หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด..(ตามรอย 1)


รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร ต้นตระกูลอุปะโยคิน เป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่าที่มีบทบาทอย่างสูงในสังคมเมืองเชียงใหม่เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยได้ประกอบคุณงามความดีมากมายเป็นที่รู้จักในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือและให้แก่ทางราชการไทยทั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร เดิมชื่อ หม่องปันโหย่หรือ หม่องปันโยหรือ อูปันโย ทางราชการไทยเขียน มองปันโย มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่าหลวงโยฯหรือพระยาตะก่าหรือพญาตะก่าพ่อค้าไม้ชาวพม่าหรือแซงพอ ชื่อ ปันโยในภาษาพม่าแปลว่าดอกไม้ ส่วนคำว่าพระยาตะก่าหรือ พญาตะก่า ในภาษาพม่า หมายถึง ชายผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป และอุปถัมภ์วัด

ชาติกำเนิด

หลวงโย ฯ เป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่าเชื้อสายชนชั้นสูงชาวปะกันและเป็นคนในบังคับอังกฤษ ท่านระบุไว้ในหนังสือขอพระราชทานนามสกุลว่า ท่านเป็นคนพม่า บิดาชื่อ อุเย มารดาชื่อต่ออุ๊ ทวดชื่อ อูบะเยาะ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเมทิลา (ปัจจุบันคือเมืองเล็กๆอยู่ทางทิศใต้ของเมืองมัณฑะเลย์.) ครอบครัวของท่านย้ายไปอยู่ใกล้วัดกันจอง เมืองมะละแหม่ง และท่านเกิดที่บ้านที่ถนนไดวอควิ่น เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ในวันพฤหัสบดี ขึ้นหกค่ำ ปีมะเส็ง จ.ศ. 1207/พ.ศ.2388 มีพี่น้องสามคนคือ มะยี ปันโหย่ และอูมิน

จากมะละแหม่งสู่ล้านนา

สำหรับการเริ่มต้นเข้ามาในล้านนาไทยของหลวงโย ฯนั้น คุณสังคีต จันทนะโพธิ นักเขียนอิสระซึ่งเขียนเรื่องราวของหลวงโยฯ ในชุดกรุมรดกล้านนา ลงพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ สกุลไทยฉบับที่ ๓๐๘๕ ประจำวันที่ ๓ ธ.ค. ๒๕๕๖ โดยอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ พันไมล์บนหลังช้าง( A Thousand Miles on an Elephant in the Shan State) ว่า มิสเตอร์ ฮอลเลตต์( MR.HALLET ) ชาวอังกฤษได้รับฉันทานุมัติจากรัฐบาลอังกฤษให้นำคณะมาสำรวจเส้นทางรถไฟจากมะละแหม่ง ผ่านตาก ลำปาง ไปเชื่อมมณฑลยูนานของจีนซึ่งอังกฤษจะขอสร้างจากมะละแหม่งมาเชียงใหม่ไปยูนนานซึ่งไม่สำเร็จในครั้งนั้น แต่นายฮอลเลตต์ได้เขียนหนังสือเล่าถึงเรื่องราวต่างๆที่ตนได้พบเห็นระหว่างท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในล้านนาไทยครั้นเมื่อนายฮอลเลตต์เกษียณอายุกับทางราชการ คณะพ่อค้าก็ขอให้นายฮอลเลตต์เป็นหัวหน้าคณะมาสำรวจภูมิประเทศของล้านนาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมระหว่างมะละแหม่งกับเชียงใหม่และเชียงรุ้งในประเทศจีน ซึ่งการเดินทางครั้งนี้นายฮอลเลตต์ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเจ้านายฝ่ายเหนือของล้านนาโดยเฉพาะจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์และเจ้าอุบลวรรณา พระธิดา

คุณสังคีตเล่าว่านายฮอลเลตต์เดินทางด้วยขบวนช้างหลายเชือก โดยมองปันโย หรือหลวงโยฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหนุ่มน้อยได้เดินทางมากับคณะสำรวจด้วย จากเอกสารดังกล่าวทำให้ทราบว่า หลวงโยฯเกิดที่เมืองมะละแหม่ง ตำบลเยามินเส่ง ประเทศพม่า

นางแสงเพ็ชร กระแสชัย ซึ่งเป็นหลานของหลวงโยฯ ได้รับการบอกเล่าจากผู้ใหญ่ในครอบครัวว่า มองปันโยหรือ หลวงโยฯ เข้ามาค้าไม้ในไทย(ล้านนาไทย) ตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อตอนปลายรัชสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (2439-2413) นอกจากนี้เราหลักฐานของ หลวงโยนะการพิจิตรเล่าประวัติของตนเองในหนังสือฏีกาถึงรัชกาลที่๕ เมื่อ เดือนพฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ. 2446) ว่า

“เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ออกจากเมืองมรแมรต์สาพิภักเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในเมืองนครเชียงใหม่ได้ประมาณ ๓๐ ปีเศษข้าพระพุทธเจ้าก็ได้พึ่งพระบารมีของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าและพระเจ้านครเชียงใหม่ได้โปรดอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รับเช่าทำป่าไม้ตำบลแม่ป๋ามแม่ป๋อย แขวงนครเชียงใหม่มาได้ ๒๐ ปีเศษ......”(อ้างใน สันติพงษ์ ช้างเผือกและคณะ,2545 หน้า 5)

จากข้อมูลดังกล่าวสันนิษฐานว่าหลวงโย ฯ น่าจะเดินทางสู่ล้านนาไทยประมาณอายุไม่เกิน 25 ปี และเข้ามาทำมาหากินอย่างถาวรอยู่ในเชียงใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา ได้พึ่งพระบารมีพระเจ้านครเชียงใหม่จนเป็นที่ไว้วางพระทัยให้เป็นผู้เช่าทำป่าไม้เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน

ประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงนี้เป็นช่วงที่อิทธิพลของอังกฤษได้เข้ามาครอบงำพม่าและอินเดีย และเริ่มแผ่อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในสยาม( ไม่กล่าวถึงในรายละเอียด) เชียงใหม่มีการติดต่อกับชาวตะวันตกมากขึ้นโดยเข้ามาติดต่อทำการค้าและการเผยแผ่ศาสนาและการทำป่าไม้กับบริษัทของชาวอังกฤษและชาติอื่น ๆโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย มีคนในบังคับอังกฤษ เช่นพม่าและอินเดีย เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาค้าขายจำนวนมาก หลวงโย ฯเป็นคนเชื้อสายพม่าคนแรกที่สามารถเข้านอกออกในคุ้มหลวงได้ ท่านได้รับการสนับสนุนให้เริ่มต้นทำป่าไม้สักในไทยจากเจ้าอุบลวรรณา พระธิดาของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ โดยเจ้าอุบลวรรณาให้ยืมช้าง ๕๐ เชือก การทำป่าไม้ของท่านประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ทำป่าไม้ในป่าอื่นๆของเจ้านายฝ่ายเหนือ ชั่วชีวิตของท่านในล้านนาไทยท่านได้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมเชียงใหม่และล้านนาไทยอย่างมากโดยเฉพาะการรับใช้ช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆของเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้านายฝ่ายเหนือ รวมทั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 แห่งสยาม และช่วยเหลือราชการไทย ท่านเป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพุทธศาสนา มุ่งที่จะทำนุบำรุงบูรณะวัดวาอารามซึ่งชำรุดทรุดโทรมด้วยกาลเวลาโดยการสร้าง บูรณะ หรือร่วมเป็นศรัทธาใหญ่ในการบริจาคทรัพย์และจัดหาช่างฝีมือในการสร้างหรือบูรณะ วิหาร เจดีย์ และสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆไว้มากมายเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนในยุคนั้น(รายละเอียดอยู่ในตอนต่อ ๆไป) อันเป็นที่มาของการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยถึงสามรัชกาลต่อเนื่องกัน กล่าวคือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตรและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มงกุฏสยามชั้นที่ 5 ชื่อวิจิตราภรณ์ในภายหลัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุล อุปะโยคิน (Upayogin) เมื่อ 11/12/16 (พ.ศ. 2459)

ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายจาก อูบาเยาะ

และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่ได้เสด็จเยี่ยมหลวงโย ฯ ซึ่งสูงวัยมากแล้วทีบ้านเป็นการส่วนพระองค์และพระราชทานเพลิงศพเมื่อหลวงโย ฯ ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ. 2470

สร้างครอบครัว

เมื่อเข้ามาประกอบอาชีพพ่อค้าไม้ไม้ในไทยอย่างมั่นคง มองปันโยได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางบัวแก้ว มีบุตรธิดา ๓ คน คือ นายโมส่วย นายองขิ่นและ นางจ๋อน ต่อมาเมื่อนางบัวแก้วเสียชีวิตท่านได้สมรสใหม่กับ นางบัวจีน มีบุตรธิดา ๒ คนคือ นายทองอินทร์และนางสาวแดง เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ภายหลังเมื่อนางบัวจีนเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ นางบัวจีนจึงขอให้นางหน้อยซึ่งเป็นหลานแท้ๆของนางบัวจีนเป็นภรรยาคนที่ 3 นางบัวจีนเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา หลวงโยฯ มีบุตรธิดากับนางหน้อย ๙ คน คือ นายบุญสม นายทองอยู่ นายทองคำ นายทองดี นางสาวสมบูรณ์ นางเกษิณีหรือมะเย็ง นางศิริลักษณ์หรือเส่งเหม่ นายทองสายหรือทองส่วย นางประภาศรี หรือ แสงหล้า หรือมะเอตัน เมื่อหลวงโยฯสูงอายุต้องการการดูแลใกล้ชิดท่านจึงมีภรรยาคนที่4 คือ นางนางซึ่งไม่มีบุตรธิดา และไม่มีบทบาทใดๆ

กรุภาพครอบครัว

รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตรหรือ

พระยาตะก่าพ่อค้าไม้ชาวพม่าในเครื่องแต่งกายแบบพม่าโบราณ

ภาพนี้เป็นภาพที่ท่านนำไปติดที่บริเวณใกล้ยอดฉัตรทั้งสี่ด้านของกู่คำหลวงวัดเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่ในโบราณสถานเวียงกุมกาม

หลวงพ่ออูอาสุภะ อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายมูลม่านหรือทรายมูลพม่า(มรณภาพ)ได้กรุณาอธิบายว่า หลวงโยฯแต่งกายแบบชาวพม่าโบราณ ชาวบ้านธรรมดาไม่แต่งแบบนี้ หลวงโยฯไม่ได้นุ่งโสร่งแต่ใช้ผ้าผืนยาวพันรอบตัว ผ้าที่ทบด้านหน้าในภาษาพม่าเรียกว่ากะบง ผ้าที่ใช้พันตัวทั้งหมดเรียกว่ากองหม่องซะ วิธีโพกผ้าที่โพกหัวก็เป็นแบบโบราณ วิธีโพกผ้าโพกหัวของพม่าในปัจจุบันจะห้อยชายลง

หลวงโยฯกับนางบัวจีน ภรรยาคนที่ ๒

นางหน้อย ภรรยาคนที่ ๓ กับลูก ๆของหลวงโยฯ ถ่ายภาพที่เฮือนโบราณซึ่งเป็นบ้านหลวงโยฯหลังหนึ่ง

ภาพนี้ถ่ายภาพก่อนนางประภาศรี ธิดาคนสุดท้อง เกิด จึงน่าจะถ่ายภาพประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๒

บ้านหลังนี้มีสัญลักษณ์รูปดอกไม้สี่กลีบ ห้ากลีบ แปดกลีบ และลายสับปะรดซึ่งถูกนำมาใช้ในการศึกษาตามรอยหลวงโยฯ

บ้านที่พำนักของหลวงโย ฯ อยู่ในเขตที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมเพชรงาม ถนนเจริญประเทศ เชียงใหม่ เรียกว่า บ้านเฮือนหลวง ดูได้ที่นี่

บ้านเฮือนหลวงหรือบ้านหลวงโยนะการพิจิตร.doc ในภาพข้างบน เป็นหลังที่อยู่ถัดไปจากบ้านหลวงโยฯ เรียกเฮือนโบราณ ในขณะที่หลวงโยฯยังมีชีวิตอยู่นั้นใช้เป็นเรือนรับรองเจ้านายหลายพระองค์ โดยปกตินางจ๋อน(ธิดาคนโตของหลวงโยฯ) นายบุญมา สามี และธิดาคือ นางแสงเพชร พำนักอยู่ที่บ้านหลังนี้ในขณะนั้น ดังนั้นนางแสงเพ็ชรจึงมีรูปถ่ายที่มีเฮือนโบราณเป็นฉากหลังอยู่หลายใบ ต่อมาหลังจากปีพ.ศ.๒๔๗๕ นายโมส่วยบุตรชายคนโตได้ขายบ้านและที่ดินที่พำนักอยู่อีกแห่งหนึ่งให้แก่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังนี้และบ้านได้ตกทอดสู่ทายาทของนายโมส่วย ปัจจุบันนี้ทำเป็นร้านอาหาร ชื่อ บ้านจันทร์กะพ้อ ซึ่งได้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมไว้

ส่วนบ้านหลังที่หลวงโย ฯพำนักที่เรียกว่า เฮือนหลวง ปัจจุบันเป็นของโรงแรมเพชรงามซึ่งได้อนุรักษ์ของเดิมไว้และเคยจัดเป็นสถานที่บริการอาหารแบบขันโตกล้านนาพร้อมการแสดงทางวัฒนธรรม

นางบัวเขียว(หลานนางหน้อย)นายบุญสม น.ส.สมบูรณ์ นายทองอยู่ นางแสงเพ็ชร นายทองคำ นางเกษิณี นายทองดี

ถ่ายภาพที่เรือนไม้ทางทิศใต้ของบ้านหลวงโยฯที่ภายหลังถูกรื้อทิ้งและใช้พื้นที่เป็นลานจอดรถของโรงแรมเพชรงาม

นายบุญสม(นั่งหน้า)ไปเยี่ยมนายทองอยู่และนายทองคำ อุปะโยคินซึ่งถูกส่งไปเรียนที่

ร.ร.เซนต์แพททริค เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า

ซุ้มรับเสด็จ ร. 7 ของชาวพม่าในเชียงใหม่ คราวเสด็จประภาสเชียงใหม่เมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469

แถวหน้า คนที่ 2 จากขวา ถือพานดอกไม้คือ นายทองอยู่ ถัดไปคือนายองขิ่น และนายโมส่วย ตามลำดับ

นายทองสาย นางศิริลักษณ์ นางประภาศรี อุปะโยคินถ่ายภาพที่หน้าบ่อน้ำวัดศรีชุมลำปาง

รถยนต์ของหลวงโยฯเลขทะเบียน ๑๑๕ เป็นรถคันที่๕ ของเมืองเชียงใหม่

และบุตรหลานของหลวงโย ฯ นางประภาศรี ธิดาคนสุดท้องนั่งบนบันได

-มีตอนต่อไป-

เอกสารอ้างอิง

สันติพงษ์ ช้างเผือก และคณะ ประวัติการให้สัมปทานป่าไม้แม่แจ่ม (รายงานการวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย “โครงการ ของหน้าหมู่” ประวัติศาสตร์ตัวตนของชุมชนกลางหุบเขาแม่แจ่ม ธันวาคม 2545

http://www.amed.go.th/aboutus/palace/sur_order.htm...

เรื่องและภาพโดย นางศรีสุดา ธรรมพงษา(หลานตาของหลวงโยนะการพิจิตร เป็นธิดาของนางประภาศรีบุตรสาวคนสุดท้องของหลวงโย ฯและนางหน้อย )

ผู้ร่วมเขียน ผศ..ดร.กัลยา ธรรมพงษา

หมายเลขบันทึก: 575376เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2014 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

Can't wait to see 

...ท่านเป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพุทธศาสนา มุ่งที่จะทำนุบำรุงบูรณะวัดวาอารามซึ่งชำรุดทรุดโทรมด้วยกาลเวลาโดยการสร้าง บูรณะ หรือร่วมเป็นศรัทธาใหญ่ในการบริจาคทรัพย์และจัดหาช่างฝีมือในการสร้างหรือ บูรณะ วิหาร เจดีย์ และสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆไว้มากมายเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนในยุคนั้น(รายละเอียดอยู่ในตอนต่อไป)...

A man is measured not by his money but his deeds! (anon)

Thank you Khun sr.

I like you comment. But I doubt it is the other way around today. 

รออ่านต่อนะครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

ดีจังค่ะ น่าสนใจทั้งภาพและเรื่องเล่า..พี่ใหญ่กำลังจะเขียนเรื่องของบรรพชน ณ นคร ทางสายโลหิตของคุณพ่อค่ะ..

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีมากนะคะที่เข้ามาอ่าน เป็นกำลังใจอย่างยิ่งค่ะ มีเวลาขอเชิญติดตามตอนต่อ ๆไปอีกนะคะ เจดีย์พม่าทางโน้นคงคืบหน้าไปพอควรแล้วนะคะ

ขอบคุณพี่ใหญ่ค่ะที่มาอ่านเป็นกำลังใจเสมอ รออ่านเรื่อง บรรพชน ณ นครค่ะ

เนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของหนูมากค่ะ (สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี) ไม่ทราบว่าอาจารย์มีการรวบรวมและตีพิมพ์ไหมคะ หรือว่าเป็นบทความออนไลน์เท่านั้น ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณนันทนัช ขอบคุณและยินดีที่เนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อคุณนะคะ การพิมพ์เป็นเล่มเป็นโครงการที่จะทำต่อไปค่ะ ตอนนี้เราเขียนไป 12 ตอนแล้วนะคะ ทางออนไลน์นี้ซึ่งสะดวกในการใส่รูปที่สวยงามมากกว่าการจัดพิมพ์ที่มีต้นทุนแพงมากในกรณีที่ต้องการใส่รูปศิลปกรรมลงไปค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม

มะละแหม่ง เมืองที่มีชื่อในภาษาอังกฤษหลายชื่อ ทั้ง Molmein, Mawlamyine, Mawlamyaing แต่ทั้งหมดก็คือ เมืองมะละแหม่งในภาษามอญ อีกทั้งยังเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพพม่า แต่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 3 แสนกว่าคน หน้าตาของผู้คนเมืองนี้จะออกไปทางแขก ก็เนื่องจากสมัยอังกฤษเข้าปกครองพม่า มีการเกณฑ์คนในอาณานิคมแถบอินเดีย มาใช้แรงงานที่นี่ จนตั้งรกรากมาถึงทุกวันนี้(คม ชัด ลึก )

ปะกัน หรือ Bagan หรือ Pagan คือ พุกาม นั่นเอง

Bagan is an ancient city located in the Mandalay Region of Burma (Myanmar). From the 9th to 13th centuries, the city was the capital of the Kingdom of Pagan, the first kingdom to unify the regions that would later constitute modern Myanmar. During the kingdom's height between the 11th and 13th centuries, over 10,000 Buddhist temples, pagodas and monasteries were constructed in the Bagan plains alone, of which the remains of over 2200 temples and pagodas still survive to the present day. www.travelbyphoto.nl

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท