เลาะเลียบเรียนรู้...กระบวนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (ตอนจบ)


         ตอนที่ ๖

          การพัฒนาชุมชนสุขภาวะองค์รวม ของคนตำบลชมพู

          พื้นที่สุดท้ายที่เราได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาชุมชนสุขภาวะองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม คือ ตำบลชมภู โดยมีรองนายกเทศมนตรีตำบลชมภู เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลชมภู สมาชิกสภาเทศบาลตำบลชมภู กลุ่มผู้สูงอายุ จากตำบลไชยสถาน เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. ท่าวังตาล ท่ากว้าง และไชยสถาน รอต้อนรับคณะของเราอย่างพร้อมเพรียง

          ตำบลชมภู ตั้งมากว่า ๒๐๐ กว่าปี อยู่ในการปกครองของอำเภอสารภี ยกสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีทั้งหมด ๙ หมู่บ้าน และทำการทดลองแบ่งเขตการปกครองไปอีก ๑ ชุมชน สภาพทั่วไปของตำบล เป็นที่ราบ อยู่ฝั่งตะวันออกของอำเภอสารภี มีจำนวนประชากร ๕ พันกว่าคน อาชีพหลัก คือ ทำสวนลำไย และรับจ้าง

          พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ได้เล่าเรื่องราวของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนในตำบลชมภู โดยมีการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นด้านการสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชน และนำประเด็นปัญหาทางด้านสุขภาวะที่เกิดขึ้นในชุมชน ภายใต้บริบทและความพร้อมของชุมชนมาขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพของพื้นที่ ตามเป้าหมายที่ว่า เกษตรปลอดภัย เยาวชนสดใส ใส่ใจสุขภาพ ธรรมชาติสู่วิถี ชีวีเป็นสุข หลีกเลี่ยงอบายมุข เพิ่มสุขผู้สูงวัย สมุนไพรชุมชน ผ่านกิจกรรมโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการลดมลพิษและสิ่งแวดล้อม งานศพปลอดเหล้า เกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดสารพิษ โครงการคัดแยกขยะ (ธนาคารขยะ) การดูแลผู้สูงอายุในภาวะที่พึ่งพิง การรวบรวมปราชญ์ชาวบ้าน/หมอเมือง เป็นต้น

           โดยตำบลชมภู อำเภอสารภี ได้มีการนำธรรมนูญสุขภาพอำเภอสารภี ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ โดยมีการขับเคลื่อนใน ๕ ประเด็นหลัก คือลดมลภาวะหมอกควันที่เกิดจาการเผา ลดหรืองดการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด งดการเลี้ยงสุรา เครื่องดื่มมึนเมาในงานศพ งดการเล่นการพนันในงานศพ และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อควบคุมปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงในอำเภอสารภี ซึ่งทั้ง ๑๐๖ หมู่บ้าน ใน ๑๒ ตำบลของอำเภอสารภี ได้ร่วมกันขับเคลื่อน ๕ ประเด็นเหล่านี้ในพื้นที่ของตนเอง ตามบริบทและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ต้องรอดำเนินการพร้อมกันทั้งอำเภอ

          การลงพื้นที่เรียนรู้ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งแรกนี้ ทำให้เห็นความงดงาม
ในจิตสาธารณะจากทุกภาคส่วน ที่ตระหนักถึงแก่นของปัญหาและความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหา ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการเครือข่ายสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่โดดเด่น ที่สำคัญได้เห็นภาพความเชื่อมโยงร้อยเรียงของการนำเครื่องมือต่างๆ ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน/ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมกันชื่นชมผลสำเร็จ เพราะตระหนักดีว่า “ทุกคน คือ เจ้าของสุขภาพที่แท้จริง”

                                                                                                                                                             นภินทร

หมายเลขบันทึก: 577703เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2014 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2014 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณคุณนภินทร เป็นความโชคดีของคนสารภีนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท