คิดเรื่องงาน (87) : คนหนุ่มสาว


คนหนุ่มสาวคือคนที่เรียคนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้จากสถานการณ์ เรียนรู้จากสายลมแสงแดด เรียนรู้จากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ กระทั่งเสียงร่ำไห้ของผู้คนและสรรพสิ่ง

ความเป็นคนหนุ่มสาว วัดกันด้วยสิ่งใด?

นั่นคือคำถามที่ผมถามทักกับทีมงานอยู่บ่อยครั้ง
ครับ-ผมอยากให้แต่ละคนมีความรู้สึกแช่มชื่น ตื่นตัว เต็มไปด้วยพลังเฉกเช่น “คนหนุ่มสาว” คนผู้ซึ่งขนานนามตัวเองว่า “นักแสวงหา” หรือผู้ซึ่งเต็มไปด้วย "พลังความคิดสร้างสรรค์"

สำหรับผมแล้ว คนหนุ่มสาว ไม่ได้วัดกันที่อายุ ไม่ได้วัดกันทีจำนวนครั้งของการอาบน้ำร้อน ไม่ได้วัดกันที่อายุการทำงาน ไม่ได้วัดกันที่ตำแหน่ง -

แน่นอนครับ ผมไม่ใช่เจ้าพ่อทฤษฎีพอที่จะเปรียบเปรย หรือชักลากทฤษฎีใดๆ มาเทียบทับกับหลักคิดตัวเองได้ แต่ก็สุขใจและพึงใจที่จะพูดในสิ่งที่คิดและพูดในสิ่งที่ตนเองได้ลงมือทำ ลงมือพิสูจน์

สำหรับผมแล้ว คนหนุ่มสาวคือคนที่ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับพัฒนาคนรอบข้างแบบมีส่วนร่วม และนั่นยังรวมถึงการเป็นคนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับหลักการและหลักคิดเดิมๆ จนไม่ลืมหูลืมตาว่าหลักการและหลักคิดบางอย่าง มีสถานะแค่การประยุกต์ใช้ ไม่ใช่เอามาใช้แบบไม่วิเคราะห์สถานการณ์ความจริงของ “ปัจจุบัน”

สำหรับผมแล้ว คนหนุ่มสาวต้องวัดกันที่ “รอยหยักของสมอง” ... วัดกันตรงนั้น ไม่ใช่มาวัดกันแค่รูปลักษณ์ภายนอกแบบหยาบๆ เช่น ใส่สูท พูดจาหวานแหว๋ว หรือพูดจากังวานราวกับหูหนวกบอดใบ้ แต่งผม หรือวัดกันที่จำนวนเส้นผมสีขาวๆ บนศีรษะ

ครับ-ที่ผมกำลังร่ายยาวนั้น ไม่มีอะไรมากมายหรอกนะครับ ล่าสุดในเวทีของการเป็นวิทยากร มีนิสิตนักศึกษาและอาจารย์เข้ามาประชิดตัวและถามผมหลายคำถาม แต่หลักๆ จะประมาณว่า “ผมเรียนรู้กระบวนการเป็นวิทยากรมาจากไหน”

ครับ-ผมเป็นคนประเภทตรง จริงจัง จริงใจ คิดยังไงก็ตอบไปแบบนั้น นั่นก็คือ “เรียนรู้เอง เรียนรู้ผ่านสถานการณ์ เรียนรู้ผ่านคนรอบข้าง โดยไม่เคยทำเรื่องเบิกเงินเบิกทองไปอบรม หรือเข้าคอร์ดใดๆ”

แน่นอนครับ ผมตอบเช่นนั้นจริงๆ ตอบด้วยความสัตย์จริง ตอบด้วยน้ำเสียงอันเป็นปกติ ไม่ได้ต้องการสื่อสารแบบสำแดงเดชใดๆ ว่าตนเองเป็นคนไม่ธรรมดา (ซึ่งจริงๆ ผมเป็นคนธรรมดามาก)

หลายต่อหลายคนจะรู้ว่าผมเป็นประเภทนักเล่าเรื่อง ในยามทำกระบวนการ ผมโชว์สื่อให้ดูบนจอก็จริง แต่ส่วนหนึ่งผมมักเล่านอกเรื่อง ผมไม่ใช่ประเภทอ่านตามสคริปบนจอ หรือท่องมาราวกับนกแก้วนกขุนทอง นั่นมันไม่ใช่สไตล์ผม-ยืนยันว่าไม่ใช่สไตล์ผมแน่นอน

ผมเล่าขยายความเล็กน้อยให้กับคนที่ถามทักข้างตนว่า ผมโชคดีหน่อยคือเป็นคนทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียน เรียกได้ว่าหลงรักการทำกิจกรรมมากกว่าการเรียนก็ว่าได้ การทำกิจกรรม มันช่วยให้ผมล้าคิด กล้าทำ  ก็ด้วยการได้ทำกิจกรรมนั่นแหละคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผม “กล้า” ที่จะเรียนรู้การเป็นวิทยากรผ่านสถานการณ์ต่างๆ

นอกจากนั้นผมยังหนุนเสริมเพิ่มอีกว่าสิ่งหนึ่งที่ผมติดเป็นนิสัยคือการชอบคิดชอบสังเกต (ช่างคิด ช่างสังเกต) หรือกระทั่งช่างตั้งคำถามกับชีวิต สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผมสามารถนำมาเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการเป็นวิทยากรกระบวนกรของตัวเองได้เป็นอย่างดี

ครับ-เหตุที่นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ถามทักผมเช่นนั้น  เพราะในเวทีล่าสุดในหลายๆ สถาบันถูกเชิญมาร่วมสัมมนา แต่พอเวทีจริง การสัมมนากลับอยู่ในรูปลักษณ์ของกระบวนการ  เน้นการเรียนรู้ร่วมกันในแบบ “บันเทิง เริงปัญญา” เน้นการให้หลักคิด เน้นให้คิดเอง และเน้นให้แต่ละคนได้สำรวจตัวตนตนเอง เสมือนการช่วยย้ำให้มั่นใจว่าคนแต่ละคนคือคนที่มีความรู้ความสามารถในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากนั้นทั้งหลายทั้งปวงยังมองว่าผมสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในมิติต่างๆ เข้าหากันได้อย่างรวดเร็ว สามารถหยิบจับเรื่องราวในสถานการณ์นั้นๆ มาเป็นโจทย์เรียนรู้ร่วมกันได้อย่างคาดไม่ถึง ทั้งยังเชื่อมโยงให้หลากหลายทั้งมิติสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ....ราวกับได้ร่ำเรียนมาในทั้งสองศาสตร์...

ครับ-ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาในหลักสูตร หากแต่ผมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้จากสิ่งรอบกาย  เรียนรู้จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมแต่ละวัน เรียนรู้แบบเฝ้าสังเกตและฝังตัวอยู่กับมันเท่าที่พึงกระทำได้ และเรียนรู้เท่าที่พึงเรียนรู้ได้ มิใช่เอาดีเอาเด่น จริงๆ จังๆ จนแตกฉานไปเสียทั้งหมด  เพราะในภาวะจริงผมก็ยังแค่ “งูๆ ปลาๆ”....

ครับ-ยืนยันหลีกแน่นว่า “งูๆ ปลาๆ” ...

เหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีอะไรสลักสำคัญไปกว่าการที่ผมกำลังจะสื่อสารว่า การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเติบโต ส่วนจะเรียนรู้ด้วยวิธีการใด หรือเครื่องมือใดนั้น แต่ละคนต้องค้นหาให้เจอ เช่นเดียวกับการพยายามตอบคำถามเพื่อให้คนที่ถามได้รู้ว่า ตัวตนของเขาเองก็มีความรู้ความสามารถ ขึ้นอยู่กับว่าจะเปิดใจเรียนรู้กับสิ่งรอบตัวแค่ไหน เพราะการเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในชั้นเรียน หรือเฉพาะหน้าที่บนหน้าตักเท่านั้น แต่เราสามารถเรียนรู้ได้เสมอ ไม่ว่าสิ่งนั้นเราจะฝังตัว หรือไม่ไม่ฝังกับมัน เราก็เรียนรู้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร

ผมยังเชื่อว่า คนหนุ่มสาวคือคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีความคิดที่ร่วมสมัย มองเห็นอนาคตบนฐานของประวัติศาสตร์ มอบเห็นวิทยาศาสตร์ที่อบอวลอยู่กับภูมิปัญญา ....

ครับ-ผมยังเชื่อว่า คนหนุ่มสาวคือคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้จากสถานการณ์ เรียนรู้จากสายลมแสงแดด เรียนรู้จากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ กระทั่งเสียงร่ำไห้ของผู้คนและสรรพสิ่ง...

นั่นแหละคือนิยามคนหนุ่มสาวในมุมมองของผม !



...

๒๙  กันยายน ๒๕๕๗
มหาสารคาม
ในเช้าที่ฝนจากลา

หมายเลขบันทึก: 577367เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบมีรอยหยักของสมอง...บัวพ้นน้ำ..(ขอบคุณ..บันทึกดีๆ)

เชื่อในพลังของการเรียนรู้และปัญญาปฎิบัติครับ

ขอบคุณมากครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ชอบคำจำกัดความของคำว่า"หนุ่มสาวคือคนที่ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับพัฒนาคนรอบข้างแบบมีส่วนร่วม และนั่นยังรวมถึงการเป็นคนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับหลักการและหลักคิดเดิมๆ จนไม่ลืมหูลืมตาว่าหลักการและหลักคิดบางอย่าง มีสถานะแค่การประยุกต์ใช้ ไม่ใช่เอามาใช้แบบไม่วิเคราะห์สถานการณ์ความจริงของ “ปัจจุบัน”

-ขอเป็นหนุ่มสาว..ตลอดไป อิๆ 

-ขอบคุณครับ 


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท