เพาะชำโมเดล


นางสาวชุติมาคล้ำภิบาลรหัส 57D0103104

ปริญญาโทภาคพิเศษสาขาหลักสูตรและการสอนรุ่นที่ 13

รายวิชา 102611การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

ผู้สอนผศ. ดร. อดิศรเนาวนนท์

After Action Review

การศึกษาดูงาน เรื่อง การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา

ณ โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ 5 ตุลาคม 2557

ความรู้ที่ไดรับจากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยวิทยากรผู้ให้ความรู้ คือ ดร. ศักดิ์เดชกองสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับ องค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการบริหารสถานศึกษาด้วยการจัดการความรู้ (KM) "เพาะชำโมเดล"

ทำไมต้องมีองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูต้องคิดเสมอว่าเราอยู่ในยุคของการแข่งขัน ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ดังที่บิลเกตได้กล่าวไว้ว่า "ยิ่งให้มากเท่าไร ยิ่งได้มากเท่านั้น" การที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 2 ระดับ คือ

  • -ระดับองค์กร
  • 1.Share Vision มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
  • 2.Team Learning เรียนรู้จากกันและกัน (ระดับกลุ่ม)
  • -ระดับปัจเจก
  • 3.Personal Master ใฝ่รู้ มุ่งมั่นพัฒนาตน
  • 4.Mental Model ฝึกฝน สร้างแผนที่ความคิด
  • 5.System Thinking ไม่ยึดติด เห็นความเชื่อมโยง

รวมเรียกทั้งหมดนี้ว่า Fifth Discipline เป็นแนวทางในการบริหารงานในองค์กร และการปฏิบัติตนของคนในองค์กร เพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ต้องทำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้ได้ความรู้ที่แท้จริง และเกิดเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในองค์กร ต้องทำอย่างต่อเนื่องมีการวางแผนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การกำหนดระยะเวลา และการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกัน ซึ่งความรู้ที่จะรวบรวมให้เป็นระบบนั้นมี 2 ประเภท คือ Explicit Knowledge ความรู้ชัดแจ้ง สามารถค้นคว้าได้จากเอกสาร ตำราต่าง ๆ เป็นวิชาการ หลักวิชา ทฤษฎี ปริยัติ มาจากการสังเคราะห์ วิจัย ใช้สมอง (Intellectual) เป็นกฎ และความรู้อีกหนึ่งประเภท คือ Tacit Knowledge สามารถสอบถามได้จากตัวบุคคล เป็นภูมิปัญญา การฝึกฝน เทคนิคเฉพาะตัว ประสบการณ์ หรือเป็นลูกเล่นของแต่ละคน ซึ่งความรู้ประเภทนี้อาจสูญหายไปกับตัวบุคคลได้ ถ้าไม่มีการจัดการความรู้

การจัดการความรู้ประเภท Explicit Knowledge จะต้องมีการรวบรวมจัดเก็บ เข้าถึงตีความ นำไปใช้ และยกระดับความรู้นั้น โดยนำผลจากการใช้มาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป การจัดการความรู้ประเภท Tacit Knowledge จะต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน มีใจแบ่งปันเทคนิควิธีการ ประสบการณ์ เพื่อนำไปใช้ และสร้างความรู้ ยกระดับให้เป็นเทคนิควิธีการของตนเอง การพัฒนาความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดเป็น Infinity สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้การจัดการความรู้ เพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น บุคคลสำคัญที่ดำเนินการจัดการความรู้นั้น ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุดต้องเห็นด้วย และบุคลากรในองค์กรให้ความร่วมมือ ทำงานตามหน้าที่ของตน มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เข้าถึงเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน

วิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) ซึ่งเรียกว่า "เพาะชำโมเดล" เริ่มจากการเรียนรู้เป็นทีมคือ 4 ช่วงชั้น 8 กลุ่มสาระฯ และ 4 งานบริหาร วิธีการคือ ให้แต่ละคนเล่า Best Practice ของตนเอง หรือความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประสบการณ์ของตนเอง โดยมีผู้คอยจดบันทึก แก่นความรู้จากเรื่องที่เพื่อน ๆ เล่า บันทึกเก็บเป็นคลังความรู้ และเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็คทรอนิคส์ เช่น Web Blog

นอกจากนี้วิทยากรยังให้ตัวอย่างในการจัดการความรู้ (KM) เริ่มจาก การคิดหัวปลาร่วมกัน/กำหนดให้สมาชิกเขียนเรื่องเล่า/จัดกลุ่มให้เล่าเรื่อง/ได้ขุมความรู้/สังเคราะห์เป็นแก่นความรู้/ประเมินตนเอง/จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้/นำไปปฏิบัติ และจัดเวที AAR

ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการความรู้ คือ บุคลากรทุกฝ่ายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้/มีการเรียนรู้เป็นทีม/เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้/มีวิสัยทัศน์ และคิดอย่างเป็นระบบ

การนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน คือ การเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษกับเพื่อนร่วมงาน และนำมาปรับใช้กับงานของตน พยายามค้นหาเทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษที่เหมาะกับนักเรียน และเป็นวิธีที่ตนเองถนัด สร้างเป็นโมเดลการสอนของตนเองขึ้นมา ทดลองใช้ ประเมินผล และปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ

บรรยากาศในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นกันเอง และวิทยากรมีความพร้อมในการบรรยายให้ความรู้แก่พวกเราเป็นอย่างดี มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ให้คำแนะนำในการจัดการความรู้ในองค์กรเพื่อเป็นแนวทางให้เราได้นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบุคคลในองค์กรให้มีความก้าวหน้าในงานที่รับผิดชอบ และส่งผลถึงองค์กรโดยรวมทำให้การบริหารงานดำเนินไปในทิศทางที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบได้ ขอบพระคุณท่านวิทยากรมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 580011เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท