สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

เมื่อเด็กทำหนัง สารคดีสั้น สะท้อนปัญหาชุมชน


ทำสารคดี ? >>> ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่เชื่อว่าเด็กๆ สามารถทำได้ แถมทำได้ก็ไม่ได้ทำได้แบบงูๆ ปลาๆ ทั้งยังแฝงไปด้วยเรื่องราว แง่คิด มุมมอง และเจตนาดีๆ ที่เขาอยากส่งต่อให้แก่สังคม ... ร่วมติดตามไปกับเราเพื่อติดตามเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ขันอาสาใช้สื่อสารคดีสั้นถ่ายทอดเรื่องราวปัญหา และการแก้ปัญหาในชุมชน โดยมือน้อยๆ ของพวกเขา ...


8 ผลงานสารคดีสั้น - เยาวชนรักษ์ถิ่น "เล่าเรื่องเมืองเรา"


เพราะเชื่อว่า "เด็กไทย" มีศักยภาพ และมีเมล็ดพันธุ์จิตอาสาซ่อนอยู่ โดยการเปิดพื้นที่และโอกาสให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา และได้ร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชน เมล็ดพันธุ์จิตอาสานั้นก็พร้อมจะแตกหน่อและงอกงามขึ้น ยิ่งถ้าพวกเขาได้รับการเสริมทักษะด้านการสื่อสารเข้าไปด้วยแล้ว เรื่องราวดีๆ เหล่านั้นก็พร้อมจะถูกส่งต่อไปสร้าง "แรงกระเพื่อม" ได้ไม่รู้จบ


ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงจัดให้มีโครงการ "เล่าเรื่องเมืองเรา" ขึ้นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมต่อเนื่องให้เยาวชนรักษ์ถิ่นจำนวน 12 ทีมจาก 12 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการทำโครงงานจิตอาสาเพื่อชุมชนของตนมาแล้ว ให้ได้มารู้จักเครื่องมือและฝึกปรือทักษะการผลิต "สารคดีขนาดสั้น" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานแก้ปัญหา - พัฒนาชุมชนของตนสู่สังคมได้รับรู้ และปลุกสำนึกความเป็นพลเมืองในตัวผู้ชมให้ตื่นขึ้น โดยได้พี่ๆ กลุ่มเยาวชน Young Filmmakers of Thailand จัดค่ายเรียนรู้ โดยหลังจากที่เยาวชนได้แยกย้ายกันไปผลิตสารคดีสั้นเป็นเวลา 3 เดือนแล้วก็ได้ 8 ผลงานเข้าร่วมกิจกรรมฉายหนัง -ล้อมวงพูดคุยกันเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา



คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนเยาวชนได้แก่ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม, โครงการปลูกใจ รักษ์โลก กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทย, และโครงการต้นกล้าในป่าใหญ่ เสริมสร้างศักยภาพเยาวชนเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดำเนินการโดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ทั้ง 3 โครงการนี้ได้พัฒนาเยาวชนโดยให้เยาวชนได้ลงมือทำงานในโจทย์จริงในพื้นที่บ้านของตัวเอง แต่เยาวชนเหล่านี้ยังขาดทักษะด้านการผลิตสื่อ หรือการสื่อสารงานของตัวเองออกไป การเข้ามาเสริมทักษะด้านการผลิตสื่อของกลุ่มเยาวชน Young Filmmakers of Thailand จึงทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะการสื่อสารเพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มูลนิธิฯ ต้องการส่งเสริมให้มีขึ้นกับเยาวชนไทย



ตัวอย่างสารคดีสั้นผลงานเยาวชนที่น่าสนใจ เช่น "ขี้เดียด" ของกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหนองโจน จ.ร้อยเอ็ด ที่เยาวชนมุ่งหมายใช้สารคดีสั้นสะท้อนปัญหาชาวบ้านลักลอบทิ้งขยะและเอกชนลักลอบนำสิ่งปฏิกูลมาทิ้งข้างป่าชุมชนดอนหนองโจน ส่งผลเสียให้เกิดภาพที่ไม่ชวนมอง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แหล่งน้ำในชุมชนปนเปื้อน ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงรบกวนเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมฯ ของโรงเรียนบ้านสำราญหนองบากที่ตั้งอยู่ใกล้ป่า เมื่อเยาวชนนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณหมอในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยังทำให้ทราบเพิ่มขึ้นว่ากองขยะและแหล่งปฏิกูลถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน พยาธิ และเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคท้องร่วง เยาวชนจึงถือเป็นธุระร่วมกันจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชน และรณรงค์ให้ชุมชนร่วมกันหาวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม



" สุขจริง? " สารคดีสั้นของกลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน จ.มหาสารคาม กับคำถามตัวโตที่ว่า "รายได้ที่มาจากการเกษตรแบบใช้สารเคมีสามารถสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรได้จริงหรือ ? " เพราะอาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพพลานามัยของผู้ปลูกและความมั่นคงของครอบครัวอันเป็นที่รักในระยะยาว ที่แม้ผลของการรณรงค์ลดใช้สารเคมีของเยาวชนอาจไม่ได้การตอบรับที่ดีนัก แต่อย่างน้อยลูกๆ เยาวชนเองก็หวังว่าพ่อๆ แม่ๆ เกษตรกรในพื้นที่บ้านแบก อ.เชียงยืน จะได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบปลอดภัยจากการทำโครงงานจิตอาสาของเยาวชน รู้ถึงพิษภัยและไม่ลืมที่จะป้องกันตนเองทุกครั้งยามต้องใช้สารเคมี



อีกหนึ่งตัวอย่างผลงานที่มีวิธีการนำเสนอน่าสนใจ สารคดีเรื่อง "บ้านเราสงขลา" ของกลุ่มเยาวชนชมรมต้นคิด จ.สงขลา เยาวชนเลือกที่จะหยิบยกต้นทุนทางสังคมอันอุดมและเป็นเสน่ห์ของเมืองเก่าสงขลามาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในด้านสถาปัตยกรรม อาหารการกิน และวิถีชีวิตผู้คนที่เรียบง่าย รักสงบ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวสงขลาได้ตระหนักถึงสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนบ้านเกิด และหันมาร่วมกันเป็นพลังดูแลรักษาเมืองสงขลาให้ยังคงกลิ่นอายของเมืองน่าอยู่ ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่ลุกคืบเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองเก่าสงขลาให้ต่างออกไปจากเดิมดังที่เมืองท่องเที่ยวหลายแห่งได้ประสบกันมาแล้ว


ส่วนอีก 5 ผลงานสารคดีสั้นยังประกอบด้วย 1.เยาวชนอาสาร่วมใจพัฒนาลดขยะชุมชน กลุ่ม M.P.W. conservation the forest จ.ลำปาง 2.น้ำมือ กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านสันป่าไร่ จ.ตาก 3.เปลี่ยน กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านสันป่าไร่ จ.ตาก 4.ปะทิว กลุ่มเยาวชนรักษ์คลองบางสน จ.ชุมพร และ 5.คนเล็กเปลี่ยนโลก กลุ่มเยาวชนเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา



น้องแสน "ธีระวุฒิ ศรีมังคละ" เยาวชนกลุ่มฮักนะเชียงยืน ชั้น ม. 6 โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จ.มหาสารคาม สะท้อนสิ่งที่เยาวชนได้เรียนรู้จากโครงการเล่าเรื่องเมืองเราว่า การมาร่วมโครงการนี้ทำให้ได้ทราบว่าสารคดีสั้นสามารถใช้เป็นสื่อเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของโครงงานชุมชนที่เราทำมาแล้วสู่ชุมชน โดยทำให้งานของเรามีความน่าสนใจมากขึ้น ดึงดูดให้คนอยากมารู้อยากมาเห็น เพื่อเป็นการคืนข้อมูลสู่ชุมชนได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ หลังจากนี้จะนำไปฉายในชุมชนและในโรงเรียน และจะนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ youtube.com เพื่อให้เยาวชนกลุ่มอื่นที่ทำงานลักษณะเดียวกันแต่ไม่มีโอกาสมาร่วมโครงการเล่าเรื่องเมืองเราได้เห็นเป็นตัวอย่างการใช้สื่อสารคดีสั้นขยายผลการทำงาน



น้องทอฟฟี่ "สิทธิศักดิ์ พูลโพธิ์" กลุ่มเยาวชนรักษ์คลองบางสน ชั้น ม.5 โรงเรียนปะทิววิทยา จ.ชุมพร บอกว่าการมาร่วมโครงการนี้ทำให้ตัวเองมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทักษะการสร้างสรรค์ผลงานผ่านสื่อมัลติมีเดีย ทำให้มีความฮึกเหิมที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม โดยจะนำสารคดีเรื่องการอนุรักษ์ข้าวเหลืองปะทิวที่ทำขึ้นไปฉายที่โรงเรียนในอำเภอปะทิวเป็นที่แรก เพื่อให้เพื่อนๆ เกิดสำนึกรักษ์บ้านเกิด เพราะการจะทำอะไรให้เห็นผลต้องเริ่มจากการปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปยังพื้นที่ข้างเคียง



ส่วนสมาชิกรุ่นเล็ก น้องมาร์ค "ด.ช.สมัชย์ปางนคร" กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ จ.ตาก บอกอย่างฉะฉานว่า มาร่วมโครงการนี้แล้วเกิดทักษะในด้านต่างๆ ทั้งการตัดต่อ การเขียนบท และการจัดมุมกล้อง ที่สำคัญที่สุดคือการฝึกทำงานเป็นกลุ่ม และได้ฝึกความสามัคคี ทำให้สามารถที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ กลับไปแล้วก็จะนำผลงานไปฉายให้คนในชุมชนได้ชม เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะในชุมชนเพื่อที่จะได้ลงมือแก้ปัญหาร่วมกัน



ทางด้าน "คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว" ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ให้เกียรติมาร่วมงานฉายหนังและให้ข้อเสนอแนะแก่เยาวชนสะท้อนว่าถือเป็นครั้งแรกของเขาก็ว่าได้กับการชมสารคดีที่มาจากเจ้าของเรื่องตัวจริงเสียงจริง


"หนังสารคดีที่ผมเคยดูมาคือคนทำหนังมาทำสารคดี เขาอาจเพิ่งสนใจแล้วหาข้อมูลมาทำสารคดี แต่น้องๆ ที่มาในวันนี้เป็นคนที่อยู่กับข้อมูล เป็นคนที่ทำอยู่แล้ว เหมือนซูเปอร์แมนมาเล่าวีรกรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้นพวกเราไม่ใช่นักทำหนังมืออาชีพ แต่เป็นนักกิจกรรมมืออาชีพ ผมเชื่อว่าข้อมูลของพวกเราแน่น แต่ทำอย่างไรที่จะเล่าให้คนที่ไม่รู้ข้อมูลเท่าเราได้รู้และสนใจ น้องสามารถเล่ามันออกมาได้สนุก ผมรู้สึกดีใจ นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ได้มาดูสารคดีจากตัวจริง ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ พัฒนาตัวเองให้ทำได้ดียิ่งๆ ขึ้น" คุณปรัชญากล่าว


สุดท้ายนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลคาดหวังว่าทักษะการผลิตสารคดีสั้นที่เยาวชนได้รับจากโครงการนี้ เมื่อพวกเขาทำซ้ำจนเกิดความชำนาญแล้ว จะสามารถถ่ายทอดสู่เยาวชนคนอื่นๆ ในพื้นที่ได้ และส่งผลให้ชุมชนได้มีเครื่องมือใหม่ เพิ่มช่องทางการสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนสู่สังคมในวงกว้างต่อไป#


>>> ชมผลงานเยาวชนได้ที่ https://www.scbfoundation.com/activity_detail.php?project_id=964&content_id=9286

>>> รู้จักกับมูลนิธิสยามกัมมาจลเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com

หมายเลขบันทึก: 580470เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอชื่นชมเยาวชนคนเก่งในเรื่องดีๆเช่นนี้ค่ะ

ชอบใจการทำงานครับ

เป็นหนังสั้นที่มีคุณค่ามากๆ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท