ทิศทางการวิจัยและพัฒนาด้านหลักสูตรและการสอนในศตวรรษที่ 21/pakawan


เรื่องที่อบรม        ทิศทางการวิจัยและพัฒนาด้านหลักสูตรและการสอนในศตวรรษที่ 21

วิทยากร               รองศาสตราจารย์ ดร. พิมพันธ์ เดชะคุปต์

วันที่อบรม            31 สิงหาคม 2557

ผู้บันทึก               นางสาวผกาวรรณ สุวรรณภูมานนท์          รหัสนักศึกษา 57D0103110  

                           นักศึกษาปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน  (ภาคพิเศษ หมู่ 1) 

รายวิชา               การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

ความรู้ที่ได้รับ

          การอบรมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร คือ ได้ทราบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ คือหลักสูตร หลักสูตรเป็นกระบวนการย้อนกลับ (Backward design) ซึ่งหลักสูตรมีองค์ประกอบ 4 ส่วนคือ จุดมุ่งหมาย เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล

          การออกแบบย้อนกลับ หมายถึง การสร้างหลักสูตรและหน่วยการเรียนรู้ ด้วยการเริ่มจากการประเมินสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

เมื่อทราบเกี่ยวกับหลักสูตรแล้วได้ทราบถึงเทคนิคการสอน เช่น เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ เป็นกิจกรรมที่ให้ผุ้เรียนมีปฏิสัมพันธ์แบบ

กลุ่ม มีทั้งที่เป็นทางการ ได้แก่ แบบร่วมมือร่วมกลุ่ม แข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม การจัดกลุ่มแบบช่วยรายบุคคล การร่วมมือในการอ่านและเขียน เป็นต้น และไม่เป็นทางการ ได้แก่ ทำเป็นกลุ่ม ทำเป็นคู่ และทำคนเดียว การพูดเป็นคู่ เขียนเป็นคู่ พูดรอบวง อภิปรายเป็นทีม เป็นต้น

           การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ควรจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ   (Collabrative Learning)  การเรียนรู้แบบรวมพลัง (Team Learning) เด็กไทยในยุคนี้ต้องมีลักษณะของเด็กไทยที่ชาติต้องการเมื่อเติบโตเป็นเยาวชนไทย ต้องเป็นคนคิดเก่ง งานเก่ง เขียนเก่ง ต้องเป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลโลกที่มีคุณภาพ และต้องมีทักษะสำคัญที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันอย่างมีความสุขด้วยความที่มีคุณคุณธรรมและจริยธรรม

            ดังนั้น การจัดการศึกษาในยุคนี้จะต้องให้ครูมีศักยภาพเป็นครูมืออาชีพ สามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้นวัตกรรมการเรียนแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถจัดการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพความเป็นจริง สามารถพบปัญหาของเด็ก นำไปสู่วิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหา

           ได้ทราบถึง ความแตกต่างวิธีการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง คือ ครูเป็นผู้จัดกิจกรรม และมอบหมายงานให้เด็ก ส่วนวิธีการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง คือ ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยมีครูเป็นผู้แนะนำ

            สุดท้ายของการอบรมในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ทราบแนวทางการทำวิจัย การระบุหัวข้อวิจัย ประเด็นปัญหา การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ได้รู้ตัวอย่างหัวข้อวิจัยเพื่อนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์

สามารถนำความรู้คิดต่อยอดได้ดังนี้

ข้าพเจ้าพบว่าเนื้อหาที่อบรมในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ มีกระบวนการเรียนรู้5 ขั้นตอน (5 Steps)มีขั้นตอน ดังนี้

1) ขั้นระบุคำถาม       2) ขั้นแสวงหาสารสนเทศ      3) ขั้นสร้างความรู้           4) ขั้นสื่อสาร           5) ขั้นตอบแทนสังคม

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในการจัดทำแผนการเรียนรู้

 เรียกว่า “Big Five Learning” ดังนี้

1) Learning to Questionเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนตั้งคำถาม

2) Learning toSearchเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนวางแผนการเรียนรู้ของตนเอง ศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

3) Learning toConstructเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนนำข้อมูลมาร่วมกันวิเคราะห์อภิปราย สรุปความคิดรวบยอด

4) Learning to Communicateเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้นำความรู้มานำเสนอเป็นชิ้นงานตามความสนใจ

5) Learning toServeเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนนำชิ้นงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินซึ่งกันและกัน

              ดังนั้น จากขั้นตอน 5 Steps หรือBig Five Learningต่างก็มีจุดเน้นสำคัญ คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยความรู้สึกอยากรู้อยากเรียน มีโอกาสได้วางแผนการเรียนรู้ เรียนรู้ด้วยตัวเอง

การนำไปประยุกต์ใช้

           การอบรมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ทราบทิศทางการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ ในหัวข้อ “เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างห้องเรียน EIS กับห้องเรียนปกติ” เนื่องจากโรงเรียนที่สอนเป็นโรงเรียนมาตรฐานโรงเรียนสากล และมีห้องเรียนพิเศษดังกล่าว

นำเทคนิคการสอนต่าง ๆ ไปใช้ในการสอนในรายวิชาภาษาไทย โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21โดยให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง นำเสนอผลงาน ประเมินซึ่งกันและกัน โดยมีครูเป็นผู้แนะนำ เพื่อให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง จัดการเรียนการสอน Team Learning (TL) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของผู้เรียน ยอมรับฟังความคิดเห็น มีความรับผิดชอบ เป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้กับผู้เรียนด้วย


บรรยากาศในการเข้าร่วมกิจกรรม

บรรยากาศของห้องอบรม

มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  สื่อมีความทันสมัย ระบบขยายเสียงชัดเจน แสงสว่างเพียงพอ โต๊ะ เก้าอี้เหมาะสมกับการนั่งอบรม บรรยากาศของการอบรมสนุกสนาน และอบอุ่น ได้ร่วมกิจกรรมเป็นทีม ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมของการอบรม

ความรู้สึกต่อวิทยากร

รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์เป็นวิทยากรที่เก่ง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่อบรม มีวิธีการสร้างบรรยากาศในการอบรมให้สนุกสนานไม่ตึงเครียด เป็นกันเอง ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมระหว่างการอบรม ทำให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น เปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมกันแสดงความคิดเห็น และสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยมีการเสริมแรงด้วยการให้รางวัล ทำให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้

ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน

         เพื่อนนักศึกษาทุกคนให้ความร่วมมือในกิจกรรมการอบรมครั้งนี้เป็นอย่างดี  เช่น ตั้งใจฟัง มีการจดบันทึก ตั้งคำถามตอบคำถาม ทำให้บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง และทุกคนมีความสนิทสนมกันช่วยเหลือกันเสมือนพี่น้อง

หมายเลขบันทึก: 576492เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2014 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2014 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท