ฉันผิดไหมที่ยอม...ยอมให้เขากลับบ้าน


ฉันผิดไหมที่ยอม...ยอมให้เขากลับบ้าน

งานฉันไม่ได้เสร็จหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต ฉันยังต้องติดตามครอบครัวว่าเขาสามารถปรับตัวได้หรือไม่เมื่อหัวหน้าครอบครัวจากไป ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ฉันโทรศัพท์เยี่ยมเยียน แต่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้คุยกับมารดาของทวน คนไข้มะเร็งที่ฉันชื่นชมความเข้มแข็งของเขาเสมอมา หลังทักทายถามไถ่เรื่องสุขภาพผู้รับสายแล้ว
ฉัน :ขอโทษด้วยนะคะที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ งานเรียบร้อยดีใช่ไหมคะ
มารดา:เรียบร้อยดีจ้ะ ญาติและเพื่อนๆที่ทำงานเค้า แม้แต่เพื่อนบ้านก็มางานกันเยอะ คนเป็นแม่ก็ปลื้มนะ
ฉัน :แสดงว่าคุณทวนเป็นคนดี เป็นที่รักของทุกคน ทุกคนจึงอยากมาร่วมงาน...... หลังจากงานเสร็จแล้วทุกคนในบ้านเป็นอย่างไรบ้างคะ
มารดา:มันก็เศร้านะ ใจหายเหมือนกันเวลาคิดถึงเขาก็มีน้ำตาไหล แต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะฉันต้องเข้มแข็งเร็วๆ ต้องเป็นหลักให้สะใภ้ด้วย นั่นเค้าต้องรับภาระหนักเพราะต้องทำงานด้วย ดูแลลูกด้วย ฉันก็ช่วยดูเด็กๆเท่าที่ช่วยได้
ฉัน:เด็กๆมีบ่นถึงพ่อไหมคะ
มารดา:มีบ้างนะ แต่ก็บอกตามที่คุณนักสังคมฯเคยบอกให้เตรียมนั่นแหละ ว่าพ่อขึ้นไปอยู่บนฟ้าคอยดูแลเขาอยู่....... รู้สึกว่าเขาฟังและยอมรับกับความคิดนี้นะ ดูเขาไม่ทุกข์ ไม่ร้องไห้เท่าตอนแรก
ฉัน:ดีจังค่ะ แสดงว่าเขาเริ่มปรับตัวได้แล้ว.......ส่วนของคุณแม่กับคุณแก้ว(ภรรยาคนป่วย)มีอะไรที่อยากจะเล่าจะถามหรือเปล่าคะ
มารดา:ฉันถามจริงๆเถอะว่า ฉันผิดไหมที่ยอม...ยอมให้เขากลับบ้าน... พาเค้ามา..ตาย...ที่บ้าน
ฉัน :เพราะอะไรแม่ถึงคิดอย่างนั้นคะ
มารดา:ลูกสะใภ้ฉันได้ยินเพื่อนของทวนมันพูดกัน ว่าโรงพยาบาลทิ้ง บ้างก็ว่าพวกเรางกกลัวหมดตังค์ที่ต้องรักษา แก้วเขาได้ยินก็ร้องไห้เสียใจ มาถามแม่ว่า..เราคิดถูกไหม...
ฉัน :แล้วแม่คิดว่ายังไงคะ
มารดา:แม่บอกแก้วว่าพวกเราได้ทำตามที่เค้าต้องการ น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว แต่บางครั้งก็หวั่นไหว มันอดคิดไม่ได้ว่า....จะดีรึเปล่านะ ถ้าเราไม่ตามใจเขาแต่ให้เขารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล เค้าอาจจะอยู่กับเรานานขึ้นก็ได้ ใช่ไหมคะ
ฉัน :ช่วงที่คุณทวนกลับมาอยู่บ้านเขาเป็นอย่างไรบ้างคะ
มารดา:อืม...อาการเขาก็ไม่ต่างจากที่โรงพยาบาลนะ มีปวดบ้างแต่กินได้ พูดได้ เดินได้ พวกเรายังดีใจว่าเขาดีกว่าที่หมอบอกไว้.... ญาติและเพื่อนๆมาเยี่ยม เขาบอกว่ามีความสุข
ฉัน :ฟังเหมือนว่าเป็นช่วงที่คุณทวนมีความสุขเมื่อได้อยู่ที่บ้านนะคะ ซึ่งถ้าอยู่ที่โรงพยาบาลแม้ว่าเขาอาจจะอยู่กับเรานานขึ้น แต่คงไม่มีความสุขเหมือนอยู่บ้าน คุณแม่ว่าอย่างนั้นไหมคะ
มารดา:ขอบคุณนะคะ ฉันเข้าใจแล้ว ความสุขของทวนเขาต่างหากที่ทำให้พวกเราตัดสินใจยอมให้เขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน การที่เราฟังคนอื่นมาก บางครั้งก็ทำให้เราเขวได้ แม้ว่าเราจะเตรียมใจมาดีแล้วก็ตาม ขอบคุณอีกครั้งนะคะ แล้วฉันจะบอกลูกสะใภ้ตามนี้ค่ะ

การดูแลไม่สุดสิ้น แม้ชีวิตจะสิ้นสุด

21 ตุลาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 579163เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2014 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2014 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาให้กำลังใจคุณหวานค่ะ 
น่าทำเป็นประเด็นเรียนรู้ ทำอย่างไร เมื่อคนไข้อยากกลับบ้าน แต่ญาติไม่อยากให้กลับ?

เป็นเรื่องที่น่าจะตรงใจผู้ดูแลหลายคนเลยค่ะ ประเด็นนี้

เรื่องนี้ หากสรุปประเด็นว่า 

การสอบถาม เปิดโอกาสให้ผู้ดูแลระบายความรู้สึก แล้วให้ความมั่นใจกับผู้ดูแลที่หวั่นไหวในบทบาทของตนเอง 

แบบนี้ พอจะได้มั้ยคะคุณหวาน

แต่ละเรื่องได้ข้อคิดที่ดี ขอบคุณเรื่องเล่าดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท