มองย้อนอดีตของอินโดนีเซียสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค


แผนพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคของเพื่อนบ้านอาเซียนที่เปิดเสรีต่อกัน พึงต้องติดตามและรู้ทิศทางความเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีเชื้อสายมลายูและมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนในด้านล่างของภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจะคุ้นเคยชื่ออนุภูมิภาค “นูซันตารา” (Nusantara) มีความหมายว่า ดินแดนที่อยู่ระหว่างสองทวีป สองมหาสมุทร

ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสมัยต้น ตั้งแต่ยุคพ่อค้า พระ นักแสวงบุญ (ค.ศ.2-414) ยุคกษัตริย์แห่งภูเขาและราชาแห่งเกาะต่างๆ (ค.ศ.750-900) ยุคการค้าของอาณาจักรการค้าขาย-ศรีวิชัย (ค.ศ.450-1300) ยุคอาณาจักรต่างๆ ในชวาตะวันออก (ค.ศ.1000-1500) การเผยแผ่ศาสนาอิสลาม (ตั้งแต่คริตส์ศตวรรษที่14-15) การเข้ามาของชาวยุโรป (การบุกรุกของชาวโปรตุเกส ตั้งแต่ ค.ศ.1511 และชาวฮอลันดา ตั้งแต่ ค.ศ.1596) การปฏิรูปในชวา (ค.ศ.1800-1830) ยุคนโยบายจริยธรรมและสังคมอินโดนีเซีย ที่เกิดพวกจริยชนและการขยายการศึกษาแบบตะวันตก (ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) ยุคลัทธิชาตินิยมและอิสรภาพ (ค.ศ.1908-1942) ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และการยึดครองของญี่ปุ่น (ค.ศ.1939-1945) การต่อสู้เพื่อเอกราชและข้อตกลงลิงกาจาตี (ค.ศ.1947) และยุคหลังเอกราช ที่มีกฎบัตร 5 ข้อของรัฐ : ปัญจสีลา ที่มีเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างในรูปแบบสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1950-1959)

หลักการทั้ง 5 ข้อ (ปัญจสีลา:Pancasila) เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ว่าเป็นพื้นฐานของรัฐและรวมเข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายแห่งชาติ สัญลักษณ์นกการูดาในตราตระกูลอินโดนีเซียสมัยใหม่มีปีกข้างละ 17 แฉกและมีหางแผ่เป็น 8 แฉก เป็นสัญลักษณ์ของวันประดาศเอกราชของอินโดนีเซีย รอบคอแขวนโล่แบ่งเป็น 4 ช่อง เป็นแดงสลับขาว มีโล่เล็กสีดำประดับดาวทอง 5 ดวงอยู่เหนือสัญลักษณ์นี้ เป็นตัวแทนของสิ่งที่บัดนี้เป็นหลักข้อแรกของปัญจสีลาคือเชื่อในพระเจ้า และการเห็นในกรงเล็กนกการูดาสีทองมีม้วยกระดาษจารึกว่า “บินเนกา ตุงกาล อีกา” (Bhinneka Tunggal Ika) ซึ่งเป็นภาษิตอินโดนีเซีย แม้ว่าคำนั้นจะเป็นภาษาสันสกฤต (เปรียบเสมือนภาษาละตินในภาษิตของชาวตะวันตก) มีความหมายสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความแตกแยกกันอยู่เป็นคำว่า “เอกภาพในความหลากหลาย”

ด้วยการที่รัฐสามารถประสานความเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรม แม้ในช่วงการเข้าสู่ระเบียบใหม่ (Orde Baru) ที่ ก็อยู่ในช่วงการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองโดยมีซูการ์โน (Sukarno) เป็นประธานาธิบดีคนแรก (ค.ศ. 1945-1966) ภายหลังมีการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีและ นายพลซูฮาร์โต (Suharto) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีนานกว่า 3 ทศวรรษ (ค.ศ. 1967-1998) ต่อมาในระหว่างที่เจอวิกฤติต้มยำกุ้งในปี ค.ศ.1997 เหมือนประเทศไทย และเจอแรงกดดันหลายด้านโดยเฉพาะทางการเมืองจนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 จนผ่องถ่ายอำนาจให้ประธานนาธิบดี บี.เจ.ฮาบีบี (B.J Habibie) ซึ่งเป็นคนจากเกาะสุลาเวสีและเป็นผู้นำคนแรกที่ไม่ใช่ชาวชวา (ค.ศ.1998-1999)

ต่อมามีการปฏิรูปครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1998 ทำให้มีการเลือกประธานาธิบดีโดยตรง มีวาระการบริหารงาน 5 ปีและอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย โดยมีอับดุลระห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดขององค์การมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมาเป็นประธานาธิบดี (ค.ศ. 1999-2001) และเริ่มปฏิรูปการเมืองโดยเพิ่มอำนาจพลเรือนลดอำนาจทางทหาร หลังจากนั้นประธานาธิบดีวาฮิดถูกสอบสวนเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงทำให้ความนิยมลดลงและรัฐสภาถอดวาฮิดจากตำแหน่งประธานาธิบดี และได้แต่งตั้งนางเมกะวตี ซูการ์โน บุตรี (Megawati Sukarno Putri) ซึ่งเป็นรองประธานนาธิบดี (ค.ศ.2001-2004)

ต่อมาพลเอกซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Suilo Bambang Yudhoyaho) ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (ค.ศ.2004-2009) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง (ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.2009 เป็นต้นมาและจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปลายปี 2014) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยดีขึ้น เหล่าเทคโนเครตเข้ามามีบทบาทในการวางแผนนโยบายการพัฒนาประเทศ การส่งออกน้ำมัน ก๊าส และไม้สัก ทำให้ประเทศอินโดนีเซียได้ถูกจับตามองจากเวทีนานาชาติด้วยการมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นและมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพที่ปรากฎชัดจังหวัดภาคใต้ของไทยที่กำลังเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ.2015 จะพบว่ากระทรวงการคลังของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ออกประกาศให้พลเมืองอินโดนีเซียที่เดินทางไปต่างประเทศโดยใช้เครื่องบินเดิมจะเสียภาษี 2,500,000 รูเปียหรือประมาณ 7,500 บาท ในแต่ละครั้ง และพลเมืองที่เดินทางโดยใช้การขนส่งทางทะเลเดิมจะเสีย 1,000,000 รูเปียหรือประมาณ 3,000 บาท (Fiskal Luar Negeri : FLN) เมื่อมีการแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีจะได้รับเงื่อนไขการยกเว้น ตั้งแต่ปี 1 มกราคม ค.ศ. 2009 ซึ่งทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีจากพลเมืองที่มีรายได้มากขึ้น ในขณะที่ทำให้เพื่อนชาวอินโดนีเซียออกมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น จึงมีโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจการค้าและการบริการท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ มากขึ้นไปด้วย ในขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการหลอมรวมพลังคนในชาติเพื่อป้องกันความขัดแย้งด้านศาสนาหรือความรุนแรงของความแตกต่างของเชื้อชาติที่หลากหลายในประเทศ

ความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นที่สนใจของนักลงทุนและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค หลังจากที่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย หรือ Implementing Indonesia’s Economic Master Plan (MP3EI) โดยมีความมุ่งหมายให้ติดในกลุ่มประเทศที่มีขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกและมีรายได้ต่อหัวของประชาชนสูงขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมการเชื่อมต่อภายในประเทศอินโดนีเซียและภูมิภาคอาเซียนพร้อมกับการปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาโดยแบ่งพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (MP3EI Economic Corridor) เป็น 6 เขต ดังภาพแผนที่

ดังนั้นนักลงทุนจะเห็นการพัฒนาแต่ละพื้นที่ที่มีศักยภาพและทรัพยากรต่างกันที่เป็นฐานรายได้เดิมแลฐานรายได้ใหม่ของแต่ละพื้นที่เพื่อกำหนดอนาคตของอินโดนีเซียภายในปี ค.ศ. 2025 ดังนี้ (1) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจสุมาตรา (Sumatra Economic Corridor ) สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งพลังงานหลักของชาติ (2) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจชวา (Java Economic Corridor) สู่การขับเคลื่อนศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการให้บริการของประเทศ (3) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจกลิมันตัน (Kalimantan Economic Corridor) สู่การขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปถ่านหินและการสำรองพลังงาน (4) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจสุลาเวสี (Sulawesi Economic Corridor) สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปเกษตรกรรม การเพาะปลูก การประมง น้ำมัน ก๊าสและการทำเหมืองแร่ของชาติ (5) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจบาหลี-นูซาตรังการา (Bali – Nusa Tenggara Economic Corridor) สู่การเป็นประตูการท่องเที่ยวและสนับสนุนอาหารของชาติ (6) พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจบาปัว-เกปูลาอัน มาลูกู (Papua – Kepulauan Maluku Economic Corridor) สู่การเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอาหาร การประมง พลังงานและการทำเหมืองแร่ของชาติ

อย่างไรก็ตามในการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เราเห็นความเชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคและประชากรที่ส่วนใหญ่มีเชื้อชาติมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังเชื่อมโยงกับเชื้อชาติจีนที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซียอยู่ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคนี้มีแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในwww.imtgt.org) ที่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 หลังจากที่ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเห็นชอบให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ประเทศ ในปัจจุบันพื้นที่ IMT-GT ครอบคลุม อินโดนีเซีย 10 จังหวัด มาเลเซีย 8 รัฐ และไทย 14 จังหวัด โดยยังคงมีการหารืองานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบฉับพลัน เป็นการยกระดับจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบปิดไปสู่การรวมกลุ่มทางภูมิภาค (Regional Integration) ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีผลกระทบต่อกันภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลายและตลาดเสรี ทำให้เทคโนโลยีและความรู้มีความแพร่หลาย เข้าสู่ทุนนิยมและการสั่งสมความมั่งคั่ง ที่มักจะเกิดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำตามมา

__________________________________________________________________

ผนพัฒนาเศรษฐกิจ 15 ปี (ค.ศ. 2011–2025) ของอินโดนีเซีย (MP3EI) ส่งสัญญาณอะไรบ้าง
- แนวคิดหลัก “หลอมรวมความเป็นท้องถิ่น เชื่อมต่อโลก” (Locally Integrated, Globally Connected)
- มุ่งเพิ่ม GDP จาก 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีรายได้ต่อหัว 3 พันเหรียญสหรัฐต่อปี (ค.ศ. 2010) ไปเป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีรายได้ต่อหัว 1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อปี (ค.ศ. 2025)
- เน้นพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ 22 กลุ่ม (focus clusters)
- แบ่งพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเป็น 6 เขต (economic corridors)
โอกาสและลู่ทางการลงทุน
- จาการ์ตา (Jakarta) ท่าเรือสำคัญคือ Tanjung Priok
- เป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมีประชากรกว่า 240 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดอาเซียน
- ประชาชนที่มีฐานะดีมีประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด มีกาลังซื้อสูงมาก
- ประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง จึงมีความต้องการสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค

หมายเลขบันทึก: 575492เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2014 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2014 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท