ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้: แนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


การให้เด็กตกหรือเรียนซ้ำชั้น โดยให้เรียนด้วยวิธีการเดิม ครูคนเดิม เนื้อหาในหนังสือเรียนเดิม แต่เแค่ให้เรียนซ้ำ ๆ ก็ไม่น่าจะแก้ไขอะไรได้ และไม่น่าจะใช่หลักคิดที่ถูกต้อง ของการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้: แนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทนำ

             เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบที่กระจ่างชัดไม่ได้เสียทีว่า เพราะเหตุใดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เยาวชนไทยถึงมีปัญหาอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) ที่พบเยาวชนกว่า 35,000 คน อ่านและเขียนไม่ได้ ซึ่งคิดเป็น 5% ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 ทั้งประเทศ และที่เหลืออีกกว่า 2 แสนคน ก็อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง ตัวเลขดังกล่าว ด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นวิกฤตคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย และอีกด้านหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นวิกฤตในเรื่องของการแก้ปัญหาของภาครัฐ ซึ่งรับผิดชอบการศึกษาของชาติโดยรวม

               สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ใดกันแน่ ระหว่างตัวเด็กนักเรียนที่ขาดความสนใจเรียนลงไป อันเนื่องมาจากสื่อและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการสอนภาษาไทย ทำให้สอนไม่เป็น ขาดหลักการ ขาดกลวิธีการสอนอ่าน ไม่สนใจสอน ปล่อยปละละเลย โรงเรียนไม่มีระบบรองรับที่จะช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาเฉพาะ สื่อการเรียนการสอนภาษาไทย ที่มีลักษณะยัดเยียดความรู้ปลีกย่อยที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก หรือจะอยู่ที่ผู้ปกครอง ที่ไม่ได้ใช้เวลาที่บ้านพัฒนาด้านการอ่านหรือเขียน ไม่จัดหาหนังสือ หรือส่งเสริมการอ่านของบุตรหลาน จะเห็นได้ว่า สาเหตุของปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้นั้น มีครบแทบทุกฝ่าย ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสนอแนะให้แก้ปัญหา ด้วยการให้นักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เรียนซ้ำชั้น จนกว่าจะผ่าน ข้อเสนอนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาในทันทีว่า แนวทางดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักภาระให้นักเรียน แทนที่จะหันมาแก้ปัญหาในเรื่องหลักสูตร การสอนและวิธีการบริหารจัดการของสถานศึกษา ซึ่งบุคลากรทุกฝ่ายต่างหาก ที่ควรจะต้อง “รับผิด” และแสดงหาแนวทางที่ “ชอบ” คือ เป็นวิธีหรือแนวทางใหม่ ที่ถูกที่ควรอย่างเร่งด่วน และไม่ผลักนักเรียนให้ตกลงไปจมซ้ำในวังวนของปัญหาเดิม เพราะการให้เด็กตกหรือเรียนซ้ำชั้น โดยให้เรียนด้วยวิธีการเดิม ครูคนเดิม เนื้อหาในหนังสือเรียนเดิม แต่เแค่ให้เรียนซ้ำ ๆ ก็ไม่น่าจะแก้ไขอะไรได้ และไม่น่าจะใช่หลักคิดที่ถูกต้อง ของการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่อย่างใด

ซ้ำชั้นคือการซ้ำเติม

               แนวคิดของนักวิชาการ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องหลักสูตรและการสอน และด้านการพัฒนาผู้เรียนระดับประถมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น รองศาสตราจารย์ ดร.สำลี ทองธิว แห่งภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ รองศาสตราจารย์ ดร. อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ล้วนแต่กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า การให้นักเรียนตกและเรียนซ้ำชั้นนั้น เพราะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้นั้น เป็นแนวทางที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเสมือนการตอกย้ำให้นักเรียนที่ถูกตัดสินเช่นนั้นขาดความเชื่อมั่น และไม่ชอบการเรียนมากยิ่งขึ้น ผลจากการตกซ้ำชั้น ก็จะยิ่งกลายเป็นตราบาปที่ติดตัวของพวกเขาไป และยิ่งจะบั่นทอนกำลังใจในการเรียนให้ลดลง จนทำให้ไม่สามารถเผชิญการเรียนรู้ในครั้งใหม่ ๆ ได้

                แนวคิดที่ควรนำมาใช้ก็คือ ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจว่า ผู้เรียนแต่ละคนมี “ต้นทุน” ทั้งด้านพันธุกรรม และสังคมที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ครูควรที่จะใช้วิธีการสอนภาษา เพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ที่สอดคล้องกับแบบการเรียนหรือศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน โดยไม่ทอดทิ้งนักเรียนที่อ่อนด้อย สอบตก หรือทำคะแนนไม่ผ่านไว้เบื้องหลัง หรือปล่อยให้เขาต้องกลับไปเรียนซ้ำชั้น ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาโดยเฉพาะประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ที่จัดการเรียนรู้ภาษาไทย จะต้องเน้นการสอนอ่านให้เกิดทักษะการอ่านพื้นฐาน แล้วลดการสอนตามหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูเป็นวิชาการขาดความน่าสนใจ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กในวัยนั้น แล้วหันมาจัดหาหนังสืออื่น ๆ ที่น่าอ่าน และสามารถนำมาให้นักเรียนฝึกอ่านเสริมมากกว่า ดังที่           รองศาสตราจารย์ ดร. สำลี ทองธิว ได้เสนอแนวคิดซึ่งมาจากประสบการณ์การพัฒนาการอ่านของตนเองไว้อย่างน่าสนใจว่า

                “อีกอย่างหนึ่ง หนังสือภาษาไทยที่ให้เด็กเรียนน่าจะต้องเน้นทักษะพื้นฐาน

มีเนื้อหาให้ฝึกอ่านเท่าที่จำเป็น ส่วนเนื้อหาให้เด็กไปอ่านเสริมตามความสนใจ โดยครู

จัดหาหนังสืออ่านประเภทต่าง ๆ มาให้เด็กเลือกอ่าน ซึ่งหนังสือเด็กสนุก ๆ มีภาพประกอบ

สวยงามมีมากมาย กระทรวง ฯ อย่าพยายามผลิตหนังสือเรียนมาให้เด็กอ่านเลย

เป็นนักวิชาการนะ ไม่ใช่นักเขียน


              สมัยก่อนเราเรียนทักษะพื้นฐานการอ่านจากโรงเรียน พออ่านได้ก็ มาหาอ่านหนังสือ

ทุกอย่างที่มีในบ้านอ่าน รู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้างแต่ชอบหาอ่าน ฉันอ่านพล นิกร กิมหงวนของ

พวกพี่ชาย ขโมย อ่านอิเหนา รามเกียรติ์ ของคุณพ่อตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม ฯ ชอบอ่านเพราะ

เรื่องสนุกดี”


                    แนวคิดที่ได้จากการสะท้อนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญข้างต้นก็คือ เมื่อครูสามารถจัดบรรยากาศการเรียนการสอนภาษาไทยให้เด็กรักและเกิดแรงจูงใจที่จะอ่านแล้ว ไม่ว่าสื่อหรือวัสดุหรือสื่อที่อ่านจะเป็นอะไร ก็เชื่อได้ว่า นักเรียนจะเกิดความสนใคร่รู้ และพยายามไขว่ขว้าหามาอ่านให้จงได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ ครูผู้สอนส่วนใหญ่ ยังคงไม่เข้าใจหลักการสอนอ่านและเขียน รวมถึงหลักการเรื่องการสอนประสมเสียง และการเรียนการสอนการอ่านตามศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งก็คงจะต้องหาโอกาสที่จะเพิ่มพูนศักยภาพในการสอนการอ่านและการเขียนให้มากขึ้น ซึ่งในชั้นต้นนี้ ครูควรหลีกเลี่ยงการสอนตามหนังสือ แต่เป็นการสอนโดยใช้หลักการสอนภาษา เพื่อให้แนวทางการอ่านออกเสียงแก่ผู้เรียนเสียก่อน จากนั้นจีงเลือกเรื่อง หรือบทอ่านให้นักเรียนนำมาใช้อ่านและศึกษาเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจแนวทางในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น จึงจะขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออก และเขียนไม่ได้ ทั้งในเรื่องของการจัดโครงสร้างเวลาเรียน และการจัดบรรยากาศการเรียน โดยจะอธิบายแนวทางที่เป็นรูปธรรมในแต่ละประเด็น ๆ ตามลำดับ ดังนี้

การจัดชั้นเรียน

                 ครูผู้สอนสามารถจัดการชั้นเรียน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ใน 2 ลักษณะ คือ การจัดชั้นเรียนเดียวกัน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นหลายกลุ่มตามศักยภาพ และการจัดชั้นเรียนในระดับชั้นเดียวกัน ให้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ดังนี้

                1. การจัดชั้นเรียนเดียวแบบคละศักยภาพ (ห้องเดียว มีหลายกลุ่ม) หมายถึง การที่ครูพิจารณาแยกนักเรียนจำนวน 30-35 คนต่อชั้นเรียนที่รับผิดชอบสอนอยู่ ออกเป็นหลายกลุ่ม หรืออย่างน้อยก็แบ่งนักเรียนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มาจัดการเรียนรู้เสริมเฉพาะ โดยใช้อุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอนที่ให้เวลานักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะเหล่านี้ได้ฝึกปฏิบัติ ควบคู่ไปเพื่อน ๆ ซึ่งเรียนเนื้อหาปกติ หรือหากมีนักเรียนที่มีศักยภาพสูงกว่าเพื่อน ครูก็อาจมอบหมายงานที่มีความพิเศษ หรือยากกว่าปกติ เพื่อให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ฝึกก็ได้ ครูสามารถจัดเตรียมหนังสือหรือเอกสาร ที่จะให้นักเรียนอ่านได้อย่างหลากหลาย ใช้ระบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอ่าน นักเรียนกลุ่มอ่อน อ่านหนังสือที่มีความง่ายและค่อย ๆ ปรับให้ยากยิ่งขึ้น เช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องแยกนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ออกมาจากเพื่อน ๆ หรือต้องไปใช้เวลาเรียนเพิ่มเติมในช่วงเย็นหรือปิดภาคเรียน เพราะได้แก้ปัญหาไปในเวลาเรียนปกติแล้ว

                 2. การจัดชั้นเรียนใหม่แยกตามศักยภาพ (กลุ่มระดับเดียว มีหลายห้อง) แนวทางนี้หมายถึงการจัดนักเรียนทั้งระดับชั้น ให้เข้าห้องเรียนใหม่ตามศักยภาพหรือความสามารถทางภาษาของตนเอง แนวคิดนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกันกับการเลือกกลุ่มการเรียน (section) ในการเรียนระดับอุดมศึกษา กล่าวคือ ผู้สอนจัดแบ่งนักเรียนด้วยการคัดกรองนักเรียนเข้ากลุ่มการเรียนต่าง ๆ โดยครูที่สอนในกลุ่มการเรียนนั้น ๆ ก็จะต้องจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของเด็กด้วย เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีห้องเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ 3 จำนวน 5 ห้อง เมื่อถึงชั่วโมงเรียนภาษาไทย (ซึ่งควรจัดเวลาเรียนไว้ตรงกันทั้ง 5 ห้อง) นักเรียนแต่ละห้องก็จะแยกออกไปเข้าห้องเรียนใหม่ ซึ่งเรียงศักยภาพทางภาษาของนักเรียนไว้ 5 ระดับ โดยในห้องที่นักเรียนอ่านไม่ออก หรือเขียนไม่ได้ หรือห้องที่มีความสามารถต่ำสุดนั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาสามารถจัดครูเข้าช่วยพัฒนานักเรียนได้มากกว่า 1 คน หรือใช้ครูที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของการสอนให้อ่านออกเขียนได้เข้ามา โดยใช้วิธีสอนและสื่อการสอนที่เข้มข้นมากกว่าชั้นเรียนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนานักเรียนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ

สื่อและวัสดุการเรียนรู้

                  เป็นที่ยอมรับกันว่า หนังสือเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนา การอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนจำเป็นจะต้องจัดหาสื่อการเรียนการสอน จำพวกหนังสือส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นนิทาน เรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กที่มีรูปภาพประกอบสวยงามน่าอ่าน เพื่อมาจูงใจให้นักเรียนสนใจ การอ่านเพิ่มเติมด้วย และจัดให้มีมุมหนังสือภายในห้อง หรือทุก ๆ ที่ในโรงเรียน เช่น จัดสถานที่บริเวณที่นักเรียนรอผู้ปกครองมารับให้มีมุมหนังสือสำหรับอ่านรอ นอกจากนี้ ควรจัดทำแบบฝึก เพื่อฝึกหัดให้นักเรียนเขียนและอ่านอย่างเป็นระบบ ไล่ลำดับตามความยากง่าย ซึ่งโรงเรียนสมควรที่จะจัดทำขึ้นเองตามบริบท ของโรงเรียน เพราะปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน

ห้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการอ่านและเขียน

                  โรงเรียนควรจัดตั้งหน่วยห้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการอ่านและการเขียน (reading and writing difficulty laboratory) ขึ้น ภายในห้องปฏิบัติการนี้ จะมีสื่อและอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การอ่านและเขียน เพื่อแก้ไขปัญหาแก่นักเรียนที่มีปัญหาในระดับที่ต้องการการแก้ไขอย่างยิ่ง คล้ายกับการที่โรงพยาบาลมีห้อง ICU สำหรับพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติ ห้องปฏิบัติการนี้ นับว่าเป็นนวัตกรรมการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมาใช้ ครูสามารถแยกนักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษออกจากห้องเรียนปกติ เพื่อไปฝึกหัดที่ห้องเรียนนี้ โดยมีครูอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ซึ่งครูที่จะมารับผิดชอบห้องปฏิบัติการแก้ไขการอ่านหรือการเขียน ก็สมควรที่จะเป็นครูที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของการสอนอ่านและเขียนโดยเฉพาะ โดยสถานศึกษาจะต้องจัดงบประมาณสนับสนุน ทั้งในด้านของระบบกายภาพและบุคลากรอย่างเพียงพอ เพื่อให้ครูมีกำลังใจในการแก้ปัญหาและไม่ได้เห็นว่า เป็นภาระงานเพิ่มเติม

การจัดโครงสร้างเวลาเรียน

                     สถานศึกษาจะต้องจัดโครงสร้างเวลาเรียนสำหรับการอ่านและการเขียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้มากกว่า 200 ชั่วโมงต่อปี โดยลดเวลาเรียนรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ที่ยังไม่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในระหว่างนี้ เพราะการฝึกหัดเพียง 200 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา ถือว่าค่อนข้างน้อย หากปรับเปลี่ยนมาเป็นประมาณ 250 ชั่วโมง หรือ 300 ชั่วโมงได้ ก็จะยิ่งสร้างคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการสอนให้นักเรียนอ่านให้ออกและเขียนให้ได้เป็นอันดับแรก เพราะหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จะให้นักเรียนเรียนวิชาอื่น ๆ ไปก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่เข้าใจเนื้อหาเช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นการเสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะนำเวลาในวิชาเหล่านั้น มาชดเชยเพื่อฝึกหัดให้นักเรียนอ่านได้เขียนได้เสียก่อน ที่สำคัญหากใช้แนวคิดของการบูรณาการข้ามสาระการเรียนรู้ หรือข้ามเนื้อหา โดยใช้บทอ่านในเรื่องของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มารวมกัน แล้วปรับให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน ก็จะช่วยให้นักเรียนยังคงได้ศึกษาเนื้อหาเดิมอยู่อย่างครบถ้วน แต่เป็นเนื้อหาที่นำปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ที่จะส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษามากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

การจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศ

                    นักเรียนจะอ่านออกและเขียนได้ เมื่ออยู่ในโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนรู้หนังสือ (literacy school) คือเป็นโรงเรียนที่จัดบรรยากาศแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่ให้นักเรียนอ่าน เขียน คิด อยู่ตลอดเวลา ในด้านกายภาพ โรงเรียนควรมีป้ายนิเทศ แจ้งข้อมูล ข่าวสาร นำเสนอผลงานนักเรียน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนโดยตลอด มีมุมหรือมีฝาผนังที่เหมาะแก่การจัดวางเอกสาร มีแท่นหรือโต๊ะสำหรับวางหนังสือประเภทต่าง ๆ ให้นักเรียนเลือกอ่านได้อย่างอิสระ ส่วนในด้านบรรยากาศ หรือที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ก็ควรมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น กิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมประกวดการอ่าน กิจกรรมประกวดการเขียน กิจกรรมเลือกหนังสือ กิจกรรมเล่านิทาน กิจกรรมแต่งเรื่องจากภาพสัปดาห์ละครั้ง กิจกรรมการทำวารสารหรือหนังสือของชมรม ห้อง กิจกรรมอ่านออกเสียงเป็นรายบุคคล กิจกรรมอ่านคู่ กิจกรรมพูดรายงานหน้าเสาธง รายงานหน้าห้องเรียน ฯลฯ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ควรที่จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงเรียน และสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนอ่านและเขียนได้อย่างอิสระโดยตลอดเวลา เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคย เห็นว่าการอ่านและการเขียนเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อหน่าย และรู้สึกว่าเรื่องการอ่านและเขียนเป็นเรื่องที่ดูวิชาการ หนัก หรือยากเกินไปสำหรับพวกเขา

บทสรุป

                     ไม่ว่ามองมุมใด การที่เด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วอ่านเขียนไม่ได้นั้น ย่อมถือเป็นความล้มเหลวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ปัญหานี้มีความยากในการแก้ไข เพราะมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน แต่ในยากลำบากดังกล่าวนี้ ก็หาใช่ว่าจะไร้หนทางเสียทีเดียว เพราะในด้านของโรงเรียนและครอบครัวพอที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการได้ เพียงแต่จะต้องกล้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนในหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างของหลักสูตร ที่ควรเน้นแต่เฉพาะการอ่านและเขียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น การเปลี่ยนไปใช้วิธีการเรียนการสอนการอ่านและเขียนสำหรับเด็ก ที่เน้นให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคยในเรื่องของรูปและเสียงอักษร จนสามารถจำรูปและเสียงของอักษรทุกตัวได้อย่างแม่นยำ การฝึกหัดอ่านและเขียนด้วยการแจกลูกและการสะกดคำ โดยเรียงตามลำดับที่ถูกต้อง การให้เวลาเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ให้มีบรรยากาศที่ส่งเสริมการอ่าน มีกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ฝึกหัดอ่านและเขียนอยู่ตลอดเวลา หากปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้อย่างจริงจัง ก็น่าที่จะช่วยลดปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนระดับประถมศึกษาลงไปได้มาก

____________________________________________________



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท