การจัดการความรู้ในสถานศึกษา(โรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ)


บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 6

เรื่อง การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

วิทยากร นายศักดิ์เดช กองสูงเนิน (ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ)

นางสาวณัฐฏ์พัชรสร สมบัติ รหัสนักศึกษา 57D0103107

ระดับปริญญาโท ภาคพิเศษ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

*************************************************************************************

1.ความรู้ความเข้าใจที่ได้หลังจากได้รับการศึกษา

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า KM คือ เครื่องมือเพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยการจัดการให้มีการค้นพบความรู้ ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน หาทางนำออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตกแต่งให้ง่ายต่อการใช้สอยและมีประโยชน์เพิ่มขึ้น มีการต่อยอดให้งดงาม และใช้ได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและกาลเทศะยิ่งขึ้น มีความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการเอาความรู้ที่ไม่เหมือนกันมาเจอกัน

หลักสำคัญของการจัดการความรู้ คือ กระบวนการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน ในการดำเนินการจัดการความรู้มีบุคคลหรือคนสำคัญในหลากหลายบทบาทหลากหลายรูปแบบ ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองให้ดีที่สุดแต่ต้องมีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำงานที่ดีและเหมาะสมที่สุด เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างสวยงามกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

กระบวนการการจัดการความรู้ในแต่ละองค์กร ควรประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

1. "คุณเอื้อ" คือผู้ที่ทำให้เกิดผลงาน KM มีหน้าที่คัดเลือกหาทีมงานจากหลายสังกัดมาเป็นแกนนำ สนับสนุนทรัพยากรแก่ทีมงานอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดจากความสำเร็จหลากหลายรูปแบบ

2. "คุณอำนวย" ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในเชิงกิจกรรม เชิงระบบ และเชิงวัฒนธรรม

3. "คุณกิจ" ผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ร้อยละ 90-95 อาจสรุปได้ว่าคุณกิจคือผู้จัดการความรู้ตัวจริง เป็นผู้มีความรู้ (Explicit Knowledge) และเป็นผู้ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อการปฏิบัติให้บรรลุถึง "เป้าหมาย/หัวปลา" ที่ตั้งไว้

4. "คุณลิขิต" ทำหน้าที่จดบันทึก ในกิจกรรมการจัดการความรู้ อาจทำหน้าที่เป็นการเฉพาะกิจ หรือทำหน้าที่เป็นระยะยาว กึ่งถาวรในกิจกรรมจัดการความรู้ของกลุ่ม หรือ หน่วยงาน หรือองค์กร สิ่งที่ "คุณลิขิต" จดบันทึกได้แก่ เรื่องเล่าจากกิจกรรม ขุมความรู้จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บันทึกการประชุมและบันทึกอื่นๆ

5. "คุณวิศาสตร์" คือ นัก IT ที่เข้ามาช่วยเป็นทีมงาน KM คำว่า "วิศาสตร์" มาจากคำว่า "IT wizard" หรือพ่อมดไอที จะเข้ามาช่วยคิดเรื่องการวางระบบ IT ที่เหมาะกับการดำเนินการ KM

6. "คุณประสาน" ในการทำ KM แบบเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามองค์กร "คุณประสาน" จะทำหน้าที่ประสานงานให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกันภายในเครือข่าย ทำให้เกิดการเรียนรู้ฝังลึก เกิดการหมุนเกลียวความรู้ได้อย่างมีพลังมาก เรียกว่า "การหมุนเกลียวความรู้ผ่านเขตแดน"

โมเดลปลาทู

โมเดลปลาทูมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ ส่วนเป้าหมาย (หัวปลา) ส่วนกิจกรรม (ตัวปลา) และ ส่วนการจดบันทึก (หางปลา)

"หัวปลา" (Knowledge Vision- KV) หมายถึง ส่วนเป้าหมาย ได้แก่ ปณิธานความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำจัดการความรู้ ต้องตอบให้ได้ว่า "เราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร ?" โดย "หัวปลา" นี้จะต้องเป็นของ "คณกิจ" หรือ ผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด โดยมี "คุณเอื้อ" และ "คุณอำนวย" คอยช่วยเหลือ

"ตัวปลา" (Knowledge Sharing-KS) หมายถึง ส่วนกิจกรรม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง "คุณอำนวย" จะมีบทบาทมากในการช่วยกระตุ้นให้ "คุณกิจ" มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ในตัว "คุณกิจ" พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ ยกระดับความรู้ และเกิดนวัตกรรม

"หางปลา" (Knowledge Assets-KA) เป็นส่วนของ "คลังความรู้" หรือ "ขุมความรู้" ที่ได้จากการเก็บสะสม "เกร็ดความรู้" ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ตัวปลา" ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของ "หางปลา" นี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การจดบันทึก เป็นการจดบันทึกความรู้ เทคนิค เคล็ดลับในการทำงานที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควรบันทึกในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ผังมโนทัศน์ (Mind Map) และรูปแบบอื่นๆ ให้สมาชิกในองค์กรเข้าถึง เอาไปปรับใช้ได้ตลอดเวลา และเก็บคลังความรู้เหล่านี้ในรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information and Communication Technology - ICT) ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้ที่เด่นชัด นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ พร้อมยกระดับต่อไป

การจัดการความรู้ของโรงเรียนเทศบาล 4 (เพราะชำ) หรือที่เรียกว่า"เพาะชำโมเดล" คณะผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนร่วมกันจัดทำโมเดลโดยใช้ตัวอักษรประกอบการทำโมเดลดังนี้

KV = Knowledge Vision วิสัยทัศน์

M = Mind

3 S = Share (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) Show (นำเสนอ) Support (สนับสนุน)

KA = Knowledge Asset=คลังความรู้ (หางปลา)

- บันทึกเรื่องเล่า

- งานวิจัย

- Blog.Tor.4.net (go to know) มีการแสดงความคิดเห็น

L = Learn - การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- ฟังเรื่องเล่า (เชิงบวก) ชื่นชม

- การนำเสนอ

- Blog (go to know)

- บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าเดียว

- งานวิจัย

- นิทรรศการ (แลกเปลี่ยน) + ต่างโรงเรียน

ความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งจะทำให้การทำองค์กรแห่งการเรียนรู้สำเร็จนั้น ประกอบไปด้วย

- 4 กลุ่มงานบริหาร ได้แก่ บริหารงานทั่วไป บริหารงานบุคคล บริหารงานงบประมาณ และบริหารงานวิชาการ

- 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ 1. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 3. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ 4. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 5. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 6. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 7. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

- 4 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้มีดังนี้

1) เรื่องเล่าเร้าพลัง 2) กัดขุมความรู้ (หน้าที่ของคุณลิขิตคือผู้สรุปสาระสำคัญ) 3) ก่นความรู้ (สังเคราะห์) เช่น หาการเสริมแรงในการสอน เช่น ดาวขนม(เทคนิคนำมาเล่า) 4) ตารางอิสรภาพ (ไม่มีข้อจำกัดนำข้อที่ 2, 3 ทำเป็นตาราง) 5) บันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ - ใครรู้ - ไม่รู้อะไร ปรึกษากัน 6) การแลกเปลี่ยน (บันทึกหน้าเดียว) 7) การทบทวนหลังปฏิบัติการ (AAR) รู้อะไร รู้แล้วทำอะไรต่อ

ผลเป็นอย่างไร นำไปใช้อย่างไร (ปรับปรุง)

ตัวอย่างการทำ KM (ต้องทำต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพ)

1. ตั้งทีมงาน

2. ให้ความรู้

3. กำหนด (KV) Knowledge Vision = ทำบ่อย ๆ หาเทคนิคเพื่อนำมาพัฒนา

4. ฝึกปฏิบัติ

5. ติดตาม

6. เผยแพร่

7. Blog (นำความรู้สู่สารสนเทศ)

8. งานวิจัย

9. รูปแบบการสอนที่ใช้ได้ผลในการแก้ปัญหา

ผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ

- บุคลากรทุกฝ่ายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

- การเรียนรู้เป็นทีม

- องค์กรแห่งการเรียนรู้

- คิดเป็นระบบ

ตัวอย่างการทำ KM ในสถานศึกษา

- ร่วมกันคิดหัวปลา

- กำหนดให้สมาชิกเตรียมเรื่องเล่า

- จัดกลุ่มให้เล่าเรื่อง

- ได้ขุมความรู้

- สังเคราะห์เป็นแก่นความรู้

- ประเมินตนเอง

- จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

- นำไปปฏิบัติ

- จัดเวที AAR

การจัดการความรู้ลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นสังคมอุดมปัญญา

2.สะท้อนแง่คิดที่ได้หลังจากการเรียน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการนำแนวคิดการจัดการความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งองค์กรควรตระหนักใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อให้องค์กรสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้จริงมารองรับให้สอดคล้องต่อไปนั้น ประกอบด้วย
1. การสนับสนุนจากผู้บริหารในทุกระดับ
2. บรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กร
3. การสื่อสาร
4. เทคโนโลยีที่เข้ากับพฤติกรรมและการทำงาน
5. การให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ และการใช้เทคโนโลยี
6. การมีแผนที่ชัดเจน
7. การประเมินผลโดยใช้ตัวชี้วัด
8. การสร้างแรงจูงใจ

คุณธรรม 8 ประการของการจัดการความรู้

1. ศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมคือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ศีลธรรมพื้นฐานนี้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การจัดการความรู้มีพื้นฐานอยู่ที่การให้คุณค่าแก่ความรู้ที่อยู่ในตัวคนทุกคน จึงเป็นรูปธรรมแห่งการปฏิบัติที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน

2. การไม่ใช้อำนาจ การใช้อำนาจจะไปปิดกั้นกระบวนการตามธรรมชาติ คือ การรับรู้ เรียนรู้ งอกงาม ถักทอเครือข่าย เมื่อใช้อำนาจจะทำให้กระบวนการตามธรรมชาติบิดเบี้ยวเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น

3. การฟังอย่างลึก (deep listening) การนำความรู้ที่แฝงเร้นในตัวออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ต้องมีการคุยที่เน้นการฟังอย่างลึก ไม่ใช้โต้เถียงกันโดยหวังเอาชนะ การฟังอย่างลึกและเงียบ จิตใจสงบ มีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้ยินจะทำให้เกิดปัญญา

4. วิธีการทางบวก คือ เอาความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของสิ่งที่เคยทำด้วยดีเป็นตัวตั้ง นำมาเห็นคุณค่าและชื่นชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดให้งดงามและมีประโยชน์ยิ่งขึ้น วิธีการทางบวกทำให้มีความปิติ มีกำลังใจ มีความสามัคคี และมีพลังสร้างสรรค์ที่จะเคลื่อนตัวต่อไปในอนาคต

5. การเจริญธรรมะ 4 ประการ ที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ร่วมกัน ปกติมนุษย์เรียนรู้ร่วมกันยากเพราะกิเลส เช่น ความโกรธ ความเกลียด อหังการ การจะเรียนรู้ร่วมกันควรเจริญธรรมะ 4 ประการ ได้แก่ ความเอื้ออาทร ความเปิดเผย ความจริงใจ และความเชื่อถือไว้วางใจกัน

6. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (interactive learning through action) เป็นอิทธิปัญญา ความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ที่เนื่องด้วยการปฏิบัติและการจัดการความรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันทำให้ให้การปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างเป็นผลสำเร็จ

7. การถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและสังคม การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้บุคคลทั้งโดยตัวบุคคลหรือภายในองค์กรเดียวกันหรือข้ามองค์กรเข้ามาเชื่อมโยงกันโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ แต่เชื่อมโยงด้วยการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายทั้งภายในองค์กรและข้ามองค์กร

8. การเจริญสติในการกระทำ การเจริญสติคือการรู้ตัว ทำให้จิตใจสงบ มีอิสรภาพ เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้น สัมผัสความจริงได้ ควบคุมความคิด การพูดและการกระทำได้ ทำให้เกิดความสำเร็จ เป็นความงาม ความดี และความสุข

3. การนำไปประยุกต์ใช้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เกิดจากการที่องค์กรต้องสูญเสียความรู้ อันเนื่องมาจากการที่บุคลากรลาออกหรือเกษียณอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง แต่ละองค์กรจึงพยายามรักษาองค์ความรู้นั้น โดยการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จากแนวคิดเดิมที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้มากๆ เพียงอย่างเดียวจึงเปลี่ยนไป ในปัจจุบันจะมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยใช้การจัดการความรู้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน หรืออาจกล่าวได้ว่าการจัดการความรู้จะมีความสัมพันธ์กับองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรจะพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ก็จำเป็นจะต้องบริหารจัดการความรู้ภายในองค์กรให้เป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรเรียนรู้ได้จริงและต่อเนื่อง หากองค์กรใดมีการจัดการความรู้โดยไม่มีการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ก็นับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดการความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร

หมายเลขบันทึก: 580145เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท