​แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้


แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้

ความรู้เป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับองค์กร องค์กรจึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ให้โดดเด่นอันเป็นต้นทุนที่สำคัญขององค์กรเพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน และเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า
ความหมายของความรู้
นักวิชาการได้สรุปและเสนอแนวคิดไว้มากมาย แต่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก จึงสรุปได้ว่า ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ประสบการณ์จริง (Experience) ที่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติทำจริง หรืออาจหมายถึงประสบการณ์ที่สามารถทำงานได้สำเร็จ (Eftectiveness)
ความหมายใน Longman Dictionary ได้อธิบายว่า ความรู้ คือ ข้อเท็จจริงต่างๆ (fact) ทักษะต่างๆ (skill)
และความเข้าใจ (understanding) ซึ่งได้จากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ (Longman Dictionary,p.)
วิจารณ์ พานิช (2548, หน้า 5) อธิบายว่า ความรู้เป็นสิ่งที่นำไปใช้ไม่หมดไม่สึกหรอ แต่จะยิ่งงอกเงยขึ้น ซึ่งเป็นสารสนเทศ
ที่นำไปสู่การปฏิบัติ

สรุปความหมายของความรู้

ความรู้ เป็นการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ ค่านิยม ความเข้าใจ การรู้โดยสัญชาติญาณ และสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการประเมินและการเอาประสบการณ์และสารสนเทศใหม่ๆ ของบุคคล ความรู้เป็นสิ่งที่นำไปใช้ไม่หมดไม่สึกหรอ แต่จะยิ่งงอกเงยขึ้น นำไปใช้ในการสรุปและตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นิยามของความรู้ในรูปแบบปิรามิด
Hideo Yamazail นักวิชาการชาวญี่ปุ่นได้อธิบายนิยามของความรู้ที่อยู่ในรูปแบบปิรามิดแห่งความรู้หรือระดับความรู้มีอยู่ 4 ประเภท
- ข้อมูล
- สารสนเทศ
- ความรู้
- ภูมิปัญญา

ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งยังเป็นข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการประมวลผลใด เช่น ตัวเลข ตัวหนังสือ ข้อเท็จจริง รูปภาพที่สื่อความหมาย ได้แก่ จำนวนนักศึกษา จำนวนรายวิชาที่เรียน

สารสนเทศ (Information) คือ ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการประมวลผลแล้ว

ความรู้ (Knowledge) ความรู้เป็นสารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบประกอบด้วยสาระ หลักการ และประสบการณ์ ซึ่งสามารถชี้แนะแนวทางในการดำเนินการ การบริหาร การแก้ปัญหา เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น จากการนำข้อมูลนักศึกษา
คะแนนการเรียนแต่ละรายวิชานำมาวิเคราะห์แต่ละภาคการศึกษาทำให้รู้ว่านักศึกษาแต่ละคนมีเกรดเฉลี่ยอยู่เท่าไหร่ต่อภาคการศึกษา
ความรู้ มีหลายนัยและหลายมิติ (ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์พานิช,2548, หน้า 5-6) คือ
- ความรู้ คือสิ่งที่นำไปใช้จะไม่หมด หรือสึกหรอ แต่จะยิ่งงอกเงยหรืองอกงามขึ้น
- ความรู้ คือ สารสนเทศที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
- ความรู้ที่เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องการใช้ความรู้นั้น
- ความรู้เป็นสิ่งที่ขึ้นกับบริบทและกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยความต้องการ

ภูมิปัญญา (wisdom) ภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวคน นำมาประยุกต์หรือพัฒนาการทำงานให้เกิดประโยชน์ บางครั้งเรียกว่า "ปัญญาปฏิบัติ"
แหล่งเก็บความรู้ในองค์กร
ตามที่ Delpi ได้สำรวจจากหน่วยงานที่เป็นเลิศ จำนวน 400 บริษัท (สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ,2548:9) พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งเก็บความรู้ในองค์กร
- ความรู้ที่อยู่ในตัวคน (สมอง) 42%
- ความรู้ที่เก็บอยู่ในรูปแบบเอกสาร (กระดาษ) 26%
- ความรู้ที่เก็บอยู่ในรูปเอกสาร (Electronic) 20%
- ฐานข้อมูลความรู้ (Knowledge Base,IT) 12%

ประเภทของความรู้

ศาสตราจารย์โนลากะและทาเคอูชิ (Nonaka and Tajeuchi)ได้แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.ความรู้โดยนัย (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวบุคคล ยากที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร เช่น ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์ ความรู้สึกนึกคิด ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ ความรู้ประเภทนี้สามารถพัฒนาและแบ่งปันได้ และเป็นความรู้ที่สร้างความเอาเปรียบในการแข่งขัน
2.ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่เป็นเหตุและผล สามารถเขียนบรรยายหรือถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ข้อความ กฎเกณฑ์ สูตร นิยาม หรือลักษณะตัวแบบทางคณิตศาสตร์ได้ เช่น หนังสือ เอกสาร และคู่มือต่างๆ
ความรู้โดยนัยมีมากกว่าความรู้ที่ชัดแจ้ง คือมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 80 : 20 หากเปลี่ยนความรู้ชัดแจ้งเป็นภูเขาน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งโผล่พ้นน้ำอยู่ 20 % ความรู้โดยนัยจะเปรียบได้กับส่วนของน้ำแข็งที่อยู่ไต้น้ำซึ่งมีอยู่ถึง 80 %

ระดับความรู้ (Levels of Knowledge)
ตามแนวคิดของ James Brain Quinn (อ้างอิงในสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ,2548;16)แบ่งระดับความรู้เป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1: Know - what (รู้ว่าคืออะไร) เป็นความรู้เชิงรับรู้ หรือความรู้ความรู้ที่ได้มาจากการเรียน เห็น หรือจดจำ มีลักษณะเป็นความรู้ในภาคทฤษฏีว่า สิ่งนั้นคืออะไร
- ระดับที่ 2: Know - how (รู้ว่าเป็นอย่างไร/รู้วิธีการ)เป็นความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
- ระดับที่ 3: Know - why (รู้ว่าทำไม/รู้เหตุผล)เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งเชิงเหตุผลที่สลับซับซ้อนขึ้น ภายใต้เหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ความรู้ในระดับนี้สามารถพัฒนาได้บนพื้นฐานของประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและการอภิปรายร่วมกับผู้อื่น
- ระดับที่ 4: Care - why (ใส่ใจกับเหตุผล) เป็นความรู้ในลักษณะการสร้างสรรค์ที่มาจากตัวเอง บุคคลที่มีความรู้ในระดับนี้จะมีเจตจำนงแรงจูงใจ และการปรับตัวเพื่อความสำเร็จ


หมายเลขบันทึก: 581177เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท