D12-D13 Pareto mission : [สมสุข-สุขใจ] วิธีสอนอ่านที่ถูกต้องแก่เยาวชน


เมื่อเยาวชนอ่านหนังสือก็ไม่อ่าน แล้วเราจะสอนอ่านที่ถูกต้องให้เยาวชน ได้อย่างไร

วันที่สิบสองและสิบสามของปฏิบัติการปาเรโต้ เสาร์สนุกและอาทิตย์หรรษา ..
....
ช่วงนี้เช้าๆ อากาศเย็นสบายดี มีลมพัดเบาๆ แต่พอกลางวันก็ร้อนมากเช่นเคย เช้านี้เป็นเช่นทุกเช้าหลายปีมาแล้วที่ สมสุข มาพบและพูดคุยกับ สุขใจ ที่หน้าร้านกาแฟอาโก ในตลาดแห่งหนึ่งเช่นเคย วันนี้เป็นเช้าวันอาทิตย์ มีผู้คนมาจับจ่ายซื้อของหนาตากว่าวันอื่น อาจเป็นเพราะวันนี้เป็นวันที่สามารถจอดรถริมถนนได้ โดยที่ไม่โดยเหล็กชุบสีเหลืองๆล็อกที่ล้อ และผู้คนส่วนใหญ่ก็จะหยุดทำงานในวันอาทิตย์


สมสุข : " เมื่อวานได้พบและพูดคุยกับครูที่เป็นเพื่อน คบหากันมานาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กนักเรียนสมัยนี้ ส่วนหนึ่งนอกจากจะอ่านหนังสือไม่ออกแล้ว ยังเขียนหนังสือกันผิดๆถูกๆ และบ่นว่าน่าเป็นห่วงว่าเด็กรุ่นนี้จะไปทำอะไรต่อในเมื่ออ่านหนังสือก็อ่านไม่ได้แล้ว ผมเห็นเพื่อนเล่นไลน์ด้วย น่าจะได้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนมากมาย เพื่อนมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ "


สุขใจ : " เรื่องโซเชียลมีเดียทั้งหลายนี่ก็ เอาไว้ติดตามสถานการณ์เป็นส่วนใหญ่ อันนี้อย่าว่ากันนะ พอดีผมนึกออกประเด็นที่เกี่ยวกับน้องตาโต ทุกวันนี้ จากที่ได้ติดต่อกับกลุ่มเพื่อนๆน้องตาโตทางไลน์ น้องๆยุคนี้ เมื่อต้องการจะสื่อสารโดยการเขียนข้อความต่างๆ มักจะเขียนความเห็นโดยเน้นความเร็วในการเขียนตอบและเน้นการสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าความสวยงามหรือความถูกต้องของภาษา และโดยมากที่เขียนกันคือเอาภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน ในเมื่อเน้นอารมณ์ก็มักจะมีคำอุทานต่างๆ ที่โดยปกติเราไม่ได้ใช้เวลาเราเขียนหนังสือ"


สมสุข : " พอดีไม่ค่อยได้เข้าใช้โปรแกรมประเภทนี้ ที่ว่ามาเป็นยังไงละ ช่วยยกตัวอย่างหน่อย "


สุข ใจ : " อย่างเช่น ... การเขียนอย่างเร็วๆ มักจะเขียนวว่า ชอบจุงเบย อะเคร ครึครึ คริคริ อิอิ มาแว้ว เคียดเบย วลีหรือคำเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงการสื่ออารมณ์หรือความหมายเน้นที่เขียนหรือพิมพ์ให้เสร็จเร็วๆ และ พร้อมส่งไปแบบเร็วๆ มากกว่าการประดิษฐ์ ร้อยเรียงถ้อยคำตามหลักภาษาไทย ยิ่งเดี๋ยวนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่เรียกกันว่า สมาร์ทโฟนนั้น มีหลายรุ่นที่ไม่ต้องพิมพ์ แค่พูดไปที่โทรศัพท์ เครื่องก็พิมพ์ตัวอักษรทั้งประโยคที่พูดให้เลยทีเดียว สะดวกมาก และยิ่งตอนนี้สามารถใช้กับภาษาไทยได้แล้ว กรณีที่ว่านี้ โปรแกรมนี้อาจจะพิมพ์ให้ผิดๆถูกๆไม่ตรงกับความต้องการนัก แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา เมื่อกำลังถามตอบกัน ณตอนนั้น ก็ไม่อยากให้คนอีกด้านรอนาน ก็เลยรีบร้อนกดส่งไป "


สมสุข : " ในเมื่อเยาวชน เขียนก็ไม่ได้ดี อ่านหนังสือก็ไม่อ่าน แล้วเราจะสอนอ่านที่ถูกต้องให้เยาวชน ได้อย่างไร "


สุขใจ :" อันนี้ต้องลองใช้วิชาที่เรียนเอ็มบีเอ มาประยุกต์ใช้ ... "


สมสุข : "อะไรกัน ... ต้องใช้ความรู้ของการบริหาร เชียวหรือ "

สุขใจ : " ประเด็นคือ ต้องหาปัญหาและกลุ่มเป้าหมายให้เจอ ว่าเยาวชนกลุ่มไหน มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เรียนชั้นไหน อยู่ที่ไหน ที่ยังอ่านหนังสือได้ยังไม่ถูกต้อง คือต้องหาทางเกาให้ถูกที่คัน ไม่ใช่เหวี่ยงแหหรือทำไปโดยไม่เน้นกลุ่มเป้าหมาย เพราะถ้าจะทำการแก้ไขโดยปูพรมไปหมดไม่เลือกเป้าหมาย ต้องอาศัยจำนวนคน ทรัพยากรและเวลาในการทำมากมาย เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นตอนที่เรียกว่า ขั้นตอนค้นหากลุ่มเป้าหมายและแยกแยะกลุ่มเป้าหมายตามความรุนแรงของสถาณการณ์ อาจจะต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการช่วยเลือกหรือสุ่มหาตัวอย่าง "

สมสุข : " ตอนแรกก็มองว่า น่าจะแค่สร้างโครงการรณรงค์เรื่องการอ่านที่ถูกต้องมาสักครั้งนึง คล้ายที่ใครๆทำกัน โดยไม่รู้ที่มาที่ไป เออ... ฟังแล้วชักรู้สึกดี แล้วขั้นต่อไปละ "

สุขใจ : " เมื่อกำหนดการศึกษาและหาว่าใคร กลุ่มไหน มีปัญหาหรือจุดอ่อนอะไร ตรงไหน ก็จะหากลวิธีหรือกลยุทธ์ในการเสริม เติม เพิ่มประเด็น ช่องทางต่างๆที่ยังขาดหรือที่เดี๋ยวนี้มักใช้คำว่า หาโอกาสพัฒนา รวมทั้งกำหนดระยะเวลา ก็จะได้มาซึ่งงบประมาณที่ต้องการใช้ รวมทั้งคนและของด้วย "

สมสุข : " เอ ... มองไป เป็นเรื่องหรือประเด็นที่ใหญ่โตเลยนะนี่ คนที่เกี่ยวข้องมีอยู่ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายลงมาถึงคนอีกหลายภาคส่วน แล้วจะสำเร็จเหรอ เอ่อ .... ทำเล็กๆ ได้ไหม "

สุขใจ : " ก็น่าจะได้ แต่จะเป็นการทำในส่วนเล็กๆ ที่พอทำได้ เช่น ผู้ปกครอง พ่อ แม่ ให้เด็กอ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน แล้วช่วยแนะนำ แก้ไข ให้เด็กฝึกเขียนอะไรที่ง่ายๆ เช่น เรียงความครึ่งหน้า บรรยายเรื่องที่เป็นตัวเขาหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ง่ายๆ แต่ต้องทำกันทุกบ้าน ทุกครอบครัวที่มีนักเรียน เยาวชนที่โตหน่อย ให้อ่านหนังสือแล้วสรุปให้ฟัง อาจจะเป็นการ์ตูน นิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องสั้น เป็นการปลูกฝังการอ่าน ให้เกิดขึ้นก่อน "

สมสุข : " อันที่เพื่อนแนะนำนี้ ค่อยเป็นไปได้และใกล้ตัวหน่อย น่าจะทำทั้งระดับใหญ่ และในระดับเล็กๆ ควบคู่กันไปนะ "

สุขใจ : " ก็เป็นวิธีที่ดีนะ ทำใหญ่และเล็กคู่กันไป แต่ประเด็นสำคัญ น่าจะอยู่ที่ให้เยาวชน มีโอกาสอ่านหนังสืออย่างจริงจัง จะนำไปสู่การได้พบเห็นการเขียนที่ถูกต้อง สละสลวย สื่อความหมายดีๆ ทำให้เยาวชนอยากอ่าน รักการอ่าน และรักการค้นคว้าโลกใบใหญ่โดยการอ่าน สุดท้ายเยาวชนก็จะอ่านอย่างถูกต้องต่อไป "

....

ครั้งนี้ สมสุข-สุขใจ นำเสนอเรื่องการเพื่อพัฒนาการอ่านที่ถูกต้องในเยาวชน กันมาซะยืดยาว หวังว่าผู้อ่านคงได้แนวความคิดหรือจุดประกายทำให้เกิดไอเดียที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องนี้นะครับ

ผิวสวย สุขภาพดี มีปัญญากันถ้วนหน้านะครับ

หมอสุข

หมายเลขบันทึก: 581011เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2014 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 04:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบใจเรื่องการอ่านครับ

เด็กๆหลายคนใช้ภาษาใน FB แบบน่ากลัว

พอมาเขียนภาษาจริงเลยไม่ถูกต้อง

ขอบคุณมากๆครับ

ใช้ Facebook หรือ line ก็พยายามเขียนให้ถูกต้องอยู่นะคะ เวลาจะใช้ศัพท์แบบที่เขาเขียนๆ กัน พอมีสติก็จะรู้ได้ว่าควรแก้ไขให้ถูก

ขอบพระคุณอาจารย์ขจิต และคุณสุรางค์ ที่แลกเปลี่ยนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท