AAR (After Action Review) ครั้งที่ 1 วันที่ 9 สิงหาคม 2557


หัวข้อ การศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนสัตยาไส และ โรงเรียนวนิษา

คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้อะไร

  • 1.โรงเรียนสัตยาไส และ โรงเรียนวนิษา มีหลักสูตรสถานศึกษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร
  • 2.โรงเรียนสัตยาไส และ โรงเรียนวนิษา มีเป้าหมายในการจัดการศึกษาของตนให้มีคุณภาพอย่างไร
  • 3.โรงเรียนสัตยาไส และ โรงเรียนวนิษา มีรูปแบบหรือลักษณะการจัดการเรียนการสอนความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปหรือไม่ อย่างไร

รู้แล้วคิดอย่างไร

โรงเรียนสัตยาไส

  • ความรู้ที่ได้ไม่เป็นไปตามคาดหวังไว้เท่าที่ควร ก็คือ โรงเรียนสัตยาไส มีหลักสูตรสถานศึกษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาของตนให้ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ยังไม่พบเห็นตามสิ่งที่คาดหวังไว้ คือในส่วนของเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนว่ามีการสอนอย่างไร เพราะเนื่องด้วยการศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความกระชั้นชิด จึงไม่สามารถติดต่อประมานงานในส่วนมี่คาดหวังจะเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ของ โรงเรียนสัตยาไส เพิ่มเติม ดังนี้
  • แนวคิดของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่จัดตั้งโรงเรียนสัตยาไส เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อต้องการมอบความรู้ให้กับเด็ก ๆ ที่มาเรียน ไปพร้อม ๆ กับมอบความดีให้ไปด้วย โดยใช้หลักการวิถีพุทธ เช่น ให้เด็กนักเรียนนั่งสมาธิ สวดมนต์ พร้อมสอนหลักคุณธรรม ควบคู่ไปกับการเรียน ทำให้โรงเรียนสัตยาไสกลายเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่พ่อแม่จำนวนมากต้องการส่งลูกให้เข้ามาเรียน โดยมีการเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้หลักสูตรสถานศึกษาโดยยึดมาตรฐานแกนกลาง มีการเรียนรู้สาระครบทั้ง 8 สาระ และเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้อีก 1 กิจกรรม คือกิจกรรมทักษะชีวิต

โรงเรียนแห่งนี้อยู่ภายใต้กฎ "ความรัก ความเมตตา" โดยเด็กนักเรียนและคุณครูอยู่ในโรงเรียนเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ทุกคนดูแลช่วยเหลือกัน มีอาจารย์แลกเปลี่ยนจากต่างประเทศมาสอนภาษา ทางโรงเรียนได้เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นคนดี ไม่ได้เน้นให้เป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อเด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต สังคมต้องการคนดีและคนเก่งควบคู่กันไปเป็น "โรงเรียนแห่งการเรียนเรียนรู้สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ "และ "สร้างคนดีเหนือสิ่งใด"

  • โรงเรียนวนิษา
  • ความรู้ที่ได้เป็นไปตามคาดหวังไว้ ก็คือ โรงเรียนวนิษา มีหลักสูตรสถานศึกษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาของตนให้ได้อย่างมีคุณภาพชัดเจน มีรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนว่ามีการสอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนี้
  • โรงเรียนวนิษา รับเด็กตั้งแต่ก่อนอนุบาล( 1 ปี 8 เดือน) จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนว Project Approach ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ลุ่มลึก และบูรณาการทุกสาขาวิชาภายใต้หัวข้อที่เด็กสนใจ เพื่อให้เด็กทุกคนเห็นการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่มีความสุข ซึ่งจะช่วยให้เด็กคงนิสัยใฝ่รู้ไว้ได้ตลอดไป ไม่ใช่เห็นการเรียนเป็นเรื่องทุกข์ทรมานที่อยากให้ผ่านพ้นไปวันๆ
  • กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนวนิษา ไม่ว่าจะเป็นการนำแนวคิด งานวิจัย หรือทฤษฎีทางการศึกษา จึงเน้นไปที่ความหลากหลาย สนุกสนาน สอดคล้องกับธรรมชาติพัฒนาการ และตามความต้องการของเด็กแต่ละคนซึ่งมีความถนัด ความชอบ และลีลาในการเข้าถึงความรู้ที่แตกต่างกัน
  • โรงเรียนวนิษา สนใจและนำ Mind Maps มาใช้อย่างถูกต้อง เป็นระบบ และต่อเนื่อง เป็นเครื่องมือการจดบันทึกที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง เป็นการจดบันทึกที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของข้อมูลข่าวสาร เห็นลำดับความสัมพันธ์ด้วยการใช้เส้นหนา เส้นบาง และการกระจายออกจากศูนย์กลาง การใช้สีและรูปภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความจำและการสื่อความหมาย การใช้ คำสำคัญเพื่อเป็นการทวีคูณความคิด และรายละเอียดในเชิงเทคนิคอื่น ๆ อีกมาก และได้นำ Multiple Intelligences หรือทฤษฎีพหุปัญญา เป็นทฤษฎีทางการศึกษาที่มีรากฐานมาจากการค้นคว้าและวิจัยทางสมอง ความเชื่อในทฤษฎีพหุปัญญาจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน ทฤษฎีพหุปัญญาได้เสนอแนะให้ครูฝึกฝน ที่จะนำเสนอบทเรียนในรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย มีการใช้ดนตรี การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม กิจกรรมศิลปะ บทบาทสมมุติ สื่อผสม ทัศนศึกษา การทบทวนภายในใจ และ เทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย และการนำ Brain Based Learning คือ การใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมองเป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์ จากทฤษฎีและรูปแบบการสอนข้างต้น เป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มศักยภาพ ดังคำที่ว่า " อัจฉริยะสร้างได้...ที่โรงเรียนวนิษา"

จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร

1. ด้านหลักสูตร นำไปประยุกต์ โดยควรจะเพิ่มกิจกรรมทักษะชีวิตเข้าไปทุกกลุ่มสาระทั้ง 8 กลุ่มสาระ พร้อมทั้งนำแนวคิดและหลักการของทฤษฎีที่จะพัฒนาด้านสมองเต็มศักยภาพควบคู่ไปกับด้านคุณธรรมจริยธรรม

2. ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน สอนแบบบูรณาการ จัดให้การเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น นำหลักการจัดกิจกรรมที่สอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล คิดเป็น พูดเป็น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในทางที่ถูกที่ควรไปใช้ในโรงเรียน ฝึกให้เห็นคุณค่าแห่ง ความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีอุปนิสัยที่ดีงาม ฝึกการเป็นผู้นำให้กับนักเรียน

3. บทบาทของครูต้องเป็นกัลยาณมิตร มีความเอื้ออาทรเป็นแบบอย่างที่ดี การส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนตามศักยภาพอย่างสูงสุด

4. การจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและห้องเรียน ให้เป็นธรรมชาติ และสงบร่มเย็น รวมไปถึงการสร้างสภาพบริบทบรรยากาศของเนื้อหาในเรื่องที่เรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

5. การบริหารจัดการศึกษา ผู้บริหาร ครู และชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อวางแผนการจัดการศึกษา

คำสำคัญ (Tags): #ศึกษาดูงาน
หมายเลขบันทึก: 580430เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท