ด้วยหนังสือสามารถสร้างแรงบันดาลใจก่อเกิดนักปราชญ์มาแล้วหลายท่าน และหนังสือทุกเล่มล้วนแต่มีประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับเด็ก เพราะจะช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจของเด็กๆ แต่หนังสือที่ให้ความสุขและความสนุกแก่เด็กได้นั้น คุณพ่อคุณแม่เองควรมีส่วนในการเลือกให้เหมาะสมกับวัย พัฒนาการและความสนใจของลูก เพื่อการสร้างพื้นฐานรักการอ่าน ทั้งยัง เป็นการสร้างความสุขให้คนในครอบครัว และปลูกฝั่งการมีมนุษย์สัมพันธ์ให้เด็กๆ ได้อีกด้วย

\

(บทความโดย: คุณครูธนพัชร ธนะศาล ภาควิชา...( หรือชื่อสังกัดวิชา)

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เชียงใหม่

###

หมายเลขบันทึก: 581221เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท