หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : จดหมายข่าว "งานวิชาการรับใช้สังคม" (ฉบับเรื่องเล่า : เล่าเรื่อง)


ผมเน้นรูปแบบการนำเสนอแบบ “เล่าเรื่อง” ไม่ได้เขียนเป็นบทความวิชาการจนชาวบ้าน หรือนักเรียนอ่านยาก ผมเน้นการอ่านที่ทำให้ "ผู้อ่าน" รู้สึกเหมือนเรากำลังเล่าเรื่องให้เขาฟัง จะได้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น -

ผมมีความเชื่อและศรัทธาอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”

หากรักที่จะทำอะไรสักอย่าง คิดดี ทำดี (ทำจริง) มรรคผลมันย่อมเกิดขึ้นจริง ส่วนเกิดขึ้นแล้ว จะประสบความสำเร็จกี่มากน้อย นั่นเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะต้องประเมิน




ล่าสุดหลังจากคิดและชวนน้องๆ ในทีมงานทำ “จดหมายข่าวงานวิชาการรับใช้สังคม” มาเป็นเวลาอันยาวนาน พาลงพื้นที่เรียนรู้จริง นั่งโสเหล่ในห้วงต่างๆ รวมถึงจ่ายงานให้อ่านสังเคราะห์ผ่านต้นฉบับจริงอันเป็นที่มาที่ไปของเรื่องฯ

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไปการงานที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลอดออกมาได้  ความคิดฝันของผมอาจเป็นนามธรรมมากจนเกินไป  ทีมงานมือใหม่จึงยังมองไม่ออกว่ามันจะมีหน้าตายังไง- ภายในเล่มจะประกอบด้วยอะไร  

ด้วยเหตุฉะนี้ผมจึงให้ทุกคนปล่อยวางพักงานนี้ไว้ก่อน  และหันกลับไปมีสมาธิกับการงานอื่นๆ ที่นับวันยิ่งถาโถมโหมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน  โดยผมย้ำว่า  ผมจะรับผิดชอบจัดการกับเรื่องนี้เอง  (จะลุยทำเป็นตัวอย่าง)  เมื่อเสร็จแล้วจะส่งงาน (โยนงาน)  กลับมายังทุกคนอีกรอบ  เพื่อรับช่วงไปรังสรรค์ออกมาตามหมุดหมายแห่งใจที่ปักไว้ร่วมกัน

นั่นคือสิ่งที่ผมพูดคุยกับน้องๆ ในทีมงาน-




ครับ- ผมใช้เวลาไม่นานเท่าไหรนัก -    คำว่าไม่นานแต่ก็กินเวลา ๓ วันเต็มๆเลยทีเดียวกับการขีดๆ เขียนๆ จดหมายข่าวฉบับปฐมฤกษ์

ไม่ง่าย แต่ก็รวดเร็ว – เพราะผมมีทุนในตัวเองอยู่แล้ว  ทุนที่ว่านี้  คือการได้ลงพื้นที่สัมผัสจริงกับงานเหล่านี้มาเป็นระยะๆ  อย่างต่อเนื่อง   เคยได้แลกเปลี่ยนกับคนที่เกี่ยวข้องแบบจริงจังและจริงใจมาหลายยก   เคยได้อ่านเอกสารรูปเล่มรายงานของเจ้าของโครงการ   หรือแม้แต่การได้ทำหน้าที่ถอดบทเรียนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นอาจารย์ นิสิตและชุมชนมาแล้วหลายเวที  จึงพอให้มองเห็นว่าควรเขียน หรือเล่าเรื่องอะไรบ้าง

ด้วยเหตุนี้ ....ทุกอย่างจึงลงเลยเสร็จสิ้นในห้วงเวลา ๓ วัน

ครับ-  ผมส่งงานให้น้องๆ ในทีมงานจัดวางรูปเล่มตามที่ปักหมุดไว้   ซึ่งด้วยความเป็นมืออาชีพของน้องๆ พวกเขาใช้เวลาทำงานเพียง ๒ วันก็เสร็จสิ้นกระบวนการ  จนนำมาสู่การตรวจทานต้นฉบับ ปรับแก้ และผลิตสู่การเผยแพร่ในแบบฉบับของเราเอง





จดหมายข่าวฉบับปฐมฤกษ์ฉบับนี้    ผมเน้นรูปแบบการนำเสนอแบบ “เล่าเรื่อง” ไม่ได้เขียนเป็นบทความวิชาการจนชาวบ้าน หรือนักเรียนอ่านยาก   ผมเน้นการอ่านที่ทำให้ "ผู้อ่าน"  รู้สึกเหมือนเรากำลังเล่าเรื่องให้เขาฟัง จะได้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น -

และจดหมายข่าวฉบับนี้ เรื่องที่นำมาบอกเล่า (เล่าเรื่อง) ครอบคลุมภารกิจ ๔ อย่างของมหาวิทยาลัยบนฐานของการเป็นงานวิชาการรับใช้สังคม ทั้งการเรียน การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังรวมถึงการงานของนิสิต -เสียงจากชาวบ้าน  รวมถึงผลพวงการทำงานของกิจกรรมเหล่านี้ที่สามารถขยายผลไปสู่เวทีสาธารณะอื่นๆ 




และนี่คือสิ่งที่ผมบอกเล่าแบบเรียบง่ายในบทบรรณาธิการ

จากใจบรรณาธิการ

"จวบเจียนจะครบ ๓ ปีแล้วที่โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนได้ขับเคลื่อนในมิติการบริการวิชาการแก่สังคมคมบนฐานคิดของการ “เรียนรู้คู่บริการ” ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน โดยบูรณาการภารกิจ ๔ ด้านเข้าด้วยกัน นั่นคือบริการวิชาการการเรียนการสอน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการวิจัย ก่อเกิดเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังผ่านห้องเรียนชั้นเรียนและห้องเรียนในชุมชน

จดหมายข่าวเล่มนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ มุ่งสื่อสารผ่านมิติ ‘การเล่าเรื่อง’ เป็นหัวใจหลัก ด้วยหมายใจว่านิสิตอาจารย์และชาวบ้านจะอ่านได้ง่ายๆ ในแบบบันเทิงเริงปัญญา รวมถึงเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของการขับเคลื่อนงานของแต่ละหลักสูตรที่มีทั้งภายในมหาวิทยาลัย ภายในชุมชน หรือกระทั่งสู่เวทีสาธารณะซึ่งไกลจนถึงต่างประเทศก็มี

ได้แต่หมายใจว่า ฉบับปฐมฤกษ์จะเป็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆ ให้คนทำงานได้มีพลังชีวิตในวิถีแห่งการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม และมีความสุขกับการที่จะเขียนเรื่องราวส่งกลับมายังเราเพื่อเผยแพร่ร่วมกันสืบต่อไป"

ด้วยมิตรภาพแห่งการเรียนรู้

พนัส ปรีวาสนา




ไม่มีอะไรน่ากลัวเกินการคิดฝันแล้วไม่ได้ลงมือทำ
นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมคิดฝันแล้วลงมือทำในแบบฉบับ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”
ซึ่งบัดนี้ทีมงานก็เข้าใจ  มองเห็นหมุดหมายร่วมกันแล้ว สามารถรับผิดชอบการงานประจำคอลัมน์ต่างๆ ได้เอง โดยต่างคนต่างกำลังขับเคลื่อนการงานเหล่านี้อย่างมีพลัง  และผมยังคงต้องรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการไปอีกฉบับหรือสองฉบับ จากนั้นเชื่อเถอะว่าใบไม้จะเริ่มผลัดใบ น้องๆ ในทีมงานนั่นแหละที่จะต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อจากผม





ครับ-ผมไม่ได้ทำเพียงแค่หนังสืออ่านเล่นพอให้ได้หอมกลิ่นกระดาษเท่านั้น   หากแต่ยังคงพ่วงพาไปสู่ระบบ E-book ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ http://www.sa.msu.ac.th/onecommunitymsuE-books/NEWS-1/JOD-004.html

ว่างๆ ลองเข้าไปเยี่ยมชมครับ-...





หมายเลขบันทึก: 576407เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2014 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2014 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

-สวัสดี่ครับอาจารย์

-ตามไปชมหนังสือใน E-book แล้วเรื่องราวและภาพประทับใจมาก ๆครับ

-เรื่องเล่าดี ๆแบบนี้อ่านแล้วได้สัมผัสถึงบรรยากาศครับ

-ขอบคุณครับ


ชอบข้อความที่คุณแผ่นดินพูด

ผมเอาไปอ้างใช้เสมอ ใจนำพาศรัทธานำทาง

ดีใจที่เป็นการรับใช้สังคมออกมาเป็นรูปธรรมมากๆ

ขอบคุณมากๆครับ

"ใจนำพา..ศรัทรานำทาง"..ไพเราะมาก..เจ้าค่ะ... (เสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีโอกาศ..อ่านรึสัมผัส 

หนังสือเล่มนี้....  (....หนี้ัง)ตรงนี้ในวงเล็บลบไม่ออก..อิอิ)....สนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมั้กๆ...เจ้าค่ะ...

หนงัสือสวย พี่แก้วจะขอเชิญมาเล่าวิธีการทำหนังสือสวย เนื้อหาเบาๆให้ฟังหน่อยนะคะ

สนใจบ้านดินจ้ะอาจารย์   อยากได้ไว้ที่ ศพด.วัดอู่ตะเภา  ทำไงดีล่ะ

สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

ตอนนี้กำลังลงมือลงไม้กับต้นฉบับเล่มสองครับ
เล่มนี้ชูประเด็น "ข้าว ปลา นา น้ำ" ...

ต้นเดือนตุลา...ได้อ่านแน่นอน ครับ

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ใจนำพา  ศรัทธานำทาง
มันคือ หลักคิดของการไม่กังขาที่จะฝ่าข้ามอุปสรรค ครับ

ครับ คุณยายธี

ใจนำพา ศรัทธานำทาง.....หนึ่งในวาทกรรมที่ผุดขึ้นปี 51  จากสถานการณ์น้ำท่วมชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ  ผมและน้องๆ รวมถึงนิสิต ลุยออกไปช่วยชาวบ้านร่วมเดือนเลยทีเดียวครับ

ส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ "เรียนนอกฤดู"  ที่ผมได้เขียนและจัดพิมพ์ไป ครับ

ขอบพระคุณสำหรับ กำลังใจครับ อ.พ.แจ่มจำรัส

ยังต้องเดินหน้าเล่มต่อๆ ไปครับ  เน้นการเล่าเรื่องเป็นหลัก  เพื่อให้อ่านกันง่ายๆ ...ชาวบ้านอ่านได้ นักเรียนอ่านได้ ไม่ใช้ศัพท์แสงวิชาการให้รกรุงรัง...

คงต้องลองผิดลองถุกไปอีกซักระยะ ครับ

ยินดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช  

ยินดีและเป็นเกียรติมากครับ  การทำหนังสือ เป็นการงานอันแสนรักของผมและน้องๆ ในทีมงานครับ  มีอะไรให้ช่วยเหลือและร่วมเรียนรู้ด้วย ก็ยินดีอย่างมากครับ  ในโลกวันนี้ถึงแม้จะอ่านหนังผ่านระบบออนไลน์ได้  แต่ผมก็ยังหลงรักกลิ่นกระดาษอยู่วันยังค่ำ ครับ

โอ้ คุณมะเดื่อ

ไกลแสนไกลจัง...ถ้าอยู่แถวนี้ จะประสานนิสิตลงพื้นที่ไปช่วยทำ ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้เลยทีเดียวครับ...แบ่งปัน แชร์ข้อมูล แนวปฏิบัติก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี...

หรือผนวกสถานศึกษาในพื้นที่ช่วยขับเคลื่อน  ประเด็นนี้ ก็น่าสนใจครับ...เพราะถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สถานศึกษาต้องรับใช้สังคม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท