สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

“เยาวชนบ้านซำผักหนาม” ลุกขึ้นมาปกป้องป่าไผ่


"ธรรมชาติ" เป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งการใช้สอย กิน ดื่ม และการรับผิดชอบรักษาดูแล ไม่เฉพาะแต่ผู้ใหญ่ เด็กๆ เองก็เป็นสมาชิกสำคัญของชุมชน ที่ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อม ที่หมู่บ้านซ้ำผักหนาม จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ กับพลังของเยาวชนในการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม เริ่มจากในชุมชนบ้านเกิด ลองไปติดตามเรื่องของพวกเขากันค่ะ ^^


>>> ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น "อนุรักษ์ "หลังถูกขุดจนหมดป่า



เพราะป่าไผ่ใกล้ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถูกชาวบ้านในหลายพื้นที่เข้ามาขุดหน่อไม้ไปขายปีละหลายร้อยตันและขุดรากไผ่ จนเกิดวิกฤติของป่าลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามคำบอกเล่าของ กลุ่มเยาวชน ป่า น้ำ ซำ ที่ลุกฮือกันขึ้นมาปกป้องผืนป่าไผ่อยู่ในขณะนี้


หมู่ บ้านซำผักหนาม หมู่ที่ 11 ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน หลังโครงการคจก.(โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวน เสื่อมโทรม)ได้อนุญาตให้ทั้ง 73 ครอบครัว เข้ามาอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดิมหลังถูกประกาศเป็นอุทยาน โดยมีการตกลงกับอุทยานว่าจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาป่า จึงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนต้องปกป้องผืนป่านี้ไว้ด้วย



กลุ่มเยาวชน ป่า น้ำ ซำ เป็นการรวมตัวของเยาวชนในบ้านซำผักหนามร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของลูกหลานในชุมชนจากรุ่นแรก พี่เหมียว(สุรางคณาง ชำนาญมูล) พี่สาหร่าย (ลูกผู้ใหญ่บ้าน) จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน รุ่นที่สองมีแกนนำอาทิ นายอนันตชา รัตนประทุม(ม็อบ) , นายภานุพงษ์ หาวอง (ต้าร์) ,นายนันทวัฒน์ ชาญชัย (ต่อ) ,นายสราวุฒิ ไชยดี (หนึ่ง) น.ส.ชุติกาญจน์ ศรีสร้อย (อ้อย) น.ส.จัตตุพร แก้วสิงห์ (แบม) ด.ญ.สุพัตรา วระไวย์ (เจี๊ยบ) ด.ญ.ชนากานต์ ฐานเจริญ (กิ๊ก) และน้องเล็กสุด ด.ช.สมเกียรติ แซงคำสิงห์ มีนายเจด็จ แก้วสิงห์(เพลิง) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลุ่ม


ภารกิจหลักของกลุ่มเยาวชนยังคง เป็นเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติแต่ในระยะหลังจากที่เยาวชนได้ร่วม ตั้งด่านกับอุทยานทำให้พบว่าในแต่ละปี หน่อไม้และรากไผ่ ถูกชาวบ้านรอบนอกมาขุดไปเป็นจำนวนมากปีละหลายร้อยตัน จนเข้าไปดูในพื้นที่ป่าพบว่าเกิดปัญหาป่าหาย ไผ่ร้างกอ สร้างการตื่นตัวในการอนุรักษ์จึงเกิดเป็น โครงการศึกษาเรียนรู้ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไผ่ของชุมชน ภายใต้โครงการปลูกใจรักษ์โลกปี 2 ดำเนินงานโดยมูลนิธิกองทุนไทย สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ขึ้น มาเพื่อศึกษาเรียนรู้ไผ่ในชุมชนพร้อมจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์การใช้สอยจาก คนในและนอกหมู่บ้าน ว่ามีปริมาณเท่าไรในแต่ละปีเพื่อนำข้อมูลนี้ไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุทยาน ผู้ใหญ่บ้าน ได้มีข้อมูลในการดำเนินการวางแผนและจัดระเบียบการใช้ไผ่ในลำดับต่อไป



นอกจากกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าไผ่แล้ว กลุ่มเยาวชน ป่า น้ำ ซำ ยังต้องเร่งค้นหา "แกนนำรุ่นสาม" ควบ คู่กันไปด้วย เพื่อมาช่วยสานต่องานของชุมชนให้มีความต่อเนื่องและเข้มแข็ง เนื่องจากเยาวชนรุ่นสองมีหลายคนที่ต้องไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้ง ต้าร์,ต่อ,หนึ่ง,อ้อย และ แบม จึงได้มีการจัดกิจกรรมค่ายจิตอาสาเพื่อพัฒนาตัวแทนนำร่อง เป็น เวลา 1 วัน ชักชวนเด็กและเยาวชนในชุมชน อายุ10-18 ปี เกือบ 20 คน ที่ยังไม่เข้าร่วมกลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ลานเอนกประสงค์ของโรงเรียนบ้าน ซำผักหนาม (ปัจจุบันโรงเรียนไม่ได้สอนแล้ว) เช้าวันอาทิตย์ที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนต่างทยอยมาถึง น้องซ้อนจักรยาน มอเตอร์ไซด์พี่ๆ แกนนำช่วยกันปูเสื่อ เริ่มกิจกรรมด้วยสันทนาการสร้างความคุ้นเคย ฟังพี่เล่าที่ไปที่มาของการทำ โครงการ ความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไผ่ ประสบการณ์การทำงานของพี่ๆ อย่างตาแป๊วสนอกสนใจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ จากนั้นได้เชิญปราชญ์ในชุมชน ได้แก่ พ่อแก้ว วงษ์ไกร และพ่ออุทิศ วงษ์บุญชา ที่มีความชำนาญเรื่องการจัดการป่าชุมชนมาให้ความรู้เกี่ยวกับไผ่ ปัญหาที่เกิดขึ้น และสุดท้ายทั้งสองได้ฝากฝังการดูแลชุมชนไว้ในมือของเด็กๆ ทุกคนให้ช่วยกันสานงานต่อไป



"พ่อก็ดีใจมากที่เห็นลูกๆ หลานๆ มารวมตัวกันทำกิจกรรมในชุมชน และมาสนใจงานอนุรักษ์ สนใจเรื่องของไผ่เพราะไผ่เป็นไม้ที่มีความสำคัญกับคนในชุมชนของเราทั้งขาย และกินได้ การที่เราจะไปห้ามไม่ให้คนหมู่บ้านอื่นๆ มาตัดนั้นทำไม่ได้ เพราะป่าตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางถ้าหลานๆช่วยกันทำข้อมูลตรงนี้และ เอาไปบอกอุทยานให้เขารู้ข้อมูลที่แท้จริงเราก็จะทำให้เขาจัดระเบียบให้เรา ได้" พ่อแก้วบอก


ในช่วงบ่ายพี่ๆ เดินจูงมือน้องๆ มุ่งสู่ป่าชุมชนบ้านซำผักหนาม ที่อยู่ไม่ไกลกันนักเพื่อให้น้องๆ ได้เห็นพื้นที่จริงที่พี่ๆ ได้นำกล้าไผ่ไปปลูกเอาไว้ในป่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการเพิ่มจำนวนไผ่ และช่วยกันเอาเชือกฟางไปทำจุดสังเกตแต่ละต้นเอาไว้ เพื่อจะได้มาเก็บข้อมูลว่าไผ่จะรอดจนโตได้หรือไม่ โดยมีพ่ออุทิศ มาให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกไผ่ที่ถูกต้องแก่แกนนำเยาวชน และเด็กๆ ที่เข้าร่วมทุกคน จากการเดินดูป่า ช่วยพี่ๆ ทำจุดสังเกตุไผ่ที่ปลูก ได้รับความรู้จากปราชญ์ในชุมชน ต่างๆ ตั้งอกตั้งใจฟัง และซักถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างพูดเรื่องเดียวกันคือเรื่องไผ่ และการอยู่รอดของป่าไผ่ สร้างความชื่นใจให้กับแกนนำเยาวชนอย่าง "ม็อบ" เป็นอย่างยิ่ง



"วันนี้ ผมรู้สึกดีมากถึงแม้เป็นแค่การเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เรามาให้น้องๆในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อหวังให้กิจกรรมนี้ที่มีทั้งสันทนาการ ความรู้จากพี่ๆ และผู้ใหญ่ในบ้านเรา ทำให้น้องๆ อยากเข้าร่วมกิจกรรมเรามากขึ้น อย่างแรกการเข้ามาเขาจะได้มีเพื่อน ทำงานสนุก พอมาบ่อยๆ ก็จะปลูกจิตสำนึกรักในงานที่ทำ ในชุมชนและป่าในชุมชน เหมือนผมแรกๆ ที่เข้ามาอบรมตอนม.2 ไม่คิดอะไรมากแค่อยากสนุกพอทำไปทำมาก็รักเลยครับ ที่ผมห่วงว่าปีหน้าจะเข้ามหาวิทยาลัยการเข้าร่วมกิจกรรมก็จะน้อยลงอยากให้มี รุ่นน้องๆ มาสานงานต่อไปให้เข้มแข็งไปเรื่อยๆ ก็กำลังดูรุ่นต่อไปอย่างแจง เจี๊ยบ ต้อง หรือ บิว ก็พอจะมีแววครับ"


"ม็อบ" เล่าต่อว่าการเข้ากลุ่มเยาวชนทำให้ตัวเองเปลี่ยนจากเด็กขี้เกียจกลายเป็น เด็กเอาถ่าน "เมื่อก่อนขี้เกียจมากเลย พอเพื่อนชวนทำกิจกรรมก็เลยลองมาดู พอมาบ่อยๆก็ชอบ การทำกิจกรรมทำให้ผมกล้าแสดงออก ได้พบปะกับเพื่อนๆ และเราได้ความรู้ว่าจะดูแลป่าอย่างไร ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า ได้ดูแลและพัฒนาชุมชนของเรา หลังจากนี้พวกเราจะชวนน้องๆ ให้มาช่วยทำงานทุกอย่างในชุมชนเราไม่ว่าจะเป็นเก็บขยะบริเวณหมู่บ้าน น้ำตกพลาญทอง ป่าชุมชน ตัดหญ้า ช่วยจัดงานกิจกรรมประจำปีเช่นปีใหม่ สงกรานต์ ให้พวกเขามาทำกิจกรรมบ่อยๆ ก็จะช่วยปลูกจิตสำนึกได้เองครับ เราไม่ต้องสอนเขาแต่ให้เขาทำเองเขาจะจำได้นาน ทางผู้ใหญ่ในชุมชนก็ให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมทุกอย่าง ที่พวกเราทำข้อมูลไผ่เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ถ้าตรงนี้สำเร็จก็จะทำต่อไปในระดับตำบลถ้าเขาเห็นปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นก็จะ เข้าใจและช่วยกันป้องกันดีกว่านี้ครับ"เช่นเดียวกับต้าร์ และ หนึ่ง ที่มีความคิดเห็นเดียวกัน



สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมได้สะท้อน ถึงกิจกรรมว่า อาทิ ธนภัทร พรมจักร(ดีม) อายุ 12 บอกว่าสนุกมากได้ความรู้เรื่องไผ่เยอะ พรนภา ชนะชัย (วาย) อายุ 12 บอกว่า แล้วจะมาอีก นี่คือตัวอย่างของกลุ่มเยาวชนที่มีแนวคิดดีๆ ที่จะสร้างแกนนำเยาวชนในรุ่นต่อๆไป เพื่อที่จะขับเคลื่อนงานชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน #


>>> รู้จักกับมูลนิธิสยามกัมมาจลเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com

หมายเลขบันทึก: 580537เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ เยาวชนเป็นต้นกล้าที่สำคัญ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท