“จิตตปัญญาศึกษา”


การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

“การศึกษาที่แท้คือ การศึกษาที่ไม่เอาตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความเชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ "

สิริริตน์ นาคิน*

การเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) หรือที่เรียกกันว่ากระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ การศึกษาเพื่อการตื่นรู้ (Awakening) การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) และการเรียนรู้เพื่อจิตสำนึกใหม่ แนวคิดนี้เริ่มต้นด้วยความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาที่เกิดจากภายในตัวบุคคลอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การศึกษาที่มุ่งเน้นการสำรวจภายในตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง และการรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนักรู้ การหยั่งรู้ ความเปิดกว้าง ความเคารพในความเป็นมนุษย์และการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย โดยนัยสำคัญของจิตตปัญญา หมายถึง กระบวนการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตนเองโดยการพัฒนาจากด้านในแก่จิตใจ และการคิด ด้วยการวิพากษ์ตนเองอย่างใคร่ครวญ เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย จนเกิดการใคร่ครวญด้วยจิตที่มีความเมตตากรุณา ทำให้จิตใจเปิดกว้าง สามารถทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ มีคุณลักษณะที่เด่นชัดในด้านความตระหนักรู้ในตัวเอง ความเมตตากรุณา และจิตสาธารณะ สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และเปลี่ยนแปลงตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ยิ่งขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือจิตตปัญญาศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

การก่อเกิดของแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา

ปรัชญาแนวคิดเรื่องจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เริ่มต้นขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี๕.ศ. 1974 ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเชอเกียม ตรุงปะแต่เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ในหมู่นักการศึกษาทุกระดับ โดยมีอิทธิพลต่อเครือข่ายการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น เครือข่าย Five Colleges หรือมหาวทิยาลัย 5 แห่ง คือ Amherst College, Hampshire College, Mout Holyoke, Smith College และ University of Massachusetts, Amherst หรือเครือข่ายในมลรัฐโคโลราโด กล่าวคือ Rocky Mountain Contemplative Higher Education Network (RMCHEN) ซึ่งเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ค.ศ. 2006

ทั้งนี้สำหรับมหาวิทยาลัยนาโรปะ เป็นมหาวิทยาลัยการปฏิบัติเชิงจิตตปัญญาในการศึกษาอาจหมายถึง การศึกษาที่มุ่งเน้นการสืบค้นสำรวจภายในตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง และการรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนัก รู้จักตนเอง การหยั่งรู้ และความเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายและอุดมของโลกทั้งนี้จากการตระหนักเข้าใจตนเองส่งผลให้เกิดความชื่นชมในคุณค่าของประสบการณ์ของผู้อื่นด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าเป้าหมายของการศึกษาเชิงจิตตปัญญาไม่ได้เป็นการเรียนรู้เพื่อการใคร่ครวญภายในเท่านั้น จิตตปัญญาศึกษาไม่ได้เป็นการเรียนรู้เพื่อการใคร่ครวญภายในเท่านั้น จิตตปัญญาศึกษาไม่ได้หมายถึงการละเลยความเป็นวิชาการแต่หมายถึง การหยั่งรากให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่สัมผัสโดยตรงมากขึ้น และให้มีสมดุลกับการฝึกจิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทำสมาธิ เพื่อให้การพัฒนาด้านในและการพัฒนาความรู้ภายนอกเติบโตไปด้วยกัน ทั้งนี้การศึกษาที่มีสมดุลดังกล่าวจะบ่มเพาะความสามารถของผู้เรียนให้ไปเกินระดับของถ้อยคำและมโนทัศน์ รวมไปถึงเรื่องของหัวใจ บุคลิกลักษณะนิสัย ความสร้างสรรค์ การตระหนักเข้าใจตน การมีสมาธิ ความเปิดกว้าง และความยืดหยุ่นทางความคิด (จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร. 2550 : 14)

จิตตปัญญาศึกษา คืออะไร?

จิตตปัญญาศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตน ได้แก่ เกิดความรู้ความเข้าใจในตนเอง ผู้อื่นและสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้ง และสอดคล้องกับความเป็นจริง เกิดความรักและความเมตตา อ่อนน้อมถ่อมตน เกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวมที่อยู่บนพื้นฐานของการเข้าถึงความจริงสูงสุด หรืออีกความหมายหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านในซึ่งประกอบด้วยจิตและการคิด ผ่านการฝึกปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้เกิดกระบวนการคิดใคร่ครวญด้วยจิตที่มีความเมตตากรุณา ทำจิตใจให้เปิดกว้าง สามารถทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจิตตปัญญาศึกษา เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำคำนี้ มิใช่แสดงถึงรูปแบบของการศึกษา หรือระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ “กระบวนการ" ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพการเรียนรู้ ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้อธิบายถึงแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาไว้ว่า เป็นการเรียนรู้ที่บ่มเพาะความเปิดกว้างอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดรับต่อความหลากหลาย ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างกล้าเผชิญและวางตัวตน การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีสติสัมปชัญญะ และน้อมนำเอาประสบการณ์มาสู่ใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งเป็นฐานของความรู้ที่แท้หรือปัญญา

ความสำคัญของจิตตปัญญาศึกษาที่มีต่อความผาสุกในสังคมคือ คนเรานี้มักจะมองโลกแบบแยกส่วน ทำให้เกิดความไม่พอใจตัวเอง และไม่พอใจผู้อื่นอย่างกว้างขวางตลอดเวลา สภาพเช่นนี้มิอาจแก้ไขได้ด้วยองค์ความรู้ธรรมดาหากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน บรรดาผู้รู้ ผู้มีปัญญาหลายฝ่ายเองบ้างก็ยังจนปัญญากันไปหมดด้วย ไม่ว่านักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ แขนงต่าง ๆ เนื่องด้วยสาเหตุบางทีอาจเป็นเพราะผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นทางหนึ่งที่เหลือ ที่อาจจะช่วยให้สังคมอุดมปัญญาสามารถคลายความร้อนรุ่มและร้อนแรงได้นั้น คือ ต้องใส่องค์ความรู้ทางด้านความรักและความเมตตาเข้าไปให้มากขึ้น เราต้องทักท้อวงสมดุลทางจิตวิญญาณ (Spiritual Pollution) กันให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะจิตที่เป็นพิษนั้นให้โทษไม่แพ้สารพิษและสิ่งเสพติดทั้งปวง (เสกสรร ประเสริฐกุล. 2553 : 91)

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานด้วยกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านประสบการณ์ที่เริ่มจากการสร้างมณฑลแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้พื้นที่และการสร้างสัมพันธภาพการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ด้วยกระบวนการเรียนรู้กันอย่างเป็นกลุ่ม เพื่อให้เห็นว่าความรู้นั้นก่อรูปขึ้นมาในวงสนทนาได้ในบรรยากาศแห่งความผ่อนคลาย ดังนั้นจิตตปัญญาศึกษา ก็คือการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ โดยมีแนวทางการศึกษา ดังนี้1) Critical – Basedคือ การสอนให้มองโลกในแง่ดี ให้มีความคิดวิจารณญาณ รู้จักการวิเคราะห์ หาเหตุผล 2) Creative – Basedคือ การสอนให้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ รู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ 3) Productivity – Based คือ การสอนให้มองที่ผลงาน ให้รู้จักสร้าง รู้จักผลิต รู้จักคิดอะไรใหม่ ๆ 4) Responsibility – Based คือ การสอนให้รู้จักตัวเอง รู้จักการเสียสละ ให้ผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าด้วยมือของเรา ดังนั้น จิตตปัญญาศึกษา สามารถนำไปใช้ได้กับทุกศาสตร์ ท่ามกลางบรรยากาศของความรัก ความเมตตาเกื้อกูลกันในสิ่งแวดล้อมที่สงบ สดชื่น เบิกบาน และอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีที่ดีขององค์กร โดยเน้นการฝึกฝนปฎิบัติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านในตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านในที่ไม่จำกัดเฉพาะศาสนา เช่น การทำงาน การออกกำลัง งานศิลปะ สุนทรียสนทนา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่โยงไปสู่การรู้จิตของตัวเอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรและสังคม

Contemplative Education อาจหมายถึง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำคำนี้ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น แต่คำคำนี้เปรียบเสมือนเป็นการจุดประกายความหมายใหม่ ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนคนหนึ่งทั้งชีวิต Contemplative Education สะท้อนให้เห็นกระบวนการ ความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ นำไปสู่การตั้งคำถามอย่างถึงรากต่อการศึกษาในระบบ ที่ได้จำกัดการเรียนรู้ให้แน่นิ่งอยู่ในกรอบ ในขั้นตอนที่ถูกจัดวางไว้แล้วอย่างตายตัว ซึ่งมนุษย์ทุกคนนั้นมีศักยภาพของการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนบ้านนอกคนกรุง คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม คนทุกคนต่างมีธรรมชาติแบบเดียวกัน เป็นจิตใจที่สามารถเป็นอิสระจากภาพลวงตาของอัตตาตัวตน ก้าวพ้นสู่การสัมผัสความดี ความงาม และความจริง จนก่อให้เกิดความสุขสงบเย็นอย่างยั่งยืนภายใน

หากเราสัมผัสและเข้าใจได้ถึงกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น คือ ประสบการณ์ทุกสิ่งอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ที่เราไม่เคยไป การอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจ เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าและความงามที่ทำให้จิตใจของเราขยายขึ้น เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากอัตตาตัวตนที่ลดลง กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จึงนำไปสู่ความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่คนรอบข้างอย่างแท้จริง(ไพฑูรย์ สินลารัตน์. 2553; ณัฐฬล วังวิญญู และคณะ. 2552 : 79; วิจักขณ์ พานิช. 2551 : 18)

นอกจากนี้ วิจักขณ์ พานิช ได้อธิบายถึงกระบวนการเอาใจใส่จิตใจในกระบวนการเรียนรู้นั้นซึ่งสามารถทำได้ 3 ลักษณะคือ 1) การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือการฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจอย่างสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่เราฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่น ในที่นี้ยังหมายถึงการรับรู้ในทางอื่น ๆ ด้วย เช่น การมอง การอ่าน และการสัมผัส 2) การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้ง กอรปกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทางอื่น ๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้วมีการน้อมนำมาคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็นของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นอีกในระดับหนึ่ง 3) การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือภาวนา คือ การเฝ้าดูธรรมชาติที่แท้ของจิต นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความบีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและสภาวะของการเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ไหลต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก เห็นความเป็นจริงที่พ้นไปจากอำนาจแห่งตัวตนของตนที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียงการเห็นผิดไปของจิตเพียงเท่านั้น (วิจักขณ์ พานิช. 2550 : 18)

แนวทางการจัดการศึกษาตามแนวจิตตปัญญาศึกษา

การเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ได้อธิบายแนวทางการฝึกการใช้ชีวิตทั้งจากฐานกาย ฐานใจ และฐานปัญญา เช่น การฝึกฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง มองอย่างพินิจพิจารณาทุกแง่มุม ทั้งจากตามหลักศาสนา และบริบทของทางโลก การเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษา สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในระดับที่แตกต่างกันทั้งในส่วนตนเอง ครอบครัว กับผู้คนรอบข้าง รวมถึงการนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนสรุปได้ดังนี้

  1. ต่อตนเอง :การรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง สังเกตตนเอง อัตตาความมีตัวตนลดลง มีการ

ใคร่ครวญ (quiet mind) มากขึ้น ทำให้ตนเองเป็นคนที่ช้าลงเย็นลง (Cool down) ได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการคิด รู้จักมองใต้ภูเขาน้ำแข็งประกอบด้วยมากกว่าการมองแค่ปรากฏการณ์ที่เห็นต้องสืบค้นจากต้นตอของปัญหา เหตุปัจจัย มองเห็นผังความเชื่อมโยงของชีวิตตนเอง

  1. ต่อครอบครัว :เข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น มีเมตตา มีการปฏิบัติที่เปลี่ยนไป
  2. ต่อผู้คนรอบเข้า :ฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ ช่วยเหลือคนที่อยู่รอบข้างมากขึ้น ความขัดแย้งลดลง

การนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอน : มีการนำรูปแบบกิจกรรมไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการ

สอน เริ่มจากการฟังนักศึกษาอย่างลึกซึ้ง มีเทคนิคการใช้ภาษา การตั้งคำถามลงลึก การตั้งคำถามย้อนกลับ นำกิจกรรมการผ่อนพักตระหนักรู้มาใช้ ใช้ระฆังประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ปลูกฝังวิธีคิดให้กับนักศึกษา ให้เวลานักศึกษานิ่งแล้วคิดก่อน (อยู่กับตัวเอง) ให้เขียนแล้วค่อยพูดคุยหรือนำเสนอ ฝึกให้สรุปสาระจากบทเรียน เวลาทำอะไรให้นึกถึงเหตุปัจจัย มองอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวมเป็นเหตุเป็นผล

กล่าวโดยสรุป คือ การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญนั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็นรากฐานของการก่อกำเนิดความรู้ที่ถึงพร้อมนั่นคือ ปัญญา ที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริงเห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่ง เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่จะทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ เป็นการศึกษาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยสาตาแห่งความสมใหม่อยู่เสมอ ผลที่งอกงามภายในจะสุกงอมหอมหวานก่อเกิดผลเป็นการงานอันสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์อันกว้างขวางต่อสังคมและผู้คนรอบข้าง

สุดท้ายขอฝากเพียงว่า หากจะให้ทุกคนเรียนรู้กันอย่างแท้จริงนอกจากความรู้ แล้วยังต้องเรียนรู้ทั้งภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณด้วยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างเข้าถึงจิตใจมากขึ้น รู้จักรับฟังและเกิดกระบวนการเรียนรู้ใส่ใจที่จะฟังมากขึ้น ใคร่ครวญครุ่นคิดหาสาเหตุก่อนโดยไม่ด่วนตัดสินผู้อื่นเพียงเพราะเห็นว่าเขาคิดเห็นต่างจากเราเท่านั้นหรือเพียงเพราะเขาอยู่คนละสถานะไม่ว่าทางกายก็ดี ทางหน้าที่การงานก็ดี หรือแม้กระทั่งสถานะทางสังคมที่ย่อมให้ความสำคัญในเรื่องของระดับที่มักจะแบ่งภาคออกอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าวิชาชีพใดๆ หากเรามีมุมมองที่เห็นว่าผู้อื่นเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเราแล้ว ย้อนพินิจพิจารณาใคร่ครวญด้วยใจของเราแล้วเราจะเห็นได้ว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งเดียวกันเรียนรู้กันด้วยใจ เข้าใจเห็นใจ มองมุมเดียวกันบ้างในบางเรื่อง และมองต่างมุมในทางเสนอแนะให้แนวทางชี้นำเพื่อสร้างสรรค์ให้ดีกว่าเดิม อีกทั้งยังจะเป็นการส่งเสริมให้เราที่อยู่ร่วมกันในขณะนี้สภาวะนี้มีความคิดเห็นเหมือนหรือต่างก็ไม่แยกออกจากกัน มองให้เห็นถึงข้างใน นัยคือความรู้สึกของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นทั้งจากความรู้ วิชาชีพ และจิตวิญญาณให้ครบ เพื่อให้เกิดเป็นสิ่งที่สมบูรณ์มีความสุขสงบจากภายในจิตใจ สภาวะนี้คือหลุดจากการคิดเห็นในเชิงลบแต่จะส่งเสริมผลักดันในเชิงบวกเสียมากกว่า และการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเมื่อฝึกบ่อย ๆ เข้าก็จะกลายเป็นคนที่ลุ่มลึกทั้งสามภาคไม่ละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปจากตัวตนที่แท้จริงของเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้เราจะเห็นและเข้าใจในที่สุดหากทุกคนยอมถอยออกมาและเรียนรู้ร่วมกัน เป็นมิตรดั่งกันและกันโลกของเราจะน่าอยู่มากขึ้นทีเดียว

แหล่งอ้างอิง

จิรัฐกาลพงศ์ภคเธียร. (2551).จิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย“Contemplative Education in

Thailand" จิตตปัญญาศึกษา : การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม :

มหาวิทยาลัยมหิดล.

ณัฐฬล วังวิญญู และคณะ. (2552).สรุปความรู้จากการอบรม “ภาวะผู้นำทางจิตตปัญญาศึกษาสู่

มหาวิทยาลัย" หลักสูตรที่ 1 การเรียนรู้ด้วยหัวใจที่ใคร่ครวญ (Contemplative Education). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาศึกษา.

ธนานิลชัยโกวิทย์. (2551).การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและจิตตปัญญาศึกษา Transformative

Learning and Contemplative Education. ในจิตตปัญญาศึกษา : การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2 นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล

ไพฑูรย์สินลารัตน์. (2553).การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : กระบวนทัศน์ใหม่และผู้นำใหม่ทาง

การศึกษา. แหล่งที่มา : http://www.moe.go.th/main2/plan/p-r-b42-01.htm

เสกสรรประเสริฐกุล. (2553).วิภาษวิธีแห่งจิตตปัญญาศึกษา ศีล 5 ถึงปรัชญาปารมิตา. พิมพ์ครั้งที่ 1. ศูนย์

จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

วิจักขณ์พานิช.(2550).เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ การศึกษาดั่งเส้นทางแสวงหาทางจิตวิญญาณ.

กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.

อัคพงศ์ สุขมาตย์. (2554).การพัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะครูในการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนา

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔ ตามแนวคิด จิตตปัญญาศึกษา.ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. (การวิจัยและพัมนาหลักสูตร) กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรันครินทรวิโรฒ.

http://jittapanya.com/index.php?option=com_content...

http://contemplative mind.org

Mazirow, J. (1998). “On Critical Reflection" Adult Education Quarterly. 48 : 159-198.

หมายเลขบันทึก: 575525เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2014 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2014 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยอดเยี่ยมเลยครับ

ผมนี้หนังสือเล่มนี้

ธนานิลชัยโกวิทย์. (2551).การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและจิตตปัญญาศึกษา Trans formative Learning and Contemplative Education. ในจิตตปัญญาศึกษา : การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2 นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล

กำลังจะแนะนำให้อาจารย์อ่านอยู่เชียว ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท