การศึกษาตามต้นแบบหลักสูตรอาเซียนเรียนรู้ความแตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้


โลกทุกวันนี้มองเรื่องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เพื่อสร้างการพัฒนาในเวทีการแข่งขัน ในขณะที่มองการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยการศึกษาเพื่อเตรียมคนในอนาคตของพื้นที่ ไม่ต่างกับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่คาดหวังว่าสันติสุขอย่างยั่งยืนจะแก้ด้วยการศึกษาและการพัฒนาคนที่มีทักษะแห่งอนาคตใหม่ที่เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้รับเชิญจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สะท้อนการเรียนเรื่องการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนให้กับผู้สอน ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เรียนเพื่อไปให้ทิศทางที่ก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีทักษะเพียงพอมากกว่าที่พูดกันแต่เรื่องภาษาและวัฒนธรรมที่ทำให้เป็นพลเมืองอาเซียนพร้อมกัน

สงครามการเมืองและสันติภาพได้ผ่านไปหลายครั้งจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ ล้วนเต็มไปด้วยการแก่งแย่งทรัพยากรและการรบราฆ่าฟันเพื่ออำนาจและความเป็นใหญ่ หากแต่มโนสำนึกลึกๆ ของมนุษย์ทุกคนล้วนใฝ่หาความดีงามและร่ำร้องถึงความสงบสันติ ในขณะที่ปัญหาสังคมทวีมากขึ้นภายใต้ความขัดแย้งในส่วนต่างๆ ของโลก กลับพบว่ามนุษย์ได้รับการศึกษาสูงขึ้นเพื่อเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีสันติสุข มีความสมดุล 4 ประการ ระหว่างความเจริญทางจิตใจกับความเจริญทางวัตถุ ความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น และความสมดุลระหว่างการพึ่งพาอาศัยกับการพึ่งตนเอง

การเน้นหลักสมดุลสะท้อนทิศทางการพัฒนาคนด้วยการจัดการศึกษาให้สอดคล้องที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือเรียกสั้นๆว่า ยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้แนวทางของการจัดการศึกษาของทุกประเทศสมาชิกในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นการเรียนรู้ทุกๆ ขั้นตอน 4 ประเด็นได้แก่ (1)การเรียนรู้ที่จะรู้ – Learning to know ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าการเรียนรู้ข้อเท็จจริงที่วิเคราะห์แก่นแท้ของสรรพสิ่งที่แตกต่างและซับซ้อน (2) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติ – Learning to do ซึ่งเป็นความสามารถของการลงมือปฏิบัติ รู้จักการประยุกต์ใช้หลักการทางวิชาการมาสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโลกของการงานอาชีพ และโลกของตำราหนังสือ (3) การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน – Learning to live together การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และสันติสุข ด้วยโลกสมัยใหม่ต้องการการทำงานเป็นทีมและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ มีความเข้าใจผู้อื่นรวมทั้งตนเองและต้องมีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน ที่ระบบการแข่งขันแบบมีแพ้มีชนะคงไม่เหมาะสมกับโลกสัมยใหม่ แต่น่าจะเป็นความร่วมมือผดุงรักษาโลกใบเล็กๆ นี้ไว้เป็นแหล่งสุดท้ายของโอกาสความอยู่รอดของมวลมนุษย์ (4) การเรียนรู้เพื่อการเป็นตัวตนเพื่อชีวิต – Learning to be ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อมิใช่จะมีโภคทรัพย์เป็นหลักใหญ่ แต่เรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ของชุมชน ของชาติ เป็นการแสวงหาของตนเองในทางจิตวิญญาณที่เริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็นทารกตลอดไปจนสิ้นชีวิต

ก่อนหน้านี้ไปแวะดูงาน DepEd ที่กรุงมะนิลาที่ฟิลิปปินส์ (www.deped.gov.ph) และการปฏิรูปการศึกษาตาม SPN21 ของบรูไนดารุสซาลาม (www.moe.edu.bn/web/spn21) กับคณะสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เพื่อย้อนกลับมามองสิ่งที่นักการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อปลูกฝังทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เตรียมพร้อมและปรับตัวร่วมกันสู่เวทีที่นานาชาติยอมรับ

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและร่วมบริหารโรงเรียนปอเนาะบ้านตาลหลังพ้นจากตำแหน่งสำคัญในอุษาคเนย์ ได้ให้เกียรติมาจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม2556 ด้วยการเชิญของสภาที่ปรึกษาฯ (สปต.) และเสวนาหาทางออกของโจทย์อนาคตของพื้นที่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ข้อ 9 ในด้านการเสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีทิศทางที่สำคัญฝากไว้หลายเรื่อง

เรื่องการศึกษาเพื่อเตรียมคนสู่ประชาคมอาเซียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อดีตเลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นต่อการปรับตัวของสถาบันปอเนาะไปสู่รูปแบบในการเรียนรู้ดังเดิมแต่ต้องมีกลไกในการสร้างคุณภาพคนให้ได้ดีและเป็นที่ยอมรับในการสร้างผลผลิตที่เป็นคนที่ใฝ่หาความดีงามและดำเนินชีวิตด้วยความสงบสันติ โดยมีสถาบันปอเนาะที่ให้ความเจริญทางจิตใจและมีรูปแบบการบริหารที่ได้รับการยอมรับ พร้อมทั้งให้แง่คิดของการเปลี่ยนแปลงปอเนาะบ้านตาลจากประสบการณ์ที่ท่านได้ไปเรียนรู้ในเวทีนานาชาติมามาก

เมื่อเร็วๆนี้ มีอาจารย์วิทยาลัยชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ท่านหนึ่งมาถามเรื่องการฝึกทักษะเตรียมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ผมเห็นว่านอกจากทักษะในการพัฒนาตนเองแล้วจำเป็นต้องมีทักษะในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างของชาติพันธุ์ การนับถือศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีด้วย โดยไม่ต้องไปขวนขวายสร้างหลักสูตรอาเซียนใหม่ แต่นำเอามาตรฐานหลักสูตรอาเซียน ที่มีแนวทางที่ได้รับการยอมรับร่วมกันของนักการศึกษาจากทุกประเทศสมาชิกมาทำASEAN Curriculum Sourcebook Review Workshop (เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 ที่กรุงเทพ) และได้ข้อสรุปในเวที Curriculum Sourcebook Review Workshop (เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2555 ที่พนมเปญ) โดยได้รับการรับรองในเวที ASEAN SUMMIT ที่ผ่านมาและองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization) หรือเรียกโดยย่อว่า “ซีมีโอ” (SEAMEO) เผยแพร่ให้สามารถเข้าไป download ได้จากhttp://www.seameo.org/images/stories/Publications/Centers_pub/2012ASEAN_Curriculum_Sourcebook/ASEAN_Curriculum_Sourcebook.pdf ที่ทำให้เรารู้บว่าควรสร้างความเข้าใจสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนร่วมกัน (Integrating Education) มากกว่าที่เห็นสถาบันการศึกษาปักธง ติดป้ายหรือจัดกิจกรรมที่เห็นกันมากอยู่ได้อย่างไร โดยความมุ่งหวังที่จะเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อหาความดี ความงาม และความจริงที่มีคุณค่าสู่การสร้างสรรค์อนาคตร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 575493เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2014 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2014 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับผอ.ฃมีประโยชน์มากเลยครับ

ไม่ค่อยได้ข่าว

สบายดีไหมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท